
ศึกชิงเก้าอี้'อธิการบดีม.เกษตร'
ศึกชิงเก้าอี้'อธิการบดีม.เกษตร' : กมลทิพย์ ใบเงิน รายงาน
ร้อน แล้ง ฝนทิ้งช่วง น้ำประปาจะเพียงพอให้คนไทยได้อุปโภคบริโภคหรือไม่ ฯลฯ ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่มานานหลายเดือน และดูเหมือนว่าจะคงอยู่คู่สังคมไทยไปอีกยาวนาน ตราบใดที่คนไทยไม่ตระหนักรู้คุณค่าของน้ำ ผนวกกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง “ขาดคนคุณภาพ” ในการบรหิารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเรื่องของ “คน” หรือ "ทรัพยากรบุคคล" จึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่าสูงและมีมูลค่าที่ประเมินราคาไม่ได้เฉกเช่นเดียวกับ “คน” ที่จะมากุมบังเหียนสูงสุดด้านการศึกษาในรอบรั้ว "นนทรี"
ในตำแหน่ง "อธิการบดี" ที่ "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)"
“มก.” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอน “หลักสูตรทางด้านการเกษตร” เป็นสถาบันอุดมศึกษาเลื่องชื่อเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพใน 29 คณะ 1 วิทยาลัยและสถาบันสมทบอีก 2 แห่ง แยกเป็นหลักสูตรปกติ 373 หลักสูตรและหลักสูตรนานาชาติอีก 38 หลักสูตร ใน 4 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตบางเขน วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร และอยู่ระหว่างการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี
“มก.” เป็นสถาบันอดุมศึกษาที่ผ่านการประเมิน “ระดับดีมาก” เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติิ ด้วยปณิธาณ “เพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่กสิกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ” ในฐานะที่ “มก.” ยึดมั่นในการเป็น “ศาสตร์แห่งแผ่นดิน” มานานร่วม “111 ปี” เมื่อแรกก่อตั้ง หรือ “62 ปี” ภายหลังยุบรวม วิทยาลัยเกษตร บางเขน เข้ากับ โรงเรียนวนศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เมื่อปี 2486
“มก.” เป็นสถาบันการศึกษาเพียงไม่กี่แห่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2509 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ “ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ” (นักวิจัยดีเด่นปี 2531, อดีตนายกสภา มก., อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน) แต่งคำร้องถวาย จนถึงวันนี้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่หลอมรวมประชาคมรอบรั้ว “นนทรี” ให้เป็นหนึ่งเดียวมาตลอด
แต่ความไม่ชอบมากลเกิดขึ้น ในยุครัฐบาลทหาร “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มอบความไว้วางใจให้ “บิ๊กเข้” พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มี “บิ๊กน้อย” พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ “ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร” เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกได้ว่ามีทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋นครบทีม เป็นความหวังของคนไทยในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาชาติ
แต่การอาศัย “อำนาจ” แทรกแซงมติสภา มก.ที่เห็นชอบเสนอ “รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ” เป็นอธิการบดี มก. นั้นเป็นเรื่องไม่ควรทำด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมติสภา มก. ถือว่าสูงสุดแล้ว ว่ากันว่าเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 "รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์" นายกสภา มก.คนปัจจุบัน เปิดเผยภายหลังการประชุมสภา มก. กรณีที่ รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รักษาราชการแทนรองอธิการบดี มก.ในฐานะอดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดี มก. ได้ดำเนินการฟ้องร้องเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อศาลปกครอง โดยไม่ได้ฟ้องที่ตัวบุคคลหลังจากที่สภา มก. มีมติให้ดำเนินการสรรหาอธิการบดี มก. คนใหม่ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และศธ.ทำให้การเสนอโปรดเกล้าฯ รศ.ดร.บดินทร์ ล่าช้า
“ขณะนี้ศาลปกครองได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ห้ามสภา มก.ดำเนินการใดๆ อันมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงมติสภามก.ในการประชุมครั้งที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 ที่เห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง รศ.ดร.บดินทร์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มก. ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ รศ.ดร.บดินทร์ เป็นอธิการบดี มก. หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น”
ทั้งนี้ ในคำสั่งศาลยังระบุว่าผู้เสียหายสามารถชี้แจงภายใน 30 วัน ซึ่งมก.ได้รับคำสั่งศาลปกครอง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ทำให้ทางสภา มก.มีมติแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลประกอบการพิจารณาในการประชุมสภา มก.โดยมี "ดร.พีรเดช ทองอำไพ" ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร มก. เป็นประธาน นัยว่าคณะทำงานชุดนี้ต้องศึกษาข้อเท็จจริง ข้อมูลการประชุมสภา มก.วาระนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ซึ่งการประชุมดังกล่าว ระบุมีมติเพิกถอนสภามก. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 ในการแต่งตั้ง รศ.ดร.บดินทร์ เป็นอธิการบดี มก. และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีใหม่ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ จากนั้นสรุปผลเพื่อเสนอที่ประชุมสภามก.นัดพิเศษในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่ บางเขน
ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ี้ บริหารจัดการภายใต้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2558 สภาพเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” ควรมี “ผู้นำ” ที่ไม่ถูกครอบงำจากสภา มก.อีกทั้ง “อธิการบดีมก.” ต้องมีวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดงานวิจัยนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำรายได้มาพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง ดังนั้นแนวคิดการสืบทอดอำนาจสะท้อนถึงการไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลจึงไม่เหมาะกับ ม.นอกระบบ ด้วยประการทั้งปวง นะขอบอก!!