
การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินไปอเมริกา
05 ส.ค. 2558
ลุงแจ่มเตือนภัย : การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินไปอเมริกา
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย เปิดเผยว่า การบินไทยจะปรับลดเที่ยวบินลงใน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-โซล-ลอสแองเจลิส สหรัฐ 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-โรม อิตาลี ที่ให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน 3.เส้นทางกรุงเทพฯ-กัลกัตตา อินเดีย 4.เส้นทางกรุงเทพฯ-ไฮเดอราบาด อินเดีย ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้ ได้ยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-หลวงพระบาง และกรุงเทพฯ-ฉางซา ประเทศจีน โดยทางสายการบินไทยสมายล์จะมาให้บริการแทน
ขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอนดอน อังกฤษ และเส้นทางกรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี จากเดิม 1 เที่ยวบิน/วัน เป็น 2 เที่ยวบิน/วัน โดยจะนำเครื่องโบอิ้ง 777-300ER ที่เลิกบินในเส้นทางลอสแองเจลิสมาใช้
นายจรัมพร ชี้แจงว่า การปรับลดเที่ยวบินในเส้นทางดังกล่าวทำให้อัตราบรรทุกผู้โดยสารลดลงเฉลี่ย 6% โดยเส้นทางบินดังกล่าวปัจจุบันขาดทุนเฉลี่ยเส้นทางละ 300 ล้านบาท/ปี เนื่องจากมีการใช้เครื่องบินที่ไม่เหมาะสม และราคาไม่สามารถตอบโจทย์ผู้โดยสารได้
เมื่อมีการยกเลิกเส้นทางการบินก็ต้องมีการเลิกจ้างพนักงานประจำในแต่ละเส้นทาง และโอนย้ายกลับมาที่การบินไทย อย่างไรก็ตาม การบินไทยมีแผนที่จะกลับมาเปิดดำเนินการในเส้นทางเหล่านี้อีกในช่วง 2 ปีข้างหน้า หากสถานะทางการเงินของการบินไทยมีความแข็งแกร่งขึ้น
“ในภาพรวมแล้วผลประกอบการของการบินไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดจีนที่น่าจะเติบโตเกินกว่า 100% ขณะที่เส้นทางยุโรปยังทรงตัวอยู่ วัดได้จากอัตราผู้โดยสารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา ขยับขึ้นมา 75% และเชื่อว่าในสิ้นไตรมาส 3 จะขยับขึ้นมาเป็น 80%” นายจรัมพร กล่าว
แหล่งข่าวในการบินไทย ระบุว่า นับจากนี้ไปการบินไทยจะไม่มีเส้นทางการบินไปสหรัฐอีกต่อไป จากก่อนหน้านี้ที่เคยยกเลิกเส้นทางการบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และปิดไปในปี 2551 โดยที่ผ่านมาใน 2 เส้นทางดังกล่าวมีผลขาดทุนปีละ 1,592 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน การประกาศปิดเส้นทางการบินไปสหรัฐก่อนที่องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) จะลดเกรดไทยในเรื่องมาตรฐานการบินของไทย ก็ทำให้ภาพลักษณ์การบินไทยไม่มีผลกระทบ เพราะขณะนี้มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่า เอฟเอเอจะลดเกรดการบินไทยลงมาอยู่ในประเภทที่ 2 (Category 2) แน่นอน เพราะผลตรวจสอบออกมาพบว่า บุคลากรในการตรวจสอบด้านความปลอดภัยทางการบินของไทยมีไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ แนวปฏิบัติยังขาดมาตรฐาน การตรวจสอบติดตามไม่ครบถ้วนมาตรฐานสากล