ไลฟ์สไตล์

ชาวเลแหลมตุ๊กแก วันนี้ยังหวาดผวา

ชาวเลแหลมตุ๊กแก วันนี้ยังหวาดผวา

09 ส.ค. 2558

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ชาวเลแหลมตุ๊กแก วันนี้ยังหวาดผวา : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น

 
                       เฒ่าสะอี๊ อุรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแก ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทำหน้าที่บอกเล่าตำนานของชนเผ่าให้ลูกหลานฟังจากรุ่นสู่รุ่น โดยบรรพบุรุษของชาวเลอุรักลาโว้ยลงเรือแจวมาจากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อหลายร้อยปีก่อน พบเกาะโหน ปู ปลา ชุกชุม ก็อาศัยอยู่ที่นั่น ถ้ามีคนเสียชีวิตก็จะฝังแล้วย้ายไปอยู่เกาะอื่นต่อไป จนกระทั่งมาถึงแหลมตุ๊กแก ได้ชวนกันลงหลักปักฐาน ลงทะเลหาปู หาปลาตามวิถีของชนเผ่า
 
                       สมัยก่อนมีพ่อค้าคนจีนในภูเก็ตเห็นว่าชาวเลหาปลาได้มากทั้งปลาสดและใส่เกลือตากแดดไว้บริเวณชายฝั่ง ก็มาขอซื้อ แต่ชาวเลไม่ขาย เพราะใช้เงินไม่เป็น ก็เปลี่ยนเอาของใช้จำเป็น เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก ตลอดจนเสื้อผ้า และของใช้สอยในชีวิตประจำวันมาแลก กุ้ง หอย ปู ปลา จึงทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จนกระทั่งความเจริญเข้ามา เงินทองก็มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ก็เปลี่ยนมาซื้อขายต่อกัน
 
                       นายโสรส ประโมงกิจ แกนนำชุมชนแหลมตุ๊กแก เล่าว่า ชาวเลอุรักลาโว้ยที่แหลมตุ๊กแก ได้รับพระราชทานนามสกุลตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ว่า ประโมงกิจ ต่อมาสมเด็จย่าเสด็จฯ มาเมื่อปี 2510 ก็เปลี่ยนเป็น ประมงกิจ ซึ่งไม่จำเพาะที่แหลมตุ๊กแกเท่านั้น ท่านยังพระราชทานนามสกุลแก่ชาวเลอุรักลาโว้ย ในที่ต่างๆ อีกด้วย
 
                       ที่ราไวย์ มีหลายนามสกุล เช่น บางจาก หลักเกาะ ทะเลรุ่งโรจน์ รักนาวา รักปะการัง เบ็ดราว และหาญทะเล ที่เกาะพีพีจะตั้งว่า ช้างน้ำ ชาวน้ำ และที่ลันตาจะพระราชทานนามสกุล ทะเลลึก เป็นต้น
 
                       แกนนำอุรักลาโว้ยแหลมตุ๊กแก เล่าอีกว่า แหลมตุ๊กแกจะเป็นจุดศูนย์รวมอุรักลาโว้ยใน จ.ภูเก็ต แรกๆ ก็มาอยู่กันประมาณ 20 หลังเท่านั้น ต่อมาก็เกิดโรคระบาดมีคนล้มตาย เราก็รักษาด้วยไสยศาสตร์ตามความเชื่อของเรา ทำให้มีการย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ เช่น ที่ราไวย์ และบ้านแหลมกลาง ไม่มีคนหลงเหลืออยู่ที่แหลมตุ๊กแกอีกเลย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อยู่บ้านแหลมกลางก็ย้ายกลับมาแหลมตุ๊กแกอีกครั้ง
 
                       ในปี พ.ศ.2527 ไฟฟ้า ปะปา ถนนหนทางเข้ามาถึงหมู่บ้าน และภูเก็ตมีความเจริญทางการท่องเที่ยว จู่ๆ นายทุนก็มาอ้างสิทธิ์ว่า เป็นเจ้าของที่ดินทั้ง 43 ไร่ ทั้งที่ชาวเลอยู่อาศัยมาหลายร้อยปี โดยที่ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าเจ้าของที่ทั้ง 4 ราย ที่แสดงสิทธิ์เป็นเจ้าของเขาไปออกเอกสารสิทธิมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ชาวเลอยู่มาก่อนและเดิมที่ดินบริเวณนี้ก็เป็นป่าชายเลน ไม่น่าจะนำไปออกเอกสารสิทธิอะไรได้
 
                       ในปี พ.ศ.2530 ชาวบ้านมีความตื่นตัว เริ่มมีความรู้สึกไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย จึงรวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรม ร้องเรียนไปหมดแล้วทุกหน่วยงาน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เรื่องก็เงียบหาย จนกระทั่งหลังเหตุการณ์สึนามิ ที่ดินก็มีการเปลี่ยนมือจากนายทุนในพื้นที่เป็นนายทุนจากภายนอก มีการฟ้องร้องขับไล่ที่ชาวบ้าน แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เจ้าของที่ดินจึงยื่นอุทธรณ์และเรื่องก็ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้
 
                       นางการดา ประโมงกิจ แกนนำชาวเลอีกคน เล่าว่า หลังเหตุการณ์สึนามิ เราได้ร่วมกับเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ตลอดจนมีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมาร่วมกันเรียนรู้และตระหนักถึงสิทธิในการอยู่อาศัยและสิทธิในชนเผ่าของเรา โดยเริ่มจากการร่วมกันสำรวจข้อมูลประชากร ข้อมูลฐานทรัพยากรต่างๆ ตลอดจนมีการจัดทำผังเครือญาติ ต้นไม้ สถานที่ทางจิตวิญญาณ ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราอยู่อาศัยมานานเพียงไร
 
                       เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเป็นทุนในการต่อสู้ และให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ สำหรับกลุ่มอาชีพที่ตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มไซปลา กลุ่มอวนปู ฯลฯ นอกจากนั้นมีการตั้งกลุ่มสื่อเยาวชน (นักข่าวพลเมือง) เพื่อให้เยาวชนทำข่าวเป็น รายงานเหตุการณ์เรื่องราวที่ถูกต้องของพวกเราสู่สาธารณะ
 
                       ส่วนในด้านฟื้นฟูรักษาวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชนเผ่า ก็มีการตั้งกลุ่มการแสดงละเล่นพื้นบ้าน เช่น การรำรองเง็ง รำมะนา มวยกาหยง และอินเดียแดนซ์ รวมทั้งจัดให้มีโรงรียนเยาวชนอุรักลาโว้ย โดยเปิดสอนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ภาษา และศิลปวัฒนธรรมชนเผ่า ทุกวันอาทิตย์ ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนกว่า 50 คน
 
                       อีกทั้งปัจจุบันชาวเลแหลมตุ๊กแกมีความเป็นอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 350 ครอบครัว การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนภายในชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ปัญหา ทุกวันนี้สังเกตเห็นมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาหนุนเสริมเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน
 
                       ไม่เพียงร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งให้ชุมชนเท่านั้น ตลอดเกือบสิบปีที่ชาวเลแหลมตุ๊กแกเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องต่างชนเผ่าและกับชาวบ้านอื่นๆ ทั่วประเทศ
 
                       จิตติ ประโมงกิจ เล่าว่า การที่เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ทั่วประเทศ จะทำให้เรารู้ว่า เวลาเพื่อนมีปัญหาเขาแก้กันอย่างไร ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น และยังเป็นกำลังใจให้กันและกัน
 
                       “เมื่อก่อนเราต่างคนต่างอยู่ พอเจอปัญหานายทุนฟ้องไล่ที่ก็ทำให้เรารวมตัวกันในชุมชน จากที่ทำอะไรไม่เป็นก็ทำเป็น ที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้มากขึ้น และรู้ถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม รู้ว่าชาวเลจะสู้กันตามลำพังไม่มีทางชนะ ต้องมีเพื่อน ทั้งเพื่อนเผ่าเดียวกัน ต่างเผ่า ตลอดจนเป็นเพื่อนกับเครือข่ายคนจนทั่วประเทศ เวลาเรามีปัญหาก็มีพี่น้องทั่วประเทศมาช่วย และเวลาเพื่อนๆ มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไหน เราก็จะไม่รีรอที่จะเดินทางไปหนุนช่วย แม้จะช่วยอะไรได้ไม่มาก อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้แก่กัน” จิตติ เล่าประสบการณ์ให้ฟัง
 
                       ปัจจุบันมีพี่น้องชนเผ่าอุรักลาโว้ยอยู่ประมาณหมื่นกว่าคน แม้จะเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับคนไทยทั่วประเทศ แต่เขาก็เป็นคนไทย มีสิทธิความเป็นพลเมืองไทยที่กฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับเหมือนกับคนไทยกว่าห 60 ล้านคน หากในความเป็นจริง ชนเผ่าอุรักลาโว้ยยังไม่ได้รับการปฏิบัติจากทั้งภาครัฐและจากคนไทยด้วยกันอย่างเท่าเทียม
 
                       ทุกๆ ปี ราวๆ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ชาวเลอุรักลาโว้ยจะจัดวันรวมญาติขึ้น เป็นวันที่เขาได้พบ แสดงออกซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี การละเล่น แสดงภูมิปัญญาให้ผู้คนได้รับรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกความเป็นตัวตนของพวกเขาต่อสังคม
 
                       ซึ่งไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่า ทำให้สังคมมองเห็นและตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของพวกเขาว่าเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม
 
 
 
 
 
----------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ชาวเลแหลมตุ๊กแก วันนี้ยังหวาดผวา : โดย...สุวัฒน์ คงแป้น)