ไลฟ์สไตล์

งิ้วดอกแดง สุดยอดสรรพคุณบรรเทาปวด

21 ส.ค. 2558

ดูแลสุขภาพ : งิ้วดอกแดง สุดยอดสรรพคุณบรรเทาปวด

 
                         งิ้วดอกแดง หรืองิ้วปง งิ้วปงแดง งิ้วบ้าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax ceiba L. อยู่ในวงศ์ MALVACEAE เป็นไม้ต้นผลัดใบ ลำต้นมีหนาม ใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 5 ใบย่อย กลีบดอกสีแดงหรือเหลือง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
 
                         งิ้วดอกแดง เป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยใบและยอดอ่อนของต้นงิ้ว สามารถใช้ในการรักษาฝี อาการอักเสบ บวม หรือฟกช้ำดำเขียว หมอยาในปราจีนบุรีจะใช้ผสมเกลือและข้าวสุก พอกแผลเรื้อรัง แผลปากหมูและฝี ซึ่งมีข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้การเหนี่ยวนำจากกรดอะซีติกให้เกิดการปวด พบว่า สารสกัดจากใบงิ้วมีฤทธิ์ลดปวด และมีสาร mangiferin ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการลดปวดได้ดีกว่าแอสไพริน โดยสามารถยับยั้งสัญญาณประสาทบริเวณส่วนปลายที่ทำให้เกิดการปวดได้
 
                         เปลือกของต้นงิ้วที่ยังอ่อนซึ่งจะมียางอยู่ด้วย นิยมนำมาตากแห้งแล้วเอาไปต้มน้ำกิน ช่วยรักษาอาการอัมพาตครึ่งตัว ทำให้เลือดไหลเวียนดี แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องร่วง และบิด นอกจากนี้ เปลือกต้นงิ้วยังสามารถนำมาต้มกินแก้ผิดสำแดง แก้เมาเหล้าได้อีกด้วย
 
                         เนื้อไม้งิ้ว ใช้เป็นยาบำรุงเลือด โดยใช้ 6-7 กีบ มัดรวมกันให้ได้กำมือ แล้วนำไปต้มกิน โดยกินเป็นประจำหรือกินแทนน้ำก็ได้
 
                         แก่นงิ้ว ใช้แก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ โดยนำแก่นงิ้วประมาณ 3 กีบ มาต้มเข้ากับรากหรือลำไม้เอ็นอ้า และเถาเอ็นอ่อน อย่างละ 4 หรือ 5 กีบ มัดรวมกัน แล้วนำไปต้มกิน
 
                         ยางของต้นงิ้ว เชื่อกันว่าเป็นยากระตุ้นทางเพศ บำรุงและขับน้ำเหลืองเสีย ช่วยให้ดูอ่อนกว่าวัย โดยใช้น้ำยางต้นงิ้วประมาณ 6 กรัม ตำผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทรายแดง กินติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน
 
                         หนามงิ้ว สามารถนำมาฝนกับน้ำซาวข้าว ทาหน้าแก้สิวฟ้า หน้าหมองคล้ำ
 
                         ราก ใบอ่อน ผลอ่อน ดอกตูม และกลีบเลี้ยง ใช้กินเป็นผักบำรุงกำลัง ผลอ่อนใช้เป็นผักสดเคียงกับน้ำพริก หรือใช้ตำส้มตำ รากอ่อนมีโปรตีน ไขมัน และแป้ง สามารถนำมาใช้เป็นอาหารยามขาดแคลนได้
 
                         และส่วนที่นิยมนำมาเป็นอาหารมากที่สุด คือ ดอกงิ้ว หมอยาพื้นบ้านเชื่อว่าการกินดอกงิ้วเป็นประจำ ช่วยบำรุงหัวใจ ฟอกเลือดให้สะอาด รักษาโรคกระเพาะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ดอกของงิ้วดอกแดง ยังสามารถใช้รักษาอาการท้องร่วงที่มีการถ่ายเป็นมูกเลือด หรือริดสีดวงที่มีเลือดออก โดยใช้ดอกต้มน้ำกิน นอกจากนี้ ดอกงิ้ว ยังสามารถนำมาผสมแป้งข้าวโพดทำเป็นขนมแผ่น กินเป็นอาหารบำรุงสุขภาพ เกสรตัวผู้ที่แห้งแล้ว นิยมนำมาใส่ในแกงส้ม แกงกะหรี่ ทางภาคเหนือใช้ทำขนมจีนน้ำเงี้ยว
 
                         มีรายงานการวิจัย พบว่า สารสกัดจากดอกงิ้ว มีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารเคมี เช่น ยาต้านเชื้อวัณโรคที่มักจะส่งผลให้ตับอักเสบ ดอกงิ้ว มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก มีแคลเซียมสูงถึง 429 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม สูงกว่านมซึ่งมีแคลเซียม 123 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ซึ่งก็หมายความว่าเพียงเรากินดอกงิ้ว 1 ขีด ก็จะได้แคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเลยทีเดียว (ร่างกายต้องการแคลเซียมวันละ 400–800 มิลลิกรัมต่อวัน)
 
                         ปัจจุบันพบว่า งิ้ว เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระที่น่าสนใจ เพราะมีประสิทธิภาพดีและมีพิษต่ำ จังนับเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้านความเสื่อมแห่งวัยต่อไป
 
                         สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับงิ้ว และสมุนไพรที่น่าสนใจอื่นๆ สามารถพบกันได้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายนนี้ ณ ฮอลล์ 6-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
 
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
 
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
 
โทร.0-3721-1289