วิจัยพบแกงเลียงต้านมะเร็งสูงไม่ทำลายเซลล์ดี
นักวิจัยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล วิจัยพริกแกงไทย 4 ชนิด พบ แกงเลียงประสิทธิภาพต้านมะเร็งสูง ไม่ทำลายเซลล์ดี ย้ำไม่ได้รักษา แนะต้องกินหลากหลาย ไม่ซ้ำซากในทุกวัน
เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.สมศรี เจริญเกียรติคุณ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ กล่าวว่าสถาบันได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ศึกษาพริกแกงไทย 4 ชนิด คือ แกงป่า แกงส้ม แกงเหลือง และแกงเลียง โดยได้ทดลองในห้องปฏิบัติการด้วยการนำพริกแกงทั้ง 4 ชนิดในรูปของน้ำแกงมาทดลองกับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในจานเพาะเชื้อ เพื่อดูว่าเซลล์มะเร็งตายมากน้อยแค่ไหน และการตายของเซลล์มะเร็งเป็นแบบธรรมชาติ คือค่อยๆฝ่อหายไปเอง หรือตายแบบผิดธรรมชาติ คือ เซลล์ตายจริงแต่อาจลุกลามไปเซลล์อื่นๆ
เนื่องจากลักษณะการตายของเซลล์มะเร็งเป็นแบบบวมแตกและกระจายไปอวัยวะอื่นได้ ผลการทดลองพบว่า เซลล์มะเร็งที่ได้รับแกงป่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งให้ตายแบบธรรมชาติร้อยละ 38.82 และร้อยละ 43.93 ตายแบบผิดธรรมชาติ คืออาจลุกลามไปเซลล์ดีอื่นๆ ส่วนแกงส้ม เซลล์มะเร็งรอดตายได้ร้อยละ 29.08 และฆ่าเซลล์มะเร็งตายแบบไม่ลุกลามไปเซลล์อื่นถึงร้อยละ 43.59 แต่ในทางกลับกันมีเซลล์ที่ตายถึงร้อยละ 27.33 อาจกระจายไปเซลล์อื่นได้
ส่วนแกงเหลืองพบว่า ตายตามธรรมชาติร้อยละ 22 เซลล์ตายผิดธรรมชาติถึงร้อยละ 46.13 ส่วนแกงเลียงพบว่า ฆ่าเซลล์มะเร็งให้ตายโดยไม่กระทบเซลล์อื่นๆ ร้อยละ 38.98 มีเพียงร้อยละ 3.78 เท่านั้นที่เซลล์ตายแบบกระจาย อย่างไรก็ตาม จากผลการทดลองทำให้อาจมองว่า แกงส้ม สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้มากที่สุดถึงร้อยละ 43.59 แต่หากพิจารณาดีๆ จะพบว่าตัวเลขฆ่าเซลล์มะเร็งแบบผิดธรรมชาติที่อาจลุกลามไปถูกเซลล์ดีอื่นๆในแกงส้มก็สูงเช่นกัน
แต่หากเป็นแกงเลียง จะพบว่า แม้การฆ่าเซลล์มะเร็งจะน้อยกว่า คือ ร้อยละ 38.98 แต่การลุกลามไปเซลล์ดีอื่นๆน้อยกว่ามาก โดยหลักส่วนผสมของแกงเลียงก็จะมี หอมแดง พริกไทย กะปิ ซึ่งหอมแดงมีประโยชน์มาก เพราะมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid)สารพฤกษเคมี มีคุณสมบัติทำลายสิ่งผิดปกติ พวกอนุมูลอิสระ สารอักเสบที่เป็นบ่อเกิดการเกิดมะเร็งได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ควรบริโภคแกงเลียงมากกว่าแกงอื่นๆ เพราะ แกงทั้ง 4 ชนิดมีประโยชน์ในแง่ต้านการเกิดมะเร็งได้ ไม่ได้รักษา สิ่งสำคัญคือ ต้องกินอย่างหลากหลาย ไม่ซ้ำซากในทุกวัน
ผศ.สมศรี กล่าวด้วยว่า หลังได้ทดลองในห้องปฏิบัติการแล้ว ยังได้ทดลองประสิทธิภาพของแกงเลียงในหนูทดลอง โดยศึกษาหาสารต้านความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ มะเร็งในระยะเริ่มต้น ว่าลดลงหลังรับแกงเลียงหรือไม่ โดยนักวิจัยได้นำส่วนผสมของแกงเลียง มีกุ้งแห้ง หอมแดง กะปิ พริกไทย ฟักทอง บวบ ตำลึง ใบแมงลัก จากนั้นนำมาต้นทำเป็นอาหาร และนำไปแช่แข็ง จนนำมาปั่นละลายน้ำให้หนูทดลองกิน ในปริมาณ 2 ระดับ คือ 1 หน่วยบริโภค ของน้ำหนักตัวหนู และ 2 หน่วยบริโภค โดยเทียบกับหนูที่กินอาหารปกติที่ไม่ใช่แกงเลียง
ทั้งนี้ พบว่า หนูที่เป็นมะเร็งและกินแกงเลียงในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ปรากฏว่าเซลล์มะเร็งลดลงร้อยละ 45 ขณะที่หนู กลุ่มที่กินแกงเลียงปริมาณ 2 หน่วยบริโภค เซลล์มะเร็งลดลงร้อยละ 48 สรุปคือ ไม่ว่าจะกินแกงเลียงปริมาณเท่าไรไม่ได้มีผลแตกต่าง แต่สามารถลดเซลล์มะเร็งในลำไส้ลงได้ร้อยละ 45-48 ทั้งนี้ เป็นผลวิจัยในสัตว์ทดลอง จึงไม่แนะนำให้กินเพื่อรักษาโรคมะเร็งลำไส้ แต่แนะนำให้กินเพื่อเสริมการรักษา เพราะเบื้องต้นพบว่า อาจลดการขยายของเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลามได้ ซึ่งควรใช้ในแง่การป้องกันการเกิดโรคมากกว่า
ต่อข้อถามผู้ป่วยมะเร็งหากจะหันมาบริโภคแกงเลียงได้หรือไม่ ผศ.สมศรี กล่าวว่า หากป่วยก่อนอื่นต้องรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันก่อน ส่วนการบริโภคแกงเลียงสามารถทานได้ แต่ไม่ใช่ทานทุกวันทานตลอด โดยหวังว่าจะทำให้หายจากโรค เพราะการบริโภคที่ถูกต้องคือ ต้องทานอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า หากอยากมีสุขภาพดีต้องปรับพฤติกรรมการบริโภคให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการกินผักและผลไม้ ควรทานวันละอย่างน้อย 4 ขีด หรือ 400 กรัม สิ่งสำคัญคือ ทานอะไรก็ตามต้องไม่มากเกินไป อย่ากินอะไรซ้ำซาก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสมดุลของสารอาหารอื่นๆไปด้วย
“งานวิจัยทำเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน การโฆษณาโดยนำงานวิจัยไปอ้างอิงก็ต้องระวังด้วย เพราะคนที่มีปัญหาสุขภาพ และไม่เข้าใจ กินมากๆ อาจส่งผลต่อการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือมีอาการป่วยเรื้อรัง ต้องปรึกษาแพทย์ หากจะรับประทานอะไรเป็นยา หรือเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพราะปัจจุบันมีมากมาย” ผศ.สมศรี กล่าว
............................
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก kanghanlom.webiz.co.th)