
เด็กเชียงใหม่โชว์กึ๋นคว้าแชมป์ระดับโลก
17 ก.ย. 2558
5 นักเรียนเชียงใหม่โชว์กึ๋น คว้าแชมป์ 'กรังด์ปรีซ์' รางวัลระดับโลกการผลิตสารคดีเชิงข่าว
5 เยาวชนคนเก่ง ทีม “พีเวิร์ค (P-Work)” จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่ คว้าแชมป์ “กรังด์ปรีซ์” รางวัลระดับโลกจากการแข่งขัน “สร้างสรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าว กับพานาโซนิค หรือ PANASONIC KID WITNESS NEWS รอบโกลบอล พร้อมรางวัลแนวคิดยอดเยี่ยม (Best Concept) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยโครงการดังกล่าวกลุ่มบริษัท พานาโซนิค จัดขึ้นเพื่อต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ที่มีใจรักในงานด้านการผลิตสารคดีเชิงข่าว ได้มีเวทีแสดงออกในด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านรูปแบบการนำเสนอไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ ข่าว หรือสารคดี พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้จากโครงการไปพัฒนาเป็นผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงการส่งต่อความรู้ให้แก่เพื่อนและรุ่นน้องถัดไป

“น้องบอม” นายธนวัฒน์ ปาแปง ตัวแทนทีมพีเวิร์ค เล่าว่า “รู้สึกดีใจมากที่ผลงานสารคดีเชิงข่าวเรื่อง “บลายด์ ไดอารี่ (Blind’s Diary)” สามารถคว้าแชมป์โลก พร้อมรางวัลแนวคิดยอดเยี่ยม (Best Concept) มาครองได้สำเร็จในรอบ 3 ปี ที่ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นเพราะในปีนี้พวกเราทุกคนต่างทุ่มเทและนำข้อผิดพลาดจากครั้งที่ผ่านๆ มา มาปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้คือ “แก่นหรือคอนเซ็ปต์” ที่นำเสนอออกมากระแทกอารมณ์และทำให้คนดูสัมผัสได้ และอีกส่วนคือ “การเขียนบทและการตัดต่อ” ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้ผลงานคว้าใจกรรมการมาได้
นอกเหนือจากรางวัลระดับโลกที่ได้รับแล้ว อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของทีมคือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม นำเรื่องราวชีวิตจริงของผู้พิการทางสายตา “ตาร์ - ศิรประภา สุชาติ” นักเขียนนวนิยายออนไลน์ที่มีคนติดตามกว่า 10,000 คน มาถ่ายทอดในแง่มุมของความรู้สึกที่ต้องการบอกให้สังคมรับรู้ว่าคนตาบอดก็มีศักยภาพและความสามารถ รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่เหมือนคนปกติ ไม่ได้ต้องการให้มองว่าเป็นคนน่าสงสาร อีกทั้งผลงานยังแฝงไปด้วยเรื่องราวของการสร้างแรงบันดาลให้กับคนที่กำลังท้อแท้ได้มีกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิต”
ด้าน น้องปอย นายธีรินทร์ วิลาวัลย์วจี สมาชิกในทีมพีเวิร์ค เล่าว่า “กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมาก นอกเหนือจากชัยชนะแล้ว ผมยังได้รับความรู้ต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องของ “ทีมเวิร์ค” การทำงานเป็นทีม ได้ดึงเอาศักยภาพของเพื่อนในทีมแต่ละคนออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบท การใช้คอมพิวเตอร์ตัดต่อ รวมไปถึงการแสดง ตลอดจนการได้รับ “ความรู้” จากคณะกรรมการ ซึ่งเราเข้าร่วมแข่งขันเป็นปีที่ 3 แล้ว ความรู้ที่ได้ในแต่ละปีก็แตกต่างกันไป ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาในการนำมาปรับปรุงพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายคือเรื่อง “มุมมองและแนวคิด” ที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ กับเพื่อนที่เข้าร่วมโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เรามองเรื่องราวต่างๆ ได้หลายด้านมากขึ้น”
และ น้องซอง นายธีรุตม์ วรรณฤมล ฝากแนวคิดถึงน้องๆ รุ่นต่อไปในการเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า “สิ่งแรก “การคิดแก่นของเรื่อง” คือต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าโจทย์ที่เราต้องการทำคือเรื่องอะไร การสื่อสาร สิ่งแวดล้อม หรือกีฬา จากนั้นก็ลงมือ “หาข้อมูล” ยิ่งเรามีข้อมูลมากเท่าไหร่ผลงานของเราก็จะทำออกมาได้ดีเท่านั้น สุดท้ายคือ “การตัดต่อ” ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะกิจกรรมนี้จะถูกจำกัดเนื้อหาอยู่ในเวลาเพียง 5 นาที เพราะฉะนั้นผู้ทำหน้าที่ตัดต่อนอกจากจะเก่งในเรื่องเทคนิคแล้ว ยังต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดของเรื่องที่ต้องการนำเสนอ และตัดต่อออกมาโดยยังคงเนื้อหาที่มีความน่าสนใจต่อคนดู สุดท้ายคือเรื่อง “การค้นหาแรงบันดาลใจ” จุดนี้อยากฝากน้องๆ ให้พยามยามตั้งต้นมองหาแรงบันดาลใจในการทำงาน เริ่มจากการทำในสิ่งที่รักหรือถนัด แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับผลงาน งานจะได้ออกมาดี”
มร. จูนิชิ นาคาตะ ประธานโครงการสร้างสรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าว กับพานาโซนิค และคณะกรรมการตัดสิน เล่าว่า “โครงการ “สร้างสรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าว กับพานาโซนิค เป็นหนึ่งในนโยบายด้านกิจกรรมเพื่อสังคมของกลุ่มบริษัท พานาโซนิค เริ่มต้นจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาและขยายมาสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ และถ่ายทอดผลงานออกมาในรูปแบบของสารคดี
โดยในปีนี้ มีผลงานส่งเข้ามาทั้งสิ้นกว่า 553 ผลงาน จากทั้งหมด 19 ประเทศทั่วโลก เทรนด์การนำเสนอผลงานส่วนมากมุ่งไปที่หัวข้อ “การสื่อสาร” ต่างจากปีก่อนที่เน้นทำเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” เนื่องจากน้องๆ เยาวชนได้มองเห็นถึงความสำคัญการสื่อสารในโลกยุคออนไลน์ และถ่ายทอดออกมาในมุมมองของตนเองผ่านงานในรูปแบบต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์สั้น สารคดีโทรทัศน์ ข่าว เป็นต้น
ส่วนผลงานที่ผ่านเข้ารอบในปีนี้มีทั้งหมด 7 ผลงาน ได้แก่ ผลงาน Face to Face จากประเทศสหรัฐอเมริกา Living Differently-Circus Mulan จากประเทศเยอรมนี Just Click it จากประเทศมาเลเซีย Social Me-dia จากประเทศสิงคโปร์ Happy Birthday จากประเทศจีน Run Nako-ichi Run for Fukushima จากประเทศญี่ปุ่น และ Blind’s Diary จากประเทศไทย ซึ่งแต่ละทีมสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองออกมาได้ดี เทียบเท่านักผลิตรายการโทรทัศน์มืออาชีพ โดยเฉพาะน้องๆ จากทีม พีเวิร์ค ประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ สามารถนำเสนอเนื้อหาออกมาได้อย่างชัดเจน มีการเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับ และตีความหมายของโจทย์ในเรื่องการสื่อสารที่เป็นสากล สามารถเข้าถึงอารมณ์คนดูได้
ทั้งนี้อยากจะฝากถึงเยาวชนรุ่นต่อไปที่กำลังจะผลิตผลงานเข้าประกวดแข่งขันในปีนี้ ให้ใช้เวทีการแข่งขันนี้เป็นเวทีสำหรับแสดงหรือถ่ายทอดความคิดที่ตนเองมีอยู่ หรือเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอเรื่องราวดีๆ ของคนไทย ในด้านความมีเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มาเผยแพร่ให้แก่สังคมและคนทั่วโลกได้รับรู้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและความคืบหน้าของการแข่งขันในปีนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/KWNThailand