ไลฟ์สไตล์

สวธ.เปิดชุมชนญัฮกุรอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวไทยบน

สวธ.เปิดชุมชนญัฮกุรอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวไทยบน

18 ก.ย. 2558

สวธ.เปิดชุมชนญัฮกุรอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวไทยบน : สราวุฒิ ประทุมชัน นักศึกษา ม.เนชั่น

           กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒธรรม ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิเปิดตัวชุมชนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “หมู่บ้านญัฮกุร” อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ณ วันที่ 22 สิงหาคม เพื่อกระตุ้นการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาชาติพันธุ์ โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็ดประธานเปิดงาน และเดินชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒธรรมของชาว ญัฮกุร (มอญโบราณยุคทวารวดี)

           นายวิเชียร กล่าวว่า ประเทศไทยประกอบด้วยกลุ่มคนหลายกลุ่มหลายเผ่า ได้รับราชการไปในหลายภาคหลายจังหวัดและได้เห็นกลุ่มเผ่าต่างๆมากมาย เมื่อได้มาอยู่ที่ จ.ชัยภูมิ ก็ได้พบกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ”ไทยบน” หรือ ”ญัฮกุร” ซึ่งสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่คือ ความเสื่อมคลายของวัฒนธรรมกลุ่มเผ่าที่กำลังหายไป เหมือนชนเผ่าอื่นๆ ที่เริ่มไม่มีการแต่งชุดประจำเผ่า แต่จะแต่งก็ต่อเมื่อมีงานแสดงโชว์ พิธีกรรม หรือในโอกาสพิเศษเท่านั้น และเริ่มหัดมาแต่งตัวตามยุคสมัยแทน เช่น เปลี่ยนไปใส่กางเกงยีน และเสื้อเชิ้ต กันมากขึ้น

           ทั้งในเรื่องของภาษาและในลักษณะการสร้างบ้าน ซึ่งเป็นเพราะถูกวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า แข็งแกร่งกว่า กำลังเข้ามากลืนวัฒนธรรมออกไป และในวันนี้เราได้ตระหนักว่า วัฒนธรรมของชนเผ่านี้เราควรที่จะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูเอาไว้เพื่อที่จะไม่ให้สูญหายไป ด้วยการเข้ามาช่วยสนับสนุน การส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้น เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่า “ญัฮกุร” ที่สืบทอดวัฒนธรรมของ “มอญทวารวดี” เป็นเวลามากกว่า 2,000 ปี

           น.ส.อมรรัตน์ ลีเพ็ญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเครือข่ายและชุมชน กล่าวว่า ทางกรมส่งเสริมวัฒธรรมได้คัดเลือกหมู่บ้านญัฮกุร เพราะมองเห็นศักยภาพของชุมชนในเรื่องของอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น เนื่องจากถือว่าเป็นชุมชนมอญโบราณที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคทวารวดี มีภาษาญัฮกุรเป็นของตัวเอง มีการสืบทอดมามากกว่าพันปีแล้ว จึงมีวิถีชีวิตที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ปัจจุบันได้ดำเนินแนวทางมาประมาณ 6 เดือนแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าจะทำให้บรรลุจุดประสงค์ภายใน 3 ปี

           ญัฮกุร หรือเนียะกุล หรือที่คนไทยเรียก มีความหมายว่า คนภูเขา “ชาวบน” ชุมชนที่ใช้ภาษามอญโบราณ เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขาหรือเนินเตี้ยๆ ลักษณะมีผิวค่อนข้างดำตาโตกว่าคนไทย แต่ไม่ต่างจากคนไทยมากนัก รูปร่างสูงปานกลาง ผู้หญิงจะแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุร คือจะสวมเสื้อเก๊าะ และนุ่งผ้านุ่งมีชายผ้าใหญ่ สวมสร้อยเงิน และเจาะใบหูกว้างเพื่อสวมตุ้มหูใหญ่ หรือเรียก กะจอน ทำด้วยไม้มีกระจกติดข้างหน้า ไว้ผมยาวเกล้ามวย ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุก วิธีการนุ่งแบบเหน็บธรรมดา

           ภาษาของชาวญัฮกุรจัดอยู่ในตระกูลภาษาตระกูลมอญ-เขมร สาขามอญ เพราะมีความใกล้เคียงกับภาษามอญโบราณ และภาษามอญปัจจุบันมากกว่าเขมร ในปัจจุบันชาวญัฮกุรถูกกลืนด้วยประเพณีวัฒนธรรมอีสานอย่างรวดเร็ว มีบางหมู่บ้านเท่านั้นที่พูดภาษาถิ่นของตนเองได้ คนรุ่นใหม่จะพูดภาษารอบข้างที่คนส่วนใหญ่พูดกัน ภาษาของชาวญัฮกุรไม่มีระบบการเขียน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวญัฮกุรถูกกลืนได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันชาวญัฮกุรพูดภาษาชนเผ่าเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แต่ในช่วงหลังมีการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษาญัฮกุรในชั้นเรียนด้วย

           ชาวญัฮกุร ตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่ม มีบางพวกอพยพหนีเข้าไปอยู่ในป่าลึก หรือบนภูเขาสูงขึ้นไป ชาวบ้านใช้แสงไฟจากตะเกียงเป็นส่วนใหญ่ อาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ฤดูแล้งจะใช้น้ำซับ ซึ่งมีตลอดปี มีอาชีพทำไร่ปลูกข้าวตามไหล่เขา ใช้วิธีปลูกแบบขุดหลุมหยอดที่เรียกข้าวไร่ ตอนเก็บเกี่ยวก็ใช้มือรูดเมล็ดข้าวออกจากรวง ใส่กระบุงแทนการเกี่ยวข้าว และยังปลูกข้าวโพด กล้วย ละหุ่ง มันสำปะหลัง มะเขือ พริก เป็นต้น มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ และหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน ผึ้ง กบ เขียด และมีความสามารถในการจักสานโดยเฉพาะสานเสื่อ

           ปัจจุบันชาวญัฮกุร นับถือศาสนาพุทธ เชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ ชาวญัฮกุรนิยมแต่งงานในหมู่พวกเดียวกัน การละเล่นมีการเป่าใบไม้ ซึ่งบางครั้งจะเป่าเป็นสัญญาณเรียกหากัน มีการเล่นเพลงพื้นบ้านเรียกว่า กระแจ๊ะ หรือ ปะเรเร เป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง ฝ่ายหญิงเป็นผู้ตีโทนให้จังหวะ เนื้อหาเป็นการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว ประเพณีชาวญัฮกุรมีประเพณีสงกรานต์ ประเพณีกระแจ๊ะหอดอกผึ้ง ประเพณีแห่พระและจุดพลุ ประเพณีแต่งงาน ชาวญัฮกุรไม่รู้จักกรรมวิธีการทอผ้า แต่จะปลูกฝ้ายเพื่อไปแลกกับผ้าทอของคนกลุ่มไทย และลาว จึงทำให้มีการแต่งกายเหมือนๆ คนไทยทั่วไป

           ผู้ที่สนใจจะเยี่ยมชมหมู่บ้านญัฮกุร หรือชมทุ่งดอกกระเจียว ที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม สามารถติดต่อที่ โทร.08-6153-7312 นายพนม จิตร์จำนงค์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อ.บ้านไร่