
เลาะตะเข็บ 'ปราจีนบุรี-สระแก้ว' ดูพัฒนาที่ราบในพระราชดำริ
27 ก.ย. 2558
ท่องโลกเกษตร : เลาะตะเข็บ 'ปราจีนบุรี-สระแก้ว' ดูพัฒนาที่ราบในพระราชดำริ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาตามแนวพระราชดำริ เป็นอีกโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกและตามรอยตะเข็บชายแดนมาตั้งแต่ปี 2521 ครอบคลุมพื้นที่ จ.ปราจีนบุรีและสระแก้ว โดยมุ่งพัฒนาใน 3 ด้านหลักประกอบด้วยการพัฒนาจิตใจราษฎร การพัฒนาความรู้ด้านอาชีพและการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการการทำงาน
“ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้พาไปดูความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาตามแนวพระราชดำริ นำโดยที่ปรึกษา “สายเมือง วิรยศิริ” และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน “บุญสนอง สุชาติพงศ์” พร้อมคณะผู้บริหารกรมชลประทานและสื่อมวลชนเพื่อติดตามดูการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ เริ่มจากฟังเสวนา “ที่ราบเชิงเขาจากความไม่มั่นคงสู่ความมั่นคงและประโยชน์สุข” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย สายเมือง วิรยศิริ ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการพระราชดำริ กระทรวงเกษตรฯ บุญสนอง สุชาติพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทานและทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว

จากนั้นลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของ ลุงวศิน วะโฮรัมย์ เกษตรกรผู้ใช้น้ำที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการใน ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ บนเนื้อที่ 15 ไร่ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีการจัดการในรูปของสวนเกษตรผสมผสาน มีทั้งปาล์มน้ำมัน มะนาว ไม้ผลและมีการเลี้ยงกุ้งล็อบสเตอร์ในสวนปาล์ม ซึ่งสร้างรายได้เป็นอย่างดี
ทั้งล่องเรือชมความงามทางธรรมชาติของอ่างเก็บน้ำพระปรง ในความรับผิดชอบของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานสระแก้ว โดยเฉพาะการนั่งเรือ ล่องแพชมทิวทัศน์ธรรมชาติ ตกปลา ดูนกป่า นกทุ่ง ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่นกอ้ายงั่ว หรือนกงู ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ มีรายงานพบนกชนิดนี้มีมากถึง 100 ตัว โดยจังหวัดสระแก้วร่วมกับ ททท.จัดงานเทศกาลดูนกน้ำ ตามเส้นทางนกงู เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมตามคำขวัญที่ว่า “ล่องเรือดูนก ตกปลาที่เขื่อนพระปรง”
เช้าวันต่อมามุ่งหน้าไปยังอ่างเก็บน้ำช่องกล่ำบนที่บ้านคลองคันโท ต.โนนหมากเค็ง อ.วัฒนานคร ที่ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งน้ำในลักษณะอ่างพวง มีความจุของน้ำ 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของราษฎรในหมู่บ้านป่าไม้ บ้านคลองทราย และช่วยเหลือด้านเกษตรครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ไร่ และยังส่งน้ำจากอ่างไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เครื่องสีข้าวและไฟฟ้าส่องสว่างในหมู่บ้านก่อนใช้เพื่อการเกษตรอีกด้วย

จากนั้นมาแวะศูนย์สาธิตจุดกำเนิดโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริแห่งแรกของประเทศไทย มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นในปี 2522 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนให้มีโอกาสมีโค-กระบือไว้ใช้แรงงานเป็นของตนเอง โดยการเช่าหรือเช่าซื้อในราคาถูกจากส่วนราชการ องค์กรหรือเอกชน โดยกรมปศุสัตว์ได้นำโค-กระบือจำนวน 280 ตัวไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในพื้นที่โครงการที่ราบเชิงเขา จ.ปราจีนบุรี ในท้องที่ อ.สระแก้วและอ.วัฒนานคร (ในขณะนั้น) เป็นครั้งแรก ก่อนจะขยายผลดำเนินการไปทั่วประเทศในปัจจุบัน
ธนเดช อมรชัยสิน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี สำนักงานปศุสัตว์สระแก้ว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธนาคารโค-กระบือ มีสมาชิกทั่วประเทศ 110,000 ราย จ.สระแก้วมี 1,000 ราย โดยธนาคารจะให้บริการที่หลากหลายขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของเกษตรกร โดยโค-กระบือจะได้รับการบริจาคและการส่งคืนกลับมาของเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่กำหนดไว้

ก่อนเดินทางต่อมายังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.สระแก้ว ต.หนองตะเคียนบอน อ.วัฒนานคร ที่มุ่งเน้นเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแจกจ่ายให้ชาวบ้าน อาทิ ปลาตะเพียน ปลาบ้า ปลาสวาย ฯลฯ พร้อมสาธิตการเลี้ยงปลาในบ่อดิน มีการทำเกษตรกรผสมผสาน ปัจจุบันมี การุณ อุไรประสิทธิ์ ดูแลรับผิดชอบในฐานะ ผอ.ศูนย์
ปิดท้ายด้วยจุดเรียนรู้สวนของพ่อ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาปรับปรุงสวนไม้ผลผสม ตั้งอยู่ที่บ้านคลองน้ำเขียว หมู่ 15 ต.ท่าแยก อ.เมืองสระแก้ว บนเนื้อที่ 27 ไร่ ในโครงการมีสวนไม้ผลผสมผสานเช่น ลิ้นจี่ ขนุน มะขาม แปลงนา สวนไม้ป่า สวนเศรษฐกิจพอเพียงและจุดเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้ถูกยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญของ จ.สระแก้ว
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามดูความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาตามแนวพระราชดำริ ที่อยากให้ทุกคนได้ไปสัมผัส สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานโครงการชลประทานสระแก้ว โทร.0-3726-1668 ในวันและเวลาราชการ
----------------------
(ท่องโลกเกษตร : เลาะตะเข็บ 'ปราจีนบุรี-สระแก้ว' ดูพัฒนาที่ราบในพระราชดำริ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)