
สื่อการสอนเตรียมพร้อมครูสู่การสอนในศตวรรษที่ 21
สื่อการสอนเตรียมพร้อมครู สู่การสอนในศตวรรษที่ 21
การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพนั้น “ครู” จะต้องสามารถใช้สื่อการสอนได้อย่างหลากหลาย และเหมาะสม เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ฝึกประสบการณ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง “เด็กยุคนี้...ส่วนใหญ่มีปัญหาสมาธิสั้น ซึ่งอาจจะเกิดจากการดูทีวี หรือเล่นเกมมากเกินไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กเหล่านี้จะเรียนรู้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าหากใช้สื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนก็จะทำให้เด็กเข้าใจ และเข้าถึงบทเรียนได้ง่ายขึ้น”
ดร.ธานี จันทร์นาง ครูชำนาญการโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ที่โรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ใช้สื่อเทคโนโลยี ที่เรียกว่า ‘ทวิก’ (Twig) ในการจัดการเรียนรู้สำหรับห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเป็นสารคดีสั้น ความยาว 3 นาทีกว่าพันเรื่อง ครอบคลุมกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
“นักเรียนตื่นเต้น สนใจ เพราะเป็นเหมือนการดูภาพยนตร์ หรือหนังวิทยาศาสตร์ที่สามารถสรุปเนื้อหาที่ซับซ้อนให้เข้าใจและจดจำได้ง่าย โดยที่ครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้ด้วยตนเอง อาจเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กได้จับใจความสำคัญ หรือแม้แต่การอภิปรายหลังดูวิดีโอจบ ก็ถือเป็นการต่อยอดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี” ดร.ธานีเล่า
ประโยชน์ของการนำสื่อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ดร.ธานี อธิบายต่อว่า มีอยู่หลายทาง ข้อดีที่ชัดเจนสุด คือ 1.ช่วยครู 2.เด็กชอบ เพราะปัจจุบันเด็กไทยมีปัญหาสมาธิสั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเล่นเกม อยู่กับคอมพิวเตอร์ จอมือถือ หรือให้ดูทีวีมากเกินไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะเรียนรู้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าบางทีการเรียนรู้ในกลุ่มเล็กๆ จะช่วยให้เด็กเข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายกว่า
“สื่อการสอนที่มีการนำเสนอเนื้อหาและบทเรียนที่ซับซ้อนให้เข้าใจและจดจำได้ง่าย สามารถนำมาสร้างกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เชื่อมโยงกับบทเรียนให้ครูสามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้ ฝึกคิด แก้ปัญหา และสร้างเนื้องาน เพราะกิจกรรมที่สนุก ครูจะมีการต่อยอดในห้องเรียนได้ดี อีกอย่างเมื่อสื่อมีความน่าสนใจก็จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้เป็นอย่างดี” ครูชำนาญการโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา
การใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างน้อยทำให้เด็กเกิดจินตนาการ เช่นเวลาที่เราพูดถึงเรื่องโครงสร้างบางทีเขาไม่สามารถมโนภาพได้ แต่ว่าถ้าเรามีสื่อ เช่นเดียวกับกรณีทวิกก็จะทำให้เด็กมองภาพชัดขึ้น บวกกับสถานการณ์จำลองที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ จะทำให้เขารู้จักคิดและมีทักษะกระบวนการแก้ปัญหาได้ด้วย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องดีที่เอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน
การนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น ในส่วนของครูคือสามารถนำเข้าสู่บทเรียนสั้นๆ ได้ และทำให้เด็กเข้าใจง่าย และเห็นภาพได้ชัด สำหรับเด็กคือ ทำให้เขาได้เห็นของจริง ถึงแม้จะเป็นแค่ภาพที่ปรากฏบนสื่อ แต่เขาก็จะจินตนาการตามได้ และสามารถหาองค์ความรู้เพิ่มได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามการใช้กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ เด็กก็ต้องมีความรู้พื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว ครูเองก็จะต้องเตรียมตัวเองและเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กด้วยเช่นกัน
หากครูสามารถเสริมสร้างความเคยชินให้แก่เด็กในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้าหาความรู้ในแบบต่างๆ ตั้งคำถาม และหาคำตอบให้ตัวเองได้ เมื่อนั้นก็ถือว่าเราได้ทำสำเร็จแล้วในฐานะ ครู คนที่ให้การศึกษา ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ นำไปสู่ไอเดียที่สามารถต่อยอดโปรเจ็กต์งานของตัวเองได้ เหมือนเป็นเครื่องมือในการขยายความรู้ให้เด็กๆ นั่นเอง ทำให้เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเป็นการใช้สื่อเทคโนโลยีที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง
ทั้งนีี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการการเรียนการสอน “ครู” ต้องเข้าใจความสำคัญของเทคโนโลยีเสียก่อนว่า ปัจจุบันโลกของธุรกิจต้องการคนที่มีทักษะ ไม่ใช่คนที่มีความรู้เพียงอย่างเดียว บริษัทใหญ่ๆ อย่างกูเกิลประกาศว่าไม่สนใจว่าจบจากมหาวิทยาลัยอะไร หรือได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ สนใจแค่ว่า ทำงานได้ไหม แก้ปัญหาได้หรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะ แต่ถ้าครูยังสอนแบบเดิม คือเน้นว่าเด็กต้องได้คะแนนเยอะๆ เกรดเฉลี่ยเยอะๆ ท่องจำเยอะๆ สอบแบบกากบาท เรียนแบบใช้ใบงาน ใบความรู้เหมือนเดิม ผลิตเด็กในแบบที่ไม่มีที่ไหนในโลกต้องการ เพราะเวลาที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทย เด็กไทยจะกลายเป็นเด็กที่เขาไม่รับเข้าทำงาน ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคต
ครูชำนาญการโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ระบุว่า อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนต่างๆ การจับกลุ่ม ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด หรือแม้การเรียนเดี่ยวก็แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมดเช่นกัน เพราะฉะนั้น ครูต้องเลือกใช้วิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับเด็กให้มากที่สุด การใช้ภาพยนตร์สารคดีในการเรียนการสอนนั้น เห็นได้ชัดว่าเด็กมีความตื่นตาตื่นใจ และให้ความสนใจ อีกอย่างคือ ไม่ว่าครูยุคเก่าหรือใหม่การสอนที่เน้นเนื้อหาอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ ต้องทลายกำแพงเด็กรุ่นใหม่ให้ได้ คือการนำกระบวนการเรียนรู้เข้ามา น่าจะเป็นการพัฒนาที่ถูกทาง
สนใจการเรียนการสอนโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา สอบถามได้ที่ โทร.035-271-010