
ชวนเที่ยว : สิชล...สันทรายและสายน้ำ
04 ต.ค. 2558
ชวนเที่ยว : สิชล...สันทรายและสายน้ำ : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์
หลายคนคงไม่ปฏิเสธว่า เวลาที่เดินทางไปนครศรีธรรมราช มักจะผ่านเลย อ.สิชลไป ถ้าไม่ใช่บ้านเกิดที่ต้องแวะ ยิ่งนั่งรถโดยสาร หรือขับรถไปเอง อำเภอนี้มักเป็นเพียงแค่ทางผ่าน แต่อยากบอกว่า ถ้ามีโอกาส อย่าได้พลาดที่จะหยุดตัวเองไว้ที่อำเภอเล็กๆ แห่งนี้ เพราะที่นี่มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ชายหาดสวยๆ ทะเลงามๆ อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่แพ้ที่ไหนในจังหวัดเลยจริงๆ

ฉันเองรู้จักอำเภอนี้ค่อนข้างนาน แต่ก็ไม่เคยได้แวะเที่ยวจริงจัง จนกระทั่งติดตามกลุ่มสห+ภาพ นำโดย “คุณจี๊ด” จิระนันท์ พิตรปรีชา ซอกแซกลึกเข้าไปดูบ้านเมืองของเขา ถึงได้เห็นว่า ฉันเองพลาดสิ่งดีๆ ไปเสียนาน

ด้วยความที่ จ.นครศรีธรรมราช อยู่บริเวณด้ามขวานลงไป เลยมีพื้นที่ติดชายทะเลเป็นระยะทางยาว และ อ.สิชล อำเภอเก่าแก่ที่จัดตึ้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็เป็นหนึ่งในอำเภอที่อยู่ติดแนวชายฝั่ง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอนี้จึงอยู่ที่ชายฝั่งทะเล ที่มีทั้งหาดสิชล ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า หัวหินสิชล, หาดเขาพลายดำ, หาดท้องยาง, หาดหินงาม พื้นที่ อ.สิชล มีแนวชายทะเลลึกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ 5-7 กิโลเมตร โดยมีชายทะเลจากปลายแหลมเขาพลายดำ โค้งเลียบผ่านบ้านนาขอมลงไปด้านใต้หน้าวัดถ้ำเทียนถวาย หลังเขาเกียด ด้านหน้าเขาคา จนเข้าเขต อ.ท่าศาลา พื้นดินแถบนี้เรียกว่า สันทรายใน(สันทรายเก่า) ซึ่งเกิดขึ้นมานานกว่า 6,000 ปีแล้ว ก่อนจะเกิดสันทรายกลางเมื่อราว 1,000 ปีที่ผ่านมา คือแนวทางหลวงแผ่นดินสาย 401 ตั้งแต่ ต.สิชล ผ่าน ต.ทุ่งปรัง ต.เสาเภา และ ต.เปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีสันทรายที่เกิดขึ้นใหม่ราว 400-500 ปี คือแนวชายทะเล ตั้งแต่ ต.สิชล ลงไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านปลายทอน ต.ทุ่งปรัง บ้านเสาเภา ต.เสาเภา (จากหนังสือประวัติศาสตร์สิชล)


ชื่อของ อ.สิชล ก็แปลความอยุ่แล้วว่า “เมืองน้ำดี” สภาพสิชลที่เราเห็นในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น อุดมทั้งน้ำท่า และทรัพยากรทางทะเล การเดินทางไปสิชล สมัยนี้ก็แสนง่าย จาก กทม. บินลัดฟ้าแค่ชั่วโมงเดียวก็ไปถึงสนามบิน ซึ่งอยู่ที่ อ.ท่าศาลา ก่อนจะเดินทางต่อโดยรถยนต์มาตามทางหลวง 401 ถึง อ.สิชล

เราเลือกแวะพักทำความรู้จักสิชลจุดแรกที่ริมชายหาดสวนสน ของ เขาพลายดำ ในเขต ต.ทุ่งใส ซึ่งมีทั้งรีสอร์ท และร้านอาหาร เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนพื้นที่ โดยเจ้าของสถานที่เดิมบริจาคที่ดินจัดสร้างเป็นสถานที่พักผ่อนส่วนกลาง และเป็นที่ตั้งสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่านครศรีรรมราช

ธีระศักดิ์ นาคแก้ว หรือ กำนันดำ บอกว่า ที่ชื่อเขาพลายดำ เมื่อก่อนเรียกกันว่า เขาไพรดำ หมายถึงคุณไสย ก่อนหน้านี้เคยมีคนจับกวางขนาดใหญ่ได้ แล่เนื้อออกมาแล้วยังมีน้ำหนักถึง 100 กิโลกรัม คนในพื้นที่ก็เลยหันมาร่วมกันดูแลอนุรักษ์พื้นที่ไว้ รวมถึงมีการประชุมตั้งชื่อสถานที่กัน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นทะเลใต้ บวกกับรูปทรงของภูเขาแถวนี้มองดูแลเหมือนมังกร ถกเถียงกันอยู่ร่วม 3 ชั่วโมง ถึงได้ข้อสรุปเรียกดินแดนแถบนี้ว่า มังกรทะเลใต้ บริเวณหาดทรายสวนสน เขาพลายดำ มีการวางแนวปะการังเทียม พลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา ช่วงที่ไม่ใช่หน้ามรสุม สามารถลงเรือไป “โล่ปลา” ซึ่งเป็นวิธีการหาปลาแบบดั้งเดิม คือใช้เรือเล็ก ติดไฟส่องสว่างที่หัวเรือ คนหนึ่งพาย คนหนึ่งจะยืนอยู่หัวเรือ พอปลามาเล่นไฟก็จะใช้สวิงช้อนปลาขึ้นมา ฝั่งตรงข้ามทะเลเป็นขุนเขาพลายดำ มียอดเขาสูง 814 เมตร ปัจจุบันชาวบ้านช่วยกันดูแลอนุรักษ์ไว้ กลายเป็นแหล่งที่ยังมีสัตว์ป่าสงวน รวมถึงเก้ง กวาง ออกหากินอยุ่ตามธรรมชาติ รวมถึงนกรวมๆ แล้วนับร้อยชนิด รวมถึงนกหายาก ซึ่งเคยได้รับคำบอกเล่าจากชมรมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทยที่ไปเยี่ยมชมว่า พบนกที่ที่อื่นไม่มี กำนันดำ ยังเล่าว่า คนแถบนี้จะเชื่อและนับถือ “พ่อตาผ้าขาว” ซึ่งคนจากที่อื่นที่มาพักค้างแถวนี้ มักจะฝันเห็นพ่อตาผ้าขาว เป็นชายร่างใหญ่ ผมและเคราขาว กระทั่งมีการสร้างศาลขึ้นบนบนเขาพลายดำ ในปี 2549 แล้วยังกำชับพวกเราด้วยว่า แถวนี้อาจจะมีงู เพราะดูเหมือนว่าพ่อตาผ้าขาวจะพิทักษ์งู ซึ่งที่ศาลก็จะทำรูปปั้นงูใหญ่ไว้ด้วย


จากเขาพลายดำ จะมองเห็น อ่าวท้องยาง ในมุมสูง เป็นหาดทรายสวยงาม ทอดตัวยาวร่วม 3 กิโลเมตร ไปจรดเขาอีกด้าน มองดูเป็นหาดที่ตกอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขา บริเวณโดยรอบมีการจัดแต่งเป็นสวนหย่อมสวยงาม มีเครื่องเล่นของเด็กๆ เหมาะแก่การไปพักผ่อนเป็นครอบครัวซะจริงๆ เลยจากหาดท้องยางไปไม่ไกล เป็นหาดหินงาม ลักษณะหาดมีหินกลมเกลี้ยงจำนวนมาก อันเป็นที่มาของชื่อหาดนั่นเอง


ออกจากเขาพลายดำ เลาะชายทะเลลงใต้ไปเรื่อยๆ ถึงปากน้ำสิชล ปัจจุบัน มีพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านหันหน้าออกทะเล ข้ามฝั่งไปเป็นศาลเจ้า รถใหญ่ข้ามไม่ได้ ก็ต้องขับอ้อมไปอีกด้าน จากฝั่งศาลเจ้าจะมองเห็นบ้านเรือน บริเวณปากน้ำ ยามอาทิตย์ตกยิ่งดูสวยงาม ด้วยความที่ อ.สิชล ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่ง อาชีพหลัก จึงไม่พ้นการทำประมง มาเที่ยวที่นี่ ตื่นเช้าๆ ไปดูวิถีชีวิตของชาวประมง ที่ออกหาปลากันแต่มืด รอฟ้าสว่างก็เริ่มกลับเข้าฝั่งกันแล้ว ฉันเลือกแวะไปตลาดชุมชนบ้านปลายทอน ต.ทุ่งปรัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเราที่หาดหินงาม แวะจิบกาแฟชาวบ้าน ปาท่องโก๋ โรตีแกง เพิ่งจะตั้งแผง อาหารเช้าง่ายๆ รองรับชาวบ้านที่ออกมาจับจ่ายซื้อของ ระหว่างรอเรือประมงขนาดเล็กเข้าเทียบฝั่ง บรรดาเจ้าของเรือจะช่วยกัน นำไม้มารองจากชายหาด ใช้รอกฉุดดึงเรือขึ้นมาบนไม้ เพื่อลากขึ้นบน ก่อนจะลำเลียงผลผลิตทางทะเลที่หาได้ ไปขึ้นแผงขายริมถนนกันเดี๋ยวนั้นเลย ขนาดว่าฟ้าฝนไม่ค่อยเป็นใจ บางรายยังได้ปูม้าตัวโตๆ มาเกือบเต็มตะกร้า ที่เห็นเยอะๆ ก็มีปลาจ้องม่อง หน้าตาเหมือนปลากระเบนขนาดเล็กๆ ปลาพวกนี้ขายกันแค่ กก.ละ 50 บาท ส่วนพวกปูม้าราคาก็ตกราวๆ 250 บาทเท่านั้นเอง แทบไม่น่าเชื่อ แค่ขนขึ้นแผงไม่นานก็ขายได้เกลี้ยง


ติดกันด้านในเป็นแผงขายของตลาดสด ที่มีบริหารจัดการกันเองของชุมชนบ้านปลายทอน กะปิดีๆ ที่ทำเอง ผลไม้ และผักข้างรั้วปลอดสารพิษ มีมาวางขายกันแบบบ้านๆ จัดได้ว่าเป็นตลาดสดริมทะเลที่แสนจะรื่นรมย์ เดินเพลินๆ ท้องร้องเรียกหาอาหารเช้า ก็ได้ข้าวมันหน้ากุ้งกับโรตีแกง ที่เปิดแผงขายพอดี กินไปนั่งดูเด็กนักเรียนไปเรียนที่มัสยิดหน้าตลาด บ่งบอกถึงความกลมกลืนของคนในชุมชน ไม่แบ่งแยกว่าจะนับถือศาสนาใด
สันทราย สายน้ำ ปลุกปั้นให้สิชลเป็นเมืองน้ำดีที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่ และยังมีแหล่งท่องเที่ยวสวยๆ หาดทรายงามๆ รอรับผู้ไปเยือนอย่างเต็มใจ

---------------------
การเดินทาง จากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ไปตามทางหลวง 401 (นครศรีธรรมราช-สิชล) ถึง กม.ที่ 98 แยกขวาเข้าหมู่บ้านบางปอไป 10 กม.ถึงอ่าวท้องยาง เดินทางต่อไปอีก 5 กม. จะถึงเขาพลายดำ
ติดต่อที่พัก รีสอร์ทเขาพลายดำ 08-6947-3248 (กำนันดำ) อ่าวท้องยาง สอบถามเพิ่มเติม อบต.ทุ่งใส 0-7537-6110 0-7537-6115, สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่านครศรีธรรมราช 08-2423-0157, 08-7217-8589
---------------------
(ชวนเที่ยว : สิชล...สันทรายและสายน้ำ : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)