
จาก 'แควอ้อม' ... ไป 'พระราชวังสนามจันทร์'
11 ต.ค. 2558
ชวนเที่ยว : จาก 'แควอ้อม' ... ไป 'พระราชวังสนามจันทร์' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์
ท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยว ถึงขั้นทำให้อัมพวาร้อนแรง หลายสิ่งหลายอย่างแปลกตาไปจากเมื่อ 5 ปี 10 ปี ก่อนอย่างมาก แต่เสน่ห์ของอัมพวาก็ยังดึงดูดให้เข้าหา เรียกว่าถ้าผ่านไป ก็อดแวะไปทักทายเรือนไม้สองฝั่งคลองไม่ได้ เดี๋ยวนี้ไม่แค่เรือนไม้แน่นๆ โฮมสเตย์ที่อยู่ริมคลองก็เปลี่ยนโฉมไป จากของเดิมบ้านๆ ที่เป็นเสน่ห์ของบ้านริมน้ำ มีรีสอร์ทใหม่เข้ามาสอดแทรก ริมคลองกลายเป็นร้านขายของซะเกือบหมด ใครที่ไปพักแถวอัมพวา เลยดีดตัวเองออกไปหาที่พักริมคลองด้านนอกกันซะเยอะ ฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังแวะเที่ยวตลาดน้ำช่วงบ่ายๆ ก็ค่อยไปหาที่พักที่อยู่เลยออกไป เลือกได้ตามใจชอบ แถบอ.บางคนที ก็ยังสวยสงบ มีที่พักริมน้ำแม่กลอง หรือจะซอกซอนไปตามสวน หาที่พักริมคลองก็มีให้เลือก ลงท้ายไปปิ๊งกับที่พักสงบๆ ที่ยังมีความเป็นส่วนตัว อยู่ริมคลองแควอ้อม ในเขตอำเภออัมพวา ติดกับ อำเภอวัดเพลง ของจังหวัดราชบุรี พื้นที่แถวนี้เป็นสวนแทบทั้งนั้น รีสอร์ทที่เกิดขึ้น ส่วนมากก็เป็นพื้นที่บ้านที่แบ่งมาทำที่พักอยู่ริมน้ำ ต้อนรับนักท่องเที่ยว
แควอ้อม หรือ “แม่น้ำอ้อม” เป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำแม่กลอง ที่อำเภอเมืองราชบุรี ไหลอ้อมผ่านที่ราบลุ่มอำเภอวัดเพลง ของจังหวัดราชบุรี ก่อนจะไปบรรจบกับแม่น้ำแม่กลองอีกครั้ง ที่ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในยุคหิ่งห้อยอัมพวาบูม ลำคลองแควอ้อม ซึ่งยังมีทั้งต้นลำพูคงความสมบูรณ์ ตกเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่จะนั่งเรือหางยาวผ่านมาชมหิ่งห้อยในคืนเดือนมืด มาดูหิ่งห้อย โดยมีปลายทางอยู่ที่บริเวณวัดเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา ที่อยู่ฝั่งขวาของคลองแควอ้อม ส่วนฝั่งซ้ายคือตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที เลยจากวัดเหมืองใหม่ขึ้นไป ก็ยังมีวัดแก้วเจริญ อยู่ติดกับปากคลองประดู่ ซึ่งลำคลองเก่าแก่สายนี้เส้นแบ่งเขตแดน “สมุทรสงคราม” กับ “ราชบุรี” โดยคนแถวนั้นเรียกคลองประดู่ว่า “คลอง 2 เมือง” คลองแถบนี้ ยังดูนิ่งสงบ ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวอากาศดี ก็จะมีนักท่องเที่ยวทะลักมาจากอ.อัมพวาเยอะหน่อย รีสอร์ทเล็กๆ ที่มีไม่กี่หลัง จึงมักไม่เคยร้างลาผู้คนที่นิยมความสงบ น้ำในลำคอลงแม้จะมีสีไม่ขาวใส แต่ก็ยังสะอาด เด็กๆ ลงเล่นน้ำกันสนุกสนาน
จากชีวิตช้าๆ ไว้แถวแควอ้อม ก่อนกลับสู่เมืองใหญ่
ขากลับเลือกเส้นทางนครปฐม แวะไปเดินทอดน่อง ในพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ทางตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร
พระราชวังสนามจันทร์ ยังดูสงบร่มรื่น บนเนื้องที่กว้างใหญ่กว่า 888 ไร่ สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในปี พ.ศ.2450 โดยสร้างบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า เนินปราสาท เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ หลังจากที่พระองค์สวรรคต พระราชวังสนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัดนครปฐม รวมทั้ง เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบัน พระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง
หลังจากจ่ายค่าบัตรผ่านประตูแล้ว ก็ได้เวลาเดินเที่ยวเล่นด้านใน ซึ่งเจ้าหน้าที่แนะนำว่า ควรจะดูภายในบริเวณพระที่นั่งและพระตำหนักเสียก่อน เพราะหลังจากเวลา 16.00 น. ก็จะปิดห้ามนักท่องเที่ยวเข้าชม แต่สำหรับบริเวณสนามด้านนอก สามารถเที่ยวชมได้จนถึงเวลา 20.00 น.
เพราะฉะนั้น เป้าหมายแรกที่ต้องไม่พลาด ก็คือ พระที่นั่งพิมานปฐม ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก ผนังห้องเดิมเป็นไม้ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นผนังคอนกรีต ตกแต่งชาคาและช่องลม กันสาด ลูกกรงระเบียงด้วยแผ่นไม้ลายฉลุ แบบเรือนขนมปังขิง อย่างประณีตงดงาม
ชั้นบนของพระที่นั่ง ประกอบด้วยห้องต่างๆ คือห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และ ห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นหอพระ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งงดงามน่าชมมาก จน ททท.ประกาศให้บริเวณนี้เป็นจุดอันซีน (Unseen) ของจังหวัดนครปฐมด้วย เนื่องจากบริเวณห้องพระเจ้านี่เอง สามารถมองเห็นเทวาลัยคเณศร์ และองค์พระปฐมเจดีย์ อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
อีกจุดหนึ่งที่ฉันไม่พลาดชม ก็คือ พระตำหนักเหล หรือ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ซึ่งเป็นพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2451 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีเพียง 2 ห้อง ชั้นล่างมี 2 ห้อง มีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้าน จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอเนซองส์ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย นี้ทางเข้ากลางด้านหน้ายังทำเป็นมุขแบบชนบทลายซุ้มหน้าบันเหนือระเบียงมีลายแบบยุคกลางของยุโรปด้านใต้มีประตูเปิดไปสู่ฉนวนซึ่งทอดยาวไป พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
ด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ มี อนุสาวรีย์ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาล เป็นสุนัขพันธุ์ทางที่เกิดในเรือนจำนครปฐม ซึ่งรัชกาลที่ 6 เสด็จตรวจเรือนจำ และทรงรับมาเลี้ยงดู ด้วยความเฉลียวฉลาด และจงรักภักดี จึงเป็นที่โปรดปราน เมื่อตายไป จึงได้โปรดเกล้าให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น และยังทรงพระนิพนธ์ไว้อาลัยจารึกบนแผ่นทองแดงรมดำ บริเวณฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย
ไม่ไกลจากพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไม้ทรงไทย ส่วนพระตำหนักทับแก้ว จะอยู่ใกล้ประตูทางเข้า เชิงสะพานสุนทรถวาย เป็นที่ประทับในฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการเสือป่า หลังจากบูรณะในปีพ.ศ. 2546 เพื่อใช้เป็นวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากรที่นครปฐมชื่อว่าวิทยาเขตทับแก้ว ปัจจุบัน สำนักพระราชวังได้อนุญาตให้สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดแสดงเป็น “พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าในพระราชกรณียกิจด้านกีฬาฟุตบอลของชาติ
นอกจาก การเข้าเยี่ยมพระที่นั่งและพระตำหนักแล้ว บริเวณด้านนอก เป็นสนามกว้างๆ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเป็นสถานที่ออกกำลังกายย่อยๆ ช่วงหลัง 16.00 น. จะเห็นคนมาเดิน-วิ่งออกกำลังกาย กันมากมาย รวมถึงไก่แจ้ ที่มีเยอะมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า เริ่มมาจากแค่ไม่กี่ตัว ที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระราชทานมาให้ ตอนนี้ออกลูกออกหลาน วิ่งเล่นอยู่ในสนามหญ้า ส่วนในบึงน้ำใหญ่ด้านใน มีการปล่อยปลาบึกเลี้ยงไว้ 5 ตัว รวมกับปลาอื่นๆ และห่านอีกฝูงย่อมๆ กลายเป็นอีกจุดที่ได้รับความนิยม ซึ่งคนจะซื้ออาหารมาเลี้ยงปลากัน ช่วงฝนยังไม่ทิ้งช่วง เบื่อจะไปลุยฝนไกลๆ ลองแวะไปเที่ยวเส้นทางอัมพวา -แควอ้อม - นครปฐม- พระที่นั่งสนามจันทร์ ก็ได้สโลว์ไลฟ์สบายๆ แล้ว
--------------------
พระที่นั่งสนามจันทร์ เปิด 09.00-16.00 น. (ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น.) หยุดวันนักขัตฤกษ์ และวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ติดต่อสอบถามโทร. 0-3424-4236 และ 0-3424-4238-9
--------------------
(ชวนเที่ยว : จาก 'แควอ้อม' ... ไป 'พระราชวังสนามจันทร์' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)