นักวิจัย'มจร'พบสอน-สอบธรรมในร.ร.ได้ผลน้อย
นักวิจัย'มจร'พบสอน-สอบธรรมในร.ร.ได้ผลน้อย เด็กไม่ถึงธรรมขาดคิดวิเคราะห์ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มุ่งพัฒนาเทคนิคเป็นการด่วน
16ต.ค.2558 ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า การจัดการเรียนสอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาหรือในโรงเรียนนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่าวิชาพระพุทธศาสนาได้ปรากฏอยู่ในเนื้อหาสาระหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มานับร้อยปี เพื่อให้ปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมให้กับนักเรียน แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังประสบความล้มเหลวในการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา เพราะวิธีสอนส่วนใหญ่มุ่งสอนเนื้อหาสาระตามแบบเรียนมากกว่าการสอนให้รู้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนา นักเรียนไม่สามารถจดจำเนื้อหาสาระได้ทั้งหมด ขาดการคิดวิเคราะห์ และไม่สามารถนำหลักธรรมไปสู่การปฏิบัติได้
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ได้แก่ ความไม่เข้าใจเนื้อหาสาระที่ปรากฏในหลักสูตร ปัญหาเกี่ยวกับวิธีสอนที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับผู้เรียนทัศนคติของนักเรียนที่ไม่สนใจในการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาเท่าที่ควร จากสถานการณ์ปัญหาการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ทุกฝ่ายควรหันมาปรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาหรือการสอนเสริมศีลธรรมในโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาศีลธรรมของเยาวชนและปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนให้เป็นคนดีในรูปแบบอื่นและร่วมกันหาทางออกของปัญหาดังกล่าวข้างต้น
โดยปัจจุบันทางสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงร่วมทำหนังสือข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้นำสูตรธรรมศึกษา ซึ่งพัฒนาหลักสูตรมาจากหลักสูตรนักธรรมที่ใช้สอนให้พระภิกษุสามเณร เข้ามาสอนศีลธรรมในสถาบันศึกษา ถือว่าเป็นการปลูกฝังศีลธรรมอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับนักเรียน อย่างไรก็ตามสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา ยังไม่สามารถส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง
เนื่องจากมีการมุ่งเน้นในการจัดการสอบวัดผลเชิงปริมาณเป็นหลัก โดยการจัดการสอบธรรมศึกษาทั่วประเทศทุกปี ไม่มีการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาเป็นระบบในสถาบันการศึกษา จากการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมายังพบปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อหาสาระของหลักสูตรไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวุฒิภาวะผู้เรียน ภาษาที่ใช้ในหนังสือ แบบเรียน ตำราเรียน ยากต่อการทำความเข้าใจ ไม่เป็นภาษาร่วมสมัย ขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ งบประมาณไม่เพียงพอ ขาดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้าน ขาดความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชน ขาดการประสานงานและการประชาสัมพันธ์
โดยการวิจัยครั้งนี้ มุ่งวิเคราะห์เปรียบเทียบความสัมพันธ์เชื่อมโยงของหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนและหลักสูตรธรรมศึกษา เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงการสอนศีลธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา และสามารถให้นักเรียนนำหลักธรรมไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ผลวิจัยพบว่า หลักสูตรธรรมศึกษามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับน้อย เมื่อวิเคราะห์เป็นรายวิชา พบว่า วิชาที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงมากที่สุด คือ วิชาพุทธประวัติและศาสนพิธี วิชาพุทธานุประวัติและศาสนาพิธี วิชาอนุพุทธานุประวัติ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกัน บางหมวดธรรมที่มีชื่อหัวข้อธรรมตรงกัน
แต่เนื้อหาสาระในหลักสูตรไม่ตรงกันผลวิจัยยังพบว่า แนวทางการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษาอันนำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอนธรรมศึกษา พบว่า การพัฒนาการเรียนการสอนธรรมศึกษาจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ผู้บริหาร พระสอนศีลธรรม นักเรียน โดยผู้บริหารเป็นผู้กำหนดนโยบายและบทบาทในการกระตุ้นและเปิดโอกาสให้มีการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถาบันการศึกษา เห็นคุณค่าของในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรธรรมที่ดีให้กับนักเรียน พระสอนศีลธรรมเป็นผู้มีบทบาทในการประสานกับโรงเรียน ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน จัดหลักสูตรการเรียนการสอนธรรมศึกษา เทคนิคการสอน การจัดหาสื่อการสอน และงบประมาณ เข้าไปสอนในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจหลักธรรมคำสอน สามารถนำไปปฏิบัติใช้ในได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยนักเรียนได้รับรู้ประโยชน์ในการนำหลักธรรมที่ได้จากการเรียนธรรมศึกษาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ หลักธรรมที่นักเรียนนำไปใช้มากที่สุด คือ ศีล 5 และความกตัญญูกตเวที ซึ่งปัญหาอุปสรรคในการเรียนการสอนธรรมศึกษาของนักเรียนส่วนใหญ่พบว่า หลักสูตรธรรมศึกษามีเนื้อหาค่อนข้างยากต่อการเข้าใจในระยะเวลาที่มีจำกัด นักเรียนได้รับการสอนติวเพิ่มเติมในช่วงก่อนสอบธรรมศึกษาประจำปีเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจหลักธรรมได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษา ควรส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาให้เป็นระบบในสถาบันการศึกษา การกำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้เป็นช่วงชั้นให้เหมาะกับวุฒิภาวะของนักเรียน และสอดคล้องกับวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ส่วนเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกัน ก็ควรจัดให้มีการสอนเสริมให้กับนักเรียนปรับเนื้อหาหลักสูตรธรรมศึกษาให้ง่ายต่อการเรียนรู้ การจัดเพิ่มเวลาเรียนให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ตลอดจนจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งเน้นคุณภาพให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจหลักธรรม สามารถนำไปใช้ในได้จริงในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาตนและสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้
"ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฐานะมหาวิทยาสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายในการผลิตพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มีหน้าที่ในการวางแผน ผลิต กำกับดูแลพัฒนาและประเมินพระสอนศีลธรรม อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการวางแผนและประสานงานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศได้จัดโครงการการพัฒนาประสิทธิภาพให้แก่พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เป็นหลักสูตรเฉพาะ เช่น เทคนิคการสอน การสร้างสื่อการสอน หรือวิทยาการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภายใต้โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มีการจัดอบรมเป็นการหลักสูตรต่างๆที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่พระสอนศีลธรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนศีลธรรมในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ดร.กมลาศกล่าว