ไลฟ์สไตล์

พม.จัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่23ถกปัญหาแรงงานเด็ก

พม.จัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่23ถกปัญหาแรงงานเด็ก

31 ต.ค. 2558

พม.จัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่23 ถกปัญหาแรงงานเด็ก และความเท่าเทียมทางเพศ

             กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัด ประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 23 ภายใต้หัวข้อ “ความเจริญรุ่งเรืองและวิกฤติ : วาทกรรมสังคมสงเคราะห์และนโยบายสังคม” มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ประกอบด้วย นักวิชาการด้านการศึกษาสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม นักวิชาการ นักศึกษา และอาสาสมัครที่ทำงานเกี่ยวข้อง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม

             พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิด การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 23 (The Joint Regional Conference APASWE & IFSW - ASIA Pacific, Bangkok, Thailand) ภายใต้หัวข้อ “ความเจริญรุ่งเรืองและวิกฤติ : วาทกรรมสังคมสงเคราะห์และนโยบายสังคม” ว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมของคนไทย ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสมาคมสถาบันการศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์แห่งเอเชียและแปซิฟิก สมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์แห่งเอเชียและแปซิฟิก และสมาคมสภาการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมไทย

             “เป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ของนักสังคมสงเคราะห์ นักสวัสดิการสังคม และผู้ปฏิบัติงานในองค์การสวัสดิการสังคมของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งการทบทวนพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมทั้งในเชิงวิชาการ และเชิงวิชาชีพในงานสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนการประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรือง และวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

             สำหรับประเด็นสำคัญในการประชุมมี 2 เรื่องหลัก คือ ประเด็นแรงงานเด็ก และประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งในเรื่องของ แรงงานเด็ก นั้น ในส่วนของประเทศไทย หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง คือกระทรวงแรงงาน แต่ในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะดูแลเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การใช้เด็กไปขายพวงมาลัยตามสี่แยก โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และช่วงเวลาในการทำงานของเด็กๆ

             ส่วนประเด็น ความเท่าเทียมกันทางเพศ นั้น ประเทศไทยจัดอยู่ในเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย ที่ให้การยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีกฎหมายรองรับความเป็นเพศอื่นๆ นอกจากเพศชาย และหญิง ภายใต้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมกันทางเพศ ถือเป็นความก้าวหน้าด้านการสังคมสงเคราะห์ในระดับเอเชีย

             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวด้วยว่า ประเด็นเหล่านี้ ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์จะต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับสถานการณ์ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลาย เนื่องจากขบวนการหาผลประโยชน์จากเด็ก มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างหลากหลายมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเอาผิดสำหรับความเท่าเทียมทางเพศ นักสังคมสงเคราะห์จะต้องปรับตัวในการทำงาน ต้องมองว่า เพศที่สาม คืออีกเพศหนึ่งที่สามารถสร้างคุณงามความดีให้แก่สังคมได้เช่นเดียวกับเพศอื่น

             “ข้อสรุปของการประชุมครั้งนี้ คือการพัฒนาวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ และนักสวัสดิการสังคม ให้ทันกับสภาพสังคม และปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป”