ไลฟ์สไตล์

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกตีทอง

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกตีทอง

15 พ.ย. 2558

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกตีทอง

 
                      สุดสัปดาห์ซึ่งตรงกับวันที่ 21-22 พฤศจิกายนนี้ จะมีงานใหญ่ประจำปีที่ผู้อ่านไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง เทศกาลดูนกเมืองไทย (Thailand Bird Fair) จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีที่ 14 โดยสมาคมอนุรักษ์และธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) มีธีมของงานคือ Birds in the city หรือนกในเมือง นกใกล้ตัวที่พบได้รอบๆ บ้านเรานั่นเอง ครั้งนี้ย้ายจากสถานตากอากาศบางปูที่จัดต่อเนื่องกันหลายปี มาเป็นสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งก็เข้ากับคอนเซ็ปต์ของงานในปีนี้เป็นอย่างดี
 
                      นกเมืองที่อยู่รอบตัวเรานั้นหลายชนิดมีความน่าสนใจมากทีเดียว บางชนิดมีสีสันสวยงามโดดเด่น มีเสน่ห์ไม่แพ้นกป่า นกประจำสัปดาห์นี้หาใช่นกที่พบเฉพาะในป่า แต่เป็นนกสามัญประจำบ้านที่ชื่อว่า นกตีทอง (Coppersmith Barbet) ซึ่งแม้จะพบได้ง่ายมากๆ คงเพราะมันมีขนาดเล็กและชอบเกาะสูง คนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยดูนกจึงมักตกตะลึงหลังจากได้ดูนกตีทองชัดๆ ผ่านกล้องส่องทางไกล ไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหมครับที่มันถูกเลือกเป็นหนึ่งในนกบนโลโก้ประจำงานด้วย
 
                      นกตีทองเป็นนกโพระดกที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ชื่อจากเสียงร้องประกาศอาณาเขตดัง “ต๊ง” ที่ก้องกังวานยาวต่อเนื่องคล้ายเสียงโลหะถูกกระทบ ลักษณะเด่นของมัน ได้แก่ หน้าผากและแถบอกสีแดงสด ใบหน้าสีเหลืองตัดกับแถบสีดำคาดตาและบริเวณรอบๆ ใบหน้า ท้องมีลายขีดหนายาวเป็นทาง ลำตัวด้านบนสีเขียวตุ่นกว่านกโพระดกชนิดอื่น นกวัยเด็กมีลวดลายคล้ายตัวเต็มวัย แต่ไม่มีสีแดงและแถบสีดำรอบๆ ใบหน้าของตัวเต็มวัย
 
                      ส่วนใหญ่นกโพระดกจะอาศัยอยู่ตามป่า ทำรังในโพรงต้นไม้เช่นเดียวกับนกหัวขวาน (woodpeckers) ซึ่งเป็นญาติกัน อาจพูดได้ว่ามีเพียงสองชนิดเท่านั้นที่ปรับตัวให้อาศัยอยู่ตามสวนได้ดี ก็คือนกโพระดกธรรมดา (Lineated Barbet) กับตีทอง แต่นกโพระดกธรรมดานั้นเหลือน้อยมากๆ แล้วในเมืองใหญ่อย่าง กทม. อาจเพราะไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่เป็นแหล่งให้มันเจาะโพรงทำรังวางไข่ แต่นกตีทองซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามากนั้นดูจะไม่มีผลกระทบอะไร ขนาดตัวที่ไม่ใหญ่ไปกว่านกกระจอกเอื้อให้มันสามารถทำรังในต้นไม้ที่ไม่สูงหรือใหญ่โตมาก
 
                      รังเก่าของนกตีทองมักกลายเป็นบ้านสำหรับสัตว์หรือนกชนิดอื่นๆ ที่ไม่สามารถเจาะโพรงเองด้วย นอกจากนี้มันยังมีส่วนช่วย “ปลูกต้นไม้” โดยการกินลูกไม้แล้วบินพาเมล็ดพืชติดตัวไปปล่อยในที่ห่างไกล หากพบเห็นต้นไม้ที่มีลูกไม้สุก ลองมองดูดีๆ อาจเจอนกตีทองกำลังหากินกันเต็มต้นก็เป็นได้
 
 
--------------------
 
 
นกตีทอง
 
 
ชื่ออังกฤษ  Coppersmith Barbet, Crimson-breasted Barbet
 
ชื่อวิทยาศาสตร์  Xantholaema haemacephala (Müller, 1776)
 
วงศ์ (Family)  Megalaimidae (วงศ์นกโพระดกเอเชีย)
 
อันดับ (Order)  Piciformes (อันดับนกหัวขวานและนกโพระดก)
 
 
--------------------