ไลฟ์สไตล์

ทาง(เลือก)รอด..การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 'แม่กำปอง'

ทาง(เลือก)รอด..การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 'แม่กำปอง'

13 ธ.ค. 2558

รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ทาง(เลือก)รอด..การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 'แม่กำปอง' : โดย...ธนชัย แสงจันทร์

 
                      ชุมชนบ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เป็นอีกชุมชนที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และวิถีชุมชน เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ เต็มไปด้วยต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่รายล้อม ทั้งเสียงน้ำตกและลำธารที่ไหลผ่าน แมกไม้อันเขียวขจี และไม้ดอกนานาพรรณที่ชูช่อชวนให้ชื่นชมตลอดสองข้างทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สร้างบรรยากาศแห่งการท่องเที่ยวและชวนให้ผู้ที่มาพบเห็น จะแชะ แชร์ ส่งต่อโซเชียลก็ทำได้
 
                      จากต้นทุนที่มีอยู่เดิมชุมชนบ้านแม่กำปอง จึงเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิม จากการเก็บใบเมี่ยง เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้บริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ กระทั่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อและสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้านและด้วยมนต์เสน่ห์บ้านแม่กำปอง ประกอบกับ “กระแสโซเชียล” ทำให้นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แวะเวียนมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก เกิดการท่องเที่ยวตามกระแส
 
                      บางครั้งบางคราวนักท่องเที่ยวก็มามากจนเกินจะตั้งรับไหว กระทั่งเกิดปัญหาในเรื่องการจัดการตามมา อย่างเช่น ช่วงวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา เส้นทางขึ้นแม่กำปองตลอดความยาว 10 กิโลเมตร เต็มไปด้วยรถยนต์ของนักท่องเที่ยว สถานที่ต่างๆที่จัดเตรียมไว้รองรับไม่เพียงพอ สร้างวิกฤติให้แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นี่ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ และเป็นปัญหาใหม่ของชาวบ้าน
 
                      ปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไรต่อไป เพราะฤดูกาลท่องเที่ยวของภาคเหนือก็มาถึงแล้ว... ?
 
                      อดีตพ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน) ชุมชนบ้านแม่กำปอง ธีรเมศว์ ขจรรัตนภิรมย์ (พรมมินทร์ พวงมาลา) กล่าวถึงทางออกว่า เพื่อป้องกันปัญหารถติดในช่วงวันหยุดยาว เช่น ช่วงเดือนธันวาคม และหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการหมู่บ้านและองค์การบริหารส่วนตำบลได้มีการหารือร่วมกันและวางแผนในการแก้ปัญหา คือ เตรียมเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัครกว่า 20 นาย ช่วยกันจัดการจราจร และจอดรถในสถานที่ต่างๆ ที่เตรียมไว้ให้ เช่น โรงเรียนบ้านแม่กำปอง ลานวัดแม่กำปอง และโครงการหลวงตีนตก หากจำนวนรถมากเกินกว่าที่จัดเตรียมไว้ก็จะอนุโลมให้จอดตามไหล่ทาง
 
 
ทาง(เลือก)รอด..การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ \'แม่กำปอง\'
 
 
                      “ต้องยอมรับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากจนเกิดความต้องการ ได้สร้างความหนักใจให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการเผยแพร่ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่ปลุกกระแสการท่องเที่ยวได้ดีเกิดคาด” อดีตพ่อหลวงชุมชนบ้านแม่กำปอง เล่า
 
                      ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว อดีตพ่อหลวงเล่าว่าจะให้น้ำหนักไปที่การจัดการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยการสร้างภูมิคุ้มกันการท่องเที่ยวชุมชนด้วยงานวิจัย เพราะปัญหาการท่องเที่ยวมีต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2543 ที่บ้านแม่กำปองหันมาเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และให้บริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ ปัญหาในเรื่องของการจัดการท่องเที่ยวก็เกิดขึ้น ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้าไปชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ ให้ทำการศึกษาวิจัยการจัดการการท่องเที่ยวที่ถูกต้อง ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
 
                      ด้วยกระบวนการวิจัย ทำให้เกิดชุดความรู้ในการแก้ไขปัญหา ในระยะแรกของการดำเนินการท่องเที่ยวในชุมชน บ้านแม่กำปองเกิดปัญหาที่สำคัญ คือชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวหรือการพัก ผลประโยชน์ที่เปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของตนเอง ไม่มีกฎระเบียบหรือมาตรการในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่เข้าใจการดูแลผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่ได้รับ
 
                      ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันทำวิจัย ภายใต้โครงการวิจัย การศึกษารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ประมาณปี 2544 โดยพ่อหลวงบ้านแม่กำปอง และทีมวิจัยชุมชน จากงานวิจัยนี้ ทำให้ชุมชนได้รูปแบบ แนวทางการปฏิบัติในการจัดการ การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม และมีการกำหนดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสม ตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวขึ้นมาบริหารจัดการโดยคนท้องถิ่น และสามารถรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 
                      อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2550-2551 การท่องเที่ยวในชุมชนยังพบว่ามีปัญหาและความต้องการหลายอย่างของชุมชน ที่เป็นผลกระทบจากการท่องเที่ยว ทำให้หมู่บ้านเริ่มพัฒนาถนนคอนกรีต ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นและคนภายนอกเข้ามาซื้อที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย นำไปสู่ปัญหานายทุนภายนอกเข้ามาลงทุนประกอบกิจการท่องเที่ยวในชุมชน ไม่ยอมรับกฎกติกาของชุมชน ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน ในขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มก็ไม่เข้าใจเรื่องการท่องเที่ยว
 
 
ทาง(เลือก)รอด..การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ \'แม่กำปอง\'
 
 
                      สำหรับปัญหาดังกล่าว ชุมชนบ้านแม่กำปอง ได้ค้นหาวิธีการแก้ไขโดยใช้ฐานคิดจากงานวิจัยเพื่อหาคำตอบร่วมกัน นั่นคือโครงการวิจัย เรื่อง “การค้นหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนผ่านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านแม่คำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่” โดย พรมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่กำปองและทีมวิจัยชุมชน
 
                      ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนมีเครื่องมือและกระบวนการในการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวรวมทั้งการรับมือกับสถานการณ์นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดการจัดทำโครงการวิจัยเรื่อง การจัดการขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน : บ้านแม่กำปอง ปี 2557 โดย ดร.ฐิติ ฐิติจำเริญพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวภาควิชาอุตสาหกรรมบริการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับทีมวิจัยชุมชนบ้านแม่กำปอง
 
                      อาจารย์ฐิติ ย้ำถึงแนวทางการปฏิบัติในการจัดการ การท่องเที่ยวโดยชุมชนว่า ด้วยกระบวนงานวิจัย ส่งผลให้ชาวบ้านแม่กำปองเกิดทักษะในการแก้ไขปัญหา และพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ชาวบ้านแม่กำปองยังตระหนักถึงและเห็นพ้องต้องกันว่าควรหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจากการวิจัยเพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชน ในทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกายภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมวัฒนธรรม และด้านสุขภาพ
 
                      โดยพัฒนากรอบแนวคิดการประเมินผลกระทบต่อชุมชนร่วมกับกลุ่มนักวิจัยที่เป็นนักวิชาการจากภายนอกชุมชน รวมไปถึงตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยว หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสาธารณสุขของชุมชน เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางและรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของชุมชนได้อย่างเป็นระบบ และสามารถดูแลจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน
 
                      เมื่อชุมชนมีทางออก ทางรอดของการท่องเที่ยว และความยั่งยืนในอนาคตก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
 
 
 
 
--------------------
 
(รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ทาง(เลือก)รอด..การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 'แม่กำปอง' : โดย...ธนชัย แสงจันทร์)