ไลฟ์สไตล์

แคทลียา'ควีนสิริกิติ์'(1) : หอมกลิ่นกล้วยไม้

แคทลียา'ควีนสิริกิติ์'(1) : หอมกลิ่นกล้วยไม้

27 ธ.ค. 2558

แคทลียา'ควีนสิริกิติ์'(1) : หอมกลิ่นกล้วยไม้ โดยศ.ระพี สาคริก

          ความรู้สึกของสังคมมนุษย์ ไม่ว่าชาติไหนภาษาไหนในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมองไปยังสตรีเพศมักมีแนวโน้มเชื่อมโยงไปถึงดอกไม้ ซึ่งคงไม่เพียงสีสันอันสวยสดงดงามเท่านั้น หากยังแฝงไว้ด้วยความละเอียด นุ่มนวลและอ่อนหวาน ที่ปรากฏอยู่ในจิตวิญญาณเป็นธรรมชาติ ซึ่งบุรุษเพศหากไม่มีจิตใจทารุณโหดเหี้ยมและเห็นแก่ตัวจนเกินไป ย่อมให้ความปรานีทะนุถนอม แม้มีการนำมาใช้ประโยชน์ย่อมเป็นธรรมดาของโลก แต่อีกด้านหนึ่งย่อมรู้ได้ถึงคุณค่า ช่วยฝึกอบรมให้เป็นผู้รู้เหตุรู้ผล รู้จักความพอดีพองามที่หวนกลับมาพัฒนาคุณภาพในรากฐานชีวิตตนเองด้วย

          จากกระแสวัฒนธรรมในอดีต ยิ่งเป็นดอกกล้วยไม้ด้วย ดูจะยิ่งรู้สึกว่ามีความสูงส่งเป็นพิเศษ เนื่องจากภาพสะท้อนที่เห็นได้สัมผัสได้จริง ทำให้ความเข้าใจที่ผ่านพ้นมาแล้วรู้สึกว่า เป็นดอกไม้ที่บานประดับความสวยงามของบรรยากาศธรรมชาติ โดยมีรากฐานอยู่เหนือพื้นดิน สูงกว่าพรรณไม้อื่นๆ

          ดังจะพบได้ แม้ในกระแสวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศตะวันตกก็มีการนิยมนำชื่อสตรีในราชวงศ์กษัตริย์มาตั้งเป็นชื่อกล้วยไม้ ซึ่งเป็นผลจากการผสมขึ้นโดยคน ในช่วงถัดมาอย่างต่อเนื่องกัน

          กล้วยไม้เป็นพันธุ์ไม้ที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติทั่วทุกแห่งในโลก เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวยให้พืชพรรณต่างๆ สามารถเกิดและดำรงอยู่ได้ตามปกติวิสัย ในด้านวิชาการพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ได้รับการจัดจำแนกประเภทไว้ใน "พืชใบเลี้ยงเดี่ยว” ด้วยหลักการใหญ่ๆ เช่นเดียวกันกับพืชในกลุ่ม "ขิงและข่า” ทั้งหลาย หากมีโครงสร้างของลักษณะดอกที่อยู่ในกรอบซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่า เป็น "พืชในวงษ์กล้วยไม้” (Family:Orchidaceae)

          ไม่เพียงการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมทั่วโลกเท่านั้น หากกล้วยไม้ยังมีลักษณะที่หลากหลาย และมีอุปนิสัยในการเจริญงอกงามแตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญคือ แต่ละชนิดจำเป็นต้องเหมาะสมกับการเจริญอยู่ได้ดี ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติของแหล่งกำเนิดที่ไม่เหมือนกัน โดยที่วงศ์กล้วยไม้นี้ พบขึ้นอยู่ทั่วโลกในบริเวณซึ่งพืชพรรณต่างๆ สามารถขึ้นได้

          อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ แหล่งกำเนิดของโลก ซึ่งพบพันธุ์กล้วยไม้ป่าหนาแน่นที่สุด โดยที่มีมากทั้งปริมาณและชนิด คือแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นเขตร้อนของโลก หากเป็นดินแดนที่ก่อกำเนิดมากับธรรมชาตินานมากพอที่พันธุ์ไม้กลุ่มนี้มีโอกาสเกิดและกระจายพันธุ์ได้

          ในบรรดาแหล่งกำเนิดสองแหล่งใหญ่ๆ ของโลก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีพอสมควรอยู่แล้วคือ ทวีปเอเชีย และอเมริกา โดยเฉพาะในเขตร้อน เช่นเดียวกันกับกล้วยไม้ในสกุลหวาย (Dendrobium) แวนด้า (Vanda) และฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis) ซึ่งมีอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียและได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางแคทลียา (Cattleya) ก็เป็นสกุลกล้วยไม้ที่ถือแหล่งกำเนิดธรรมชาติ อยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา และสะท้อนภาพความเป็นมาให้รู้สึกมาแล้วในอดีตว่า เป็นสกุลหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น และยังมีผลลัพธ์ไปถึงอีกหลายสกุลในท้องถิ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคมมนุษย์ในช่วงหลังๆ

          หากศึกษาจากประวัติความเป็นมาของกล้วยไม้ที่เข้ามามีบทบาทสัมพันธ์ถึงชีวิตมนุษย์ เราคงพบว่า สังคมของกลุ่มประเทศไทยในเขตอบอุ่น เน้นความสำคัญไปยังยุโรปตะวันตก ซึ่งในกระแสวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มนี้ มีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีนำหน้าไปก่อน ได้ใช้ข้อได้เปรียบและสิ่งซึ่งเป็นผลจากการประดิษฐ์คิดค้นกับการกำหนดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ โดยที่นำเอาวัตถุจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ใช้เป็นเครื่องมือออกล่าดินแดนในส่วนอื่นๆ ของโลก เพื่อหวังนำทรัพยากรที่พบเพิ่มเติมจากต่างถิ่นมาใช้พัฒนาภายใต้กระแสอำนาจแห่งตน

          จึงมีการนำพันธุ์กล้วยไม้ป่าจากแหล่งกำเนิดทั้งในทวีปเอเชียและจากอเมริกา ซึ่งในช่วงนั้นกล้วยไม้สกุลแคทลียาเป็นสกุลหนึ่งที่ได้รับการเชิดชูความสำคัญเด่นชัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประวัติการนำกล้วยไม้มาปลูกและพัฒนา ที่เริ่มต้นขึ้นในสังคมกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกบนฐานเทคโนโลยีท้องถิ่น

 

"""""""""""""""""""""""""""""""

 

(หมายเหตุ : ภาพจาก https://th.wikipedia.org/wiki/แคทลียาควีนสิริกิติ์#/media/File:Queen_Sirikit_Cattleya.gif)