ไลฟ์สไตล์

ภาษาไทยวิกฤตอ้างราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์สุดเพี้ยน

ภาษาไทยวิกฤตอ้างราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์สุดเพี้ยน

27 ก.ค. 2552

ภาษาไทยวิกฤตโดนนักท่องเว็บป่วนอ้างราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์สุดเพี้ยน ล้อเลียนสองแง่สามง่าม เรียก Microsoft ว่า จิ๋วระทวย Joystick ว่า แท่งหฤหรรษ์ ส่วน PowerPoint เรียก จุดอิทธิฤทธิ์ ราชบัณฑิตเผยไม่เคยบัญญัติศัพท์กำกวม หยาบคาย เสนอออกประกาศเผยแพร่ศั

 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552  ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจต่าง ๆ และการศึกษาข้อมูลพบว่าสถานการณ์การใช้ภาษาไทยคนของไทย โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ดารา สื่อมวลชน อยู่ในสภาวะวิกฤตและน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นนิยมใช้คำศัพท์แสลง คำผวน คำแปลกๆ ที่ไม่ถูกกาลเทศะ คำหยาบคาย และที่สำคัญนำภาษาต่างประเทศมาผสมกับภาษาไทยกลายเป็นคำแปลกที่ไม่มีความหมาย และผิดหลักเกณฑ์ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะหากปล่อยไว้ในอนาคตเด็กก็จะแยกไม่ออกว่าคำไหนเป็นคำไทยแท้ และคำไหนเป็นคำที่วัยรุ่นบัญญัติขึ้นเอง

 ศ.ดร.กาญจนา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการโพสคำศัพท์ของคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ต่างๆ และอ้างว่าเป็นคำศัพท์ที่ราชบัณฑิตบัญญัติขึ้น เช่น จิ๋วระทวย แปลมาจากคำว่า Microsoft, แท่งหฤหรรษ์ แปลจาก Joystick, พหุบัญชร แปลมาจาก Windows, จุดอิทธิฤทธิ์ แปลจาก PowerPoint, พหุอุบลจารึก แปลจาก Lotus Notes, ภัทร แปลจาก Excel, ปฐมพิศ แปลจาก Visual Basic, พหุภาระ แปลจาก Multitasking, แท่งภาระ แปลจาก Taskbar, สรรค์ใน แปลจาก Build และ ยืนเอกา แปลจาก Standalone เป็นต้น โดยมีการโพสต์ที่มาคำว่า “จิ๋วระทวย” ว่า Microsoft นั้น Micro แปลว่า เล็ก จิ๋ว ส่วน soft นั้นแปลว่า อ่อนนุ่น ดังนั้น จิ๋วระทวย หมายถึง Microsoft

 ศ.ดร.กาญจนา กล่าวต่อไปว่า ขอชี้แจงว่าการบัญญัติคำศัพท์คอมพิวเตอร์ของราชบัณฑิตมีคณะกรรมการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์เป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าว สำหรับการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์จะไม่ใช้ภาษากำกวม หยาบคาย หรือสองแง่สองง่าม ทั้งนี้หลักการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์จะมีเฉพาะบางคำที่บัญญัติขึ้นใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเรียกทับศัพท์

 “การโพสคำศัพท์คอมพิวเตอร์และอ้างว่าเป็นคำที่ราชบัณฑิตบัญญัติขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จึงอยากเตือนผู้ที่โพสข้อความลักษณะดังกล่าวให้เลิกการกระทำเสีย เพราะจะเป็นการสร้างความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ เช่น คำว่า ละมุนพรรณ หมายถึง Software ตามความหมายที่แท้จริงของภาษาไทยต้องใช้คำว่า ส่วนชุดคำสั่ง ส่วนคำว่า กระด้างพรรณ หมายถึง Hardware ในความหมายที่แท้จริงแบ่งออกเป็น 2 ความหมาย คือ ส่วนเครื่อง และส่วนอุปกรณ์, ฮาร์ดแวร์ ดังนั้นเพื่อป้องกันความสับสนในการใช้ภาษา ดิฉันจะเสนอให้ราชบัณฑิตควรออกประกาศ ทำความเข้าใจและเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ ป้องกันประชาชนสับสน”ราชบัณฑิต กล่าว