ไลฟ์สไตล์

456 ปี จาก 'ไชยเชษฐาธิราชเจ้า' ถึงชาวประชาคมอาเซียน

456 ปี จาก 'ไชยเชษฐาธิราชเจ้า' ถึงชาวประชาคมอาเซียน

10 ม.ค. 2559

ท่องไปกับใจตน : 456 ปี จาก 'ไชยเชษฐาธิราชเจ้า' ถึงชาวประชาคมอาเซียน : โดย ... ธีรภาพ โลหิตกุล [email protected]

 
                      ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เราเปิดศักราชใหม่พร้อมกับสถานะใหม่ คือการเป็นประชากรแห่ง “ประชาคมอาเซียน” (AC-ASEAN Community) อย่างเป็นทางการ จึงอยากชวนท่านผู้อ่านไปเยี่ยมเยือนประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดสนิทสนมที่สุด และการเดินทางก็สะดวกสบายสุดๆ ถึงขั้นมีรถโดยสารประจำทางของบริษัทขนส่ง หรือรถทัวร์ บขส. เปิดบริการจากต้นทาง 4 จุด คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย มุ่งสู่จุดหมายคือนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว และยังมีบริการจากต้นทางจ.เชียงใหม่ และจ.เลย มุ่งสู่หลวงพระบาง เมืองมรดกโลกและอดีตราชธานีของลาวด้วย (คอลเซ็นเตอร์ 1490)
 
                      พูดถึง นครหลวงเวียงจันทน์ หลายท่านคงนึกถึงพระธาตุหลวง ประตูชัย หอพระแก้ว ฯลฯ ซึ่งทีวีแทบทุกช่องพาไปชม ช็อป ชิม และแชะ กันบ่อยๆ อยู่แล้ว จึงอยากนำท่านไปเจาะลึกเรื่องราวของวีรกษัตริย์แห่งประชาชาติลาว คือ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า ซึ่งพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ ประดิษฐานโดดเด่นอยู่เบื้องหน้าพระธาตุหลวงเวียงจันทน์นั่นเอง ด้วยพระองค์ไม่เพียงแต่เป็นผู้สถาปนาเวียงจันทน์เป็นราชธานีตั้งแต่ 456 ปีก่อน แต่ยังทรงสร้างพระธาตุหลวงให้งามสง่าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และที่สำคัญคือทรงเป็นเจ้ามหาชีวิตล้านช้างที่มีสายสัมพันธ์กับชนชาติไทย ทั้งที่ลุ่มน้ำปิง คืออาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ และลุ่มเจ้าพระยา คือกรุงศรีอยุธยา
 
                      จนผมเคยเสนอความเห็นว่า ยุคสมัยที่เรารวมตัวเป็นครอบครัวเดียวกันในนาม “ประชาคมอาเซียน” เช่นวันนี้ หากจะมีการลงทุนสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้ชาวประชาคมมีความรักความเข้าใจกันสักเรื่องหนึ่ง ผมเสนอเรื่อง “ไชยเชษฐาธิราชเจ้า” เป็นปฐมฤกษ์ เพราะเหตุใด จะเล่าให้ฟัง
 
                      สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า (พ.ศ.2077-2115) มีพระนามเดิมว่า “เจ้าเชษฐวังโส” ทรงเป็นพระโอรสในพระโพธิสารราชเจ้าแห่งเชียงทองราชธานี (ปัจจุบันคือ หลวงพระบาง) ส่วนพระราชมารดา คือพระนางยอดคำทิพย์ (เจ้านางหลวงคำผาย) พระธิดาในกษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่ ซึ่งเหตุแห่งการเป็นเครือญาติกันระหว่างล้านนากับล้านช้าง ก็ช่างงามงดยิ่งนัก เริ่มจากทางราชสำนักล้านนาเชียงใหม่ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเชียงทองราชธานี แล้วเจ้ามหาชีวิตล้านช้างให้การต้อนรับสมณทูตอย่างอบอุ่นสมพระเกียรติ จึงตกลงกินดองเป็นทองแผ่นเดียวกัน แล้วจึงมีเจ้าเชษฐวังโส เป็นราชบุตร
 
                      ต่อมา ราชสำนักเชียงใหม่เกิดปัญหาเรื่องการสืบราชบัลลังก์ จึงร้องขอมายังราชสำนักล้านช้าง ให้เจ้าเชษฐวังโส ขณะพระชนมายุ 14 พรรษา เสด็จจากเชียงทองไปครองล้านนาเชียงใหม่ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาได้ราวหนึ่งปี (พ.ศ.2089-2090) แล้วจำต้องเสด็จกลับเชียงทอง เมื่อพระราชบิดา คือพระโพธิสารราชเจ้า เสด็จสวรรคตกะทันหัน แล้วเกิดความวุ่นวายจากการแย่งชิงราชบัลลังก์เช่นกัน จึงทรงกลับไปจัดการบ้านเมืองจนสงบสุข แล้วทรงครองแผ่นดินล้านช้างตั้งแต่ พ.ศ.2091 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชย์บัลลังก์กรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
 
 
456 ปี จาก \'ไชยเชษฐาธิราชเจ้า\' ถึงชาวประชาคมอาเซียน
 
 
                      ทว่า จุดผกผันในรัชสมัยของทั้งสองพระองค์ เกิดขึ้นในปี 2094 เมื่อบุเรงนองกะยอดินนรธาเถลิงอำนาจเป็นพระเจ้ากรุงหงสาวดีอันเกรียงไกร พร้อมกับการขยายอำนาจสู่ดินแดนรอบข้าง ด้วยการกำราบมอญ ไทยใหญ่ ยะไข่ แล้วยึดครองล้านนาเชียงใหม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 2101 และมีแนวโน้มจะรุกคืบเข้ายึดอาณาจักรล้านช้าง พระไชยเชษฐาธิราชเจ้าจึงตัดสินพระทัยย้ายราชธานีจากเชียงทองสู่เวียงจันทน์ ในปี 2103 เพื่อหลีกหนีการรุกคืบดั่งพายุโหมของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อ “เชียงทอง” เป็น “หลวงพระบาง” อันมีความหมายถึงการอัญเชิญพระพุทธคุณแห่งพระพุทธรูปพระบาง มาช่วยปกปักรักษาเมืองนี้จากภยันตรายทั้งปวง
 
                      และในปีเดียวกันนั้น ยังทรงทำสัญญาพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งยามนั้นก็กำลังประหวั่นพรั่นพรึงกับแสนยานุภาพของกองทัพพระเจ้าหงสาวดีเช่นกัน วิธีการทำสัญญาคือต่างฝ่ายก็ส่งช่างและแรงงานไปช่วยกันสร้างเจดีย์หรือพระธาตุขึ้นองค์หนึ่ง ตรงรอยต่อเขตแดนอยุธยากับล้านช้าง โดยเลือกชัยภูมิที่เป็นเนินสูงเหนือลำน้ำหมัน ที่มีต้นรักหรือต้นฮักสองต้น โน้มกิ่งเข้าหากัน เรียกพระธาตุนั้นว่า “พระธาตุศรีสองรัก” หรือ “ศรีสองฮัก” แล้วกระทำสัตยาธิษฐานว่าจะเป็นมิตรไมตรีกัน โดยนำน้ำในกระออมแก้ว-กระออมทอง ของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองมาเจือปนกันเป็น “น้ำแห่งสัจจะ” แล้วทรงร่วมกันหลั่งรดลงบนพื้นดิน และตรัส..
 
                      “..ขอจงเอาเป็นเอกสีมาปริมณฑล เป็นอันเดียวกัน เกลี้ยงกลมงามมณฑลเท่าพงศ์พันธุ์ ลูกเต้าหลานเหลน อย่าได้ชิงช่วงล่วงด่านแดนแสนหญ้า อย่าได้กระทำโลภเลี้ยวแก่กันจนเท่าเสี้ยง พระอาทิตย์พระจันทร์ตกลงมาอยู่เหนือแผ่นดินอันนี้เทอญ" (ศิลาจารึกพระธาตุศรีสองรัก)
 
                      ถึงแม้ว่าในที่สุด อาณาจักรล้านนาและกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่อาจรอดพ้นเงื้อมมือของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง โดยในปี 2106 กรุงศรีอยุธยาพ่ายสงครามช้างเผือก และจำต้องส่ง “พระองค์ดำ” (สมเด็จพระนเรศวร) ไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ซึ่งตำราประวัติศาสตร์เมียนมาร์ ถือว่ากรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่หนึ่งในครั้งนั้น ส่วนความพ่ายแพ้ในปี 2112 (ที่ตำราไทยถือว่าเสียกรุงครั้งที่ 1) ฝ่ายเมียนมาร์ถือเป็นการทำสงครามเพื่อกำราบบรรดาประเทศราชที่กระด้างกระเดื่อง ส่วนอาณาจักรล้านช้าง ก็ถูกทัพหงสาวดีเข้ายึดครองในปี 2115 อันเป็นปีสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า
 
                      อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาพระราชไมตรีศรีสองรัก จะมิอาจคุ้มครองทั้งสองแผ่นดินไว้ได้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่า เป็นการทำสัญญาพระราชไมตรีที่งดงาม และสร้างสรรค์มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยปัจจุบัน พระธาตุศรีสองรัก อยู่ในเขตอ.ด่านซ้าย จ.เลย ดินแดนที่มีงานประเพณี “บุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน” ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน อันเอิกเกริกและโด่งดังระดับโลก จากภูมิปัญญาของชาวอ.ด่านซ้าย หรือชาวไทด่าน ซึ่งก็คือชุมชนที่เกิดขึ้นจากการที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ส่งผู้คนจากเวียงจันทน์และอยุธยามาคอยดูแลพระธาตุศรีสองรัก ดังปรากฏหลักฐานว่า บุคคลที่ชาวบ้านยอมรับให้เป็นผู้กำหนดวันจัดงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในแต่ละปี มิใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ หากเป็น “เจ้าพ่อกวน” และ “แม่นางเทียม” ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวด่านซ้าย ซึ่งเชื่อกันว่าสืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าคณะผู้ดูแลพระธาตุศรีสองรักที่กษัตริย์สองแผ่นดินแต่งตั้งไว้เมื่อ 456 ปีที่แล้ว สืบทอดกันมาตราบจนวันนี้
 
                      เรื่องอย่างนี้ เหมาะควรจะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ในยุคสมัยแห่งการสถาปนาประชาคมอาเซียนหรือไม่ โปรดพิจารณา
 
 
 
 
---------------------
 
(ท่องไปกับใจตน : 456 ปี จาก 'ไชยเชษฐาธิราชเจ้า' ถึงชาวประชาคมอาเซียน : โดย ... ธีรภาพ โลหิตกุล [email protected])