ไลฟ์สไตล์

สคช.เร่งยกระดับคุณวุฒิคนไอที...รับเปิดประชาคมอาเซียน

สคช.เร่งยกระดับคุณวุฒิคนไอที...รับเปิดประชาคมอาเซียน

16 ม.ค. 2559

สคช.เร่งยกระดับคุณวุฒิคนไอที...รับเปิดประชาคมอาเซียน

            ประเทศไทยมีเป้าหมายพัฒนาให้คนไทยสามารถใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานได้ถึงร้อยละ 50 ของคนทั้งประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อันเป็นกลไกสำคัญที่จะยกระดับความก้าวหน้าและอัตราผลผลิตของกำลังคนในประเทศไทย จึงร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ‘จัดทำมาตรฐานอาชีพ’ อีกทั้งยังรับรองทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคคลด้วยการสร้างมาตรฐานในการวัดสมรรถนะเพื่อรับรอง ‘คุณวุฒิวิชาชีพ’
 
            ล่าสุด สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ปรึกษาโครงการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนจากสมาคมสมาพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านไอซีทีไทย ร่วมจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ แบ่งเป็น 6 กลุ่มสาขาอาชีพ ครอบคลุม 26 อาชีพ ประกอบด้วย 1.สาขาซอฟต์แวร์และการประยุกต์ 2.สาขาฮาร์ดแวร์ 3.สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม 4.สาขาเครือข่ายและความปลอดภัย 5.สาขาบริหารโครงการสารสนเทศ และ 6.สาขาแอนิเมชั่น

            วีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ข้อมูลตัวเลขจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ปัจจุบันมีบุคลากรในสายงานนี้ จำนวน 5 แสนคน คาดว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในบริษัทซอฟต์แวร์ ประมาณ 35,000 คน ซึ่งขณะเดียวกัน ตามแผนงานของกระทรวง ระหว่างปี ค.ศ.2011-2020 ตั้งเป้าหมายว่า ให้คนไทยสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เช่น ไมโครซอฟท์เวิร์ด เอ็กเซล ใช้อินเทอร์เน็ตเป็น สืบค้นข้อมูลได้ คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ สิ่งที่ สคช.กำลังเร่งดำเนินการคือ จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ 6 กลุ่มสาขาอาชีพข้างต้น เพื่อรองรับบุคลากร 5 แสนคน ที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านคนในอนาคต

            "สคช.ได้นำหลักเกณฑ์ของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่นมีการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพไอที ผ่านมาตรฐานที่เรียกว่า “ไอทีพาสปอร์ต” (IT Passport) แบ่งความรู้เป็น 6 ด้าน โดยที่แต่ละคนมีความรู้ทั้ง 6 ด้าน เพียงแต่ว่า จะมีสัดส่วนด้านใดมากกว่า ในการสมัครเข้าทำงานของประเทศญี่ปุ่น ทุกคนต้องผ่านการวัดระดับความรู้ด้านนี้ หากได้ระดับ 2 หมายความว่า พอทำงานได้ ส่วนระดับ 3 คือทำงานได้ทันที" ผู้อำนวยการ สคช. กล่าว

            เมื่อให้นักศึกษาไทยที่เรียนจบการศึกษา ระดับปริญญาตรี เข้าทดสอบไอทีพาสปอร์ตของญี่ปุ่น พบว่า ได้ระดับ 2 เนื่องจากเกณฑ์ของญี่ปุ่นสูงกว่าไทย ดังนั้น สคช.จึงนำมาตรฐานของญี่ปุ่น มาบวกเกณฑ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อนำมาปรับใหม่ และใช้เป็นเกณฑ์สำหรับคนไทย ซึ่งจะต่ำกว่าเกณฑ์ไอทีพาสปอร์ตของประเทศญี่ปุ่นเล็กน้อย

            ส่วนเกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่มีการทดสอบความรู้ด้านไอทีเหมือนญี่ปุ่น แต่เรียกว่า TOPCIT โดยเฉลี่ยคนเกาหลีสอบได้ 200 คะแนน จาก 1,000 คะแนน สคช.เคยใช้เกณฑ์ของเกาหลีใต้ทดสอบนักศึกษาและคณาจารย์สถาบันอาชีวศึกษาบางแห่ง ซึ่งทุกคนบอกว่ามีประโยชน์มาก

            วีระชัย กล่าวว่า บริษัทในเกาหลีใต้ไม่ได้บังคับว่า ผู้สมัครงานต้องมีผลสอบ TOPCIT หรือต้องสอบได้คะแนนเท่าไร และปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านนี้ มีผลต่อการพิจารณารับเข้าทำงาน ส่วนคนที่สอบได้คะแนนน้อย มักจะกลับไปพัฒนาตนเอง ยกตัวอย่าง การนำไปใช้ประโยชน์ที่ สคช.ดำเนินการ เช่น การรับรองวิชาชีพคนเปิดร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หากลูกค้าต้องการให้ผู้ขายประกอบคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง ช่างควรมีความรู้พื้นฐานใดบ้าง เช่น ต่อเน็ตเวิร์กเป็น รู้ระบบรักษาความปลอดภัย หากผู้ขายมีใบรับรองคุณวุฒิจะทำให้ลูกค้าทราบว่า ผู้ขายมีคุณสมบัติในการทำงานตามที่ต้องการ เกิดความมั่นใจมากขึ้น แต่ระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราไม่ทราบว่า ช่างมีความรู้ตามหลักการที่ถูกต้องจริงหรือไม่

            โดยขณะนี้ สคช. มีโครงการจะทดสอบคุณวุฒิข้างต้นกับพนักงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เพื่อเป็นการยกระดับความเชี่ยวชาญและความชำนาญการของบุคลากรในองค์กรให้มีความพร้อมและทราบถึงศักยภาพของตนเองในการทำงาน

            ข้อดี คือ บริษัทจะได้ทราบว่า พนักงานแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญด้านใดมากเป็นพิเศษ หากโยกย้ายพนักงานเปลี่ยนไปทำงานตำแหน่งดังกล่าว จะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตัวพนักงานเองจะได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ

            ล่าสุด สคช.ได้รับนโยบายจากรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล สคช. ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลจะทำอย่างไรจะให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาด้าน ไอทีสามารถใช้ไอทีได้ ให้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนเวลาเขียนใบสมัครงานแล้วมีข้อความให้กรอกว่า มีความรู้ภาษาอังกฤษระดับใดพูดง่ายๆ คือ ในอนาคต ผู้สมัครงานต้องกรอกข้อความว่า “มีความรู้ไอที” ระดับใดด้วยในส่วนนี้ สคช. กำลังเจรจากับทางเกาหลีใต้ ซึ่งมีแนวโน้มจะร่วมมือด้วย เนื่องจากเกาหลีใต้กำลังทำคุณวุฒิด้านไอทีให้แก่คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษา

            ส่วนกลุ่มเป้าหมายในสถาบันการศึกษา ทางสถาบันได้ทำมาตรฐาน 6 สาขา และส่งรายละเอียดในการประเมินให้แก่มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะที่ร่วมงานด้วย รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษา โดยองค์กรที่ร่วมรับรองสมรรถนะบุคคล ตามมาตรฐานอาชีพ สาขาไอซีที เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตภูเก็ต ให้ความสนใจและมีท่าทีตอบรับ เพราะต้องการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของบริษัทเอกชนผู้จ้างงานเช่นกัน

            “การยกระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรสายไอที เป็นภารกิจเร่งด่วน ผมคิดว่า คนมองเห็นความสำคัญ แต่ไม่มีกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น เราทำจนกระทั่ง ณ วันนี้เรามีแนวคิดต่อยอดสำหรับคนไม่จบไอทีมา คุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรากลับเอามาทำมาตรฐาน ดูว่าเขาต้องมีสมรรถนะใดบ้าง เราให้คนที่ไม่มีความรู้ด้านไอทีมาร่วมด้วย เพราะเขาเป็นผู้ใช้ ผู้ใช้จะบอกเลยว่าต้องการคนทำงานที่มีคุณสมบัติใดบ้าง เช่น เด็กจบอาชีวะควรมีความสามารถขนาดไหนด้านไอที คือต้องสร้างมาตรฐานทุกอาชีพ เมื่อสร้างได้แล้ว ก็ทดสอบให้ได้ สิ่งที่เราทำทั้งหมดไปจบที่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2559 นี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมของคนไว้แค่ไหน บุคลากรที่ผลิตมาได้มาตรฐานจริงหรือเปล่า เราจึงต้องเอามาตรฐานต่างประเทศมาเทียบ...ในอาเซียน 9 ประเทศ เหมือนเขามีใบรับรอง เราจะเชื่อได้อย่างไร ของเราก็ต้องมี จึงต้องยึดโยงกับมาตรฐานของประเทศอื่น อย่างสิงคโปร์มี 9 ระดับ สถาบัน มี 7 ระดับ คือแต่ละประเทศมีกี่ระดับก็ได้ แต่ทุกประเทศจะพิจารณาคุณสมบัติของบุคลากร จากสิ่งที่เราคุยข้างต้น และเปรียบเทียบกันเอง” ผู้อำนวยการ สคช. กล่าว