
ช่างวิสูตร แย้มยืนยงค์ผู้สร้างตำนานหล่อพระดังร้อยวัดพันรุ่น
ช่างวิสูตร แย้มยืนยงค์ผู้สร้างตำนานหล่อพระดัง'ร้อยวัดพันรุ่น' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
การหล่อพระพุทธรูปเป็นงานศิลปกรรมแขนงหนึ่งของชาวไทยซึ่งมีมาตั้งแต่ดั้งเดิมครั้งโบราณ พระพุทธรูปแต่ละสมัยจะมีเอกลักษณ์และความสวยงามที่แตกต่างกันไป การสร้างพระพุทธรูปเป็นงานที่มีความยากลำบากและสลับซับซ้อน ผู้สร้างต้องมีความสามารถและมีใจรักทางด้านศิลปะ การหล่อพระพุทธรูปเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมของชาวไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชุมชนหนึ่งในธนบุรีเป็นชุมชนที่สืบทอดศิลปกรรมในการปั้นหล่อพระพุทธรูปให้แก่กรุงธนบุรีและเกาะรัตนโกสินทร์ คือ “ชุมชนบ้านช่างหล่อ”
บรรพบุรุษของชาวบ้านช่างหล่อเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา มีอาชีพหล่อพระพุทธรูปมาแต่เดิม ภายหลังเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า และย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ชาวบ้านกลุ่มนี้อพยพตามมาด้วย และตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในละแวกตรอกบ้านช่างหล่อ (เขตบางกอกน้อย) และดำเนินอาชีพปั้นและหล่อพระพุทธรูปสืบมา เดิมชาวบ้านช่างหล่อมีอาชีพเดียวกันหมด และเป็นเครือญาติพี่น้องสืบสกุลต่อเนื่องกันมา อาทิ สกุลพวกช่างปั้น ช่างหล่อ ช่างเททอง ช่างขัด ช่างลงรักปิดทอง ช่างติดกระจก
ชาวบ้านช่างหล่อมีความสามัคคีกัน เมื่อบ้านใดรับงานใหญ่ๆ มา บ้านอื่นจะมาร่วมงานช่วยกันทำจนได้ผลงานที่สวยงาม ช่างแต่ละสกุลร่วมงานกันด้วยดีเพราะต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านร่วมกัน
การหล่อ การเททอง จะมีขี้เถ้าและเปลวไฟจากโรงหล่อกระเด็นไปตกในบ้านเรือนผู้อื่น ต่อมามีการออกกฎหมายให้พื้นที่บริเวณบ้านช่างหล่อเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ห้ามทำโรงงานอุตสาหกรรม หรือหากทำต้องก่อกำแพงให้มิดชิด ซึ่งต้องลงทุนมาก ทำให้โรงหล่อต่างๆ ในชุมชนบ้านช่างหล่อต้องปิดกิจการ หรือย้ายไปอยู่บริเวณอื่นๆ ปัจจุบันไม่มีโรงหล่อเหลืออยู่ในชุมชนบ้านช่างหล่อเลย โรงหล่อเดิมจึงเป็นเพียงสำนักงานเพื่อติดต่องาน ปัจจุบันชุมชนบ้านช่างหล่อจึงเหลือแต่เพียงชื่อเท่านั้น
“ทั้งเหรียญและพระรูปหล่อลอยองค์ที่ผมเททองนั้นน่าจะอยู่ในหลักสิบล้านองค์ แต่จำไม่ได้เลยว่ามีวัดและรุ่นไหนบ้าง” นี่คือฝีมือและผลงานของช่างวิสูตร แย้มยืนยงค์ ผู้สืบทอดการหล่อจากช่างพิน หรือช่างดำ แห่งบ้านช่างหล่อ
ช่างวิสูตร เกิดในชุมชนบ้านช่างหล่อ ใบเกิดยังเป็นจังหวัดธนบุรีอยู่เลย ไม่ได้จบการศึกษามาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงที่ไหน เพียงแต่เกิดมาก็อยู่ในบ้านช่างหล่อชนิดที่เรียกว่าตั้งแต่จำความได้ หล่อพระมาตั้งแต่ทองเหลืองราคากิโลกรัมละ ๘-๑๐ บาท ไม่ได้มีแบบสำเร็จรูปอย่างปัจจุบัน ต้องไปซื้อเศษทองมาจากร้านของเก่ามาหลอมมาสกัดอีกครั้งหนึ่ง
“ผมปั้นหุ่น ทำแบบ พร้อมกับหล่อให้ดูก่อน ถ้าไม่พอใจ หล่อแล้วไม่เหมือนไม่ต้องจ้างผม และผมไม่คิดค่าปั้นแบบ ทำพิมพ์ รวมทั้งค่าเทเป็นตัวอย่างด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ช่างปั้นที่เป็นโรงหล่อด้วยนั้นมีน้อย ส่วนใหญ่จะแยกกัน ผมไม่อยากบีบบังคับใครให้จ่ายเงินจ้าง ที่มาปั้นให้ดูแล้วไม่เอาก็มีไม่น้อย เพราะคิดอยู่เสมอว่า ใครๆ ก็อยากได้ของดี ใครๆ ก็อยากได้ของที่ถูกใจตัวเองมากที่สุด ไม่ต้องจ่ายเงินก่อน แต่เก็บเฉพาะเนื้อโลหะมีค่า อย่างเนื้อทองคำ เนื้อเงิน” นี่เป็นหลักในการรับงานหล่อพระของช่างวิสูตรตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ช่างวิสูตร พูดไว้อย่างน่าคิดว่า ความไม่รู้ของคนอย่างหนึ่ง คือ การทำลายบล็อก แต่แท้ที่จริงแล้วการสร้างมีการถอดพิมพ์ด้วยบล็อกยาง แม้ว่าจะทำลายพิมพ์แล้ว หากยังมีบล็อกยางอยู่ก็สามารถไปสร้างพระให้เหมือนบล็อกที่ถูกทำลายนั้นไม่ใช่เรื่องยาก การทำลายบล็อกเป็นเพียงการสร้างภาพเท่านั้น ทำลายหรือไม่ทำลายไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการสร้างเสริม มันต้องอยู่ที่จิตสำนึกของผู้สร้างล้วนๆ
๑ ในฝีมือและผลงาน “พ่อ”
พระเครื่องเมืองใต้ นอกจากหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่โด่งดังมาเป็นอันดับหนึ่งแล้วก็ยังมีพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีหลายรุ่นหลายพิมพ์ที่วงการพระนิยมกันมาก โดยเฉพาะรูปหล่อโบราณ พิมพ์ก้นอุ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นรูปหล่อโบราณอันดับหนึ่งของเมืองใต้ สนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนขึ้นไป ราคาค่านิยมขึ้นอยู่กับความสวยสมบูรณ์ขององค์พระเป็นสำคัญ
“พระรูปเหมือนหล่อโบราณ พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน พิมพ์ก้นอุ เป็นฝีมือพ่อผมเองครับ ร่องลึกตรงใต้ฐานองค์พระถือเป็นตำหนิจุดตาย คือ เกิดจากรรมวิธีการหล่อที่ไม่ให้ขยับโดยการปักทอย ไม่ใช่รอยที่เกิดจากแม่พิมพ์แต่อย่างใด" นี่เป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของช่างวิสูตร
พร้อมกันนี้ ช่างวิสูตร บอกว่า ช่างพิม กับช่างพิน เป็นคนคน เดียวกัน ในการพิมพ์ประวัติการสร้างพระนั้นใช้ว่า “พิม” แท้ที่จริงที่ถูกต้องคือ “พิน” แต่คนในวงการในยุคนั้นจะรู้จักกันในนาม “ช่างดำ แห่งบ้านช่างหล่อ” ในครั้งนั้นพ่อได้หล่อพระที่วัดบางเดือน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๖ ออกให้เช่าบูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่วัดกรูด อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี และส่วนหนึ่งพ่อท่านคล้าย เอามาแจกที่วัดสวนขันในภายหลังนอกจากนี้แล้วพ่อยังหล่อพระในจังหวัดภาคใต้หลายวัด เช่น หลวงพ่อพัว วัดบางเดือน จ.สุราษฎร์ธานี หลวงพ่อพัฒน์ วัดกลาง รวมทั้งหลวงพ่อเส่ง วัดแหลมทราย จ.สงขลา
ฝีมือและผลงานของ “ช่างวิสูตร”
ฝีมือและผลงานของช่างวิสูตร ใครเลยจะรู้ว่า “พระที่โฆษณาในนิตยสารนะโม กว่าครึ่งเล่ม รวมทั้งนิตยสารอื่นๆ ทุกเล่ม เป็นฝีมือการเททองของช่างวิสูตร” ด้วยฝีมือและผลงานอันเป็นที่ยอมรับทำให้มีการจองคิวเททองยาวถึงสิ้นปี
ช่างวิสูตร บอกว่า การสร้างพระให้ขายได้มีเหตุปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ประการแรก อยู่ที่ตัวองค์ของพระเอง ถ้าหลวงปู่ หลวงพ่อ หลวงตา หรือแม้กระทั่งหลวงพี่ หากพระมีวัตรปฏิบัติที่ดี มีลูกศิษย์มากมาย จะสร้างอะไรก็ขายได้ แต่เมื่อสร้างมากรุ่นขึ้นต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วม เช่น รูปแบบ ขนาด เนื้อหามวลสาร พิธีกรรม พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสก จำนวนการสร้าง คณะกรรมการจัดสร้าง และที่ขาดไม่ได้คือ วัตถุประสงค์การจัดสร้างต้องชัดเจน
“ปัจจุบันนี้พระที่ขายดีและขายได้ไม่ได้อยู่ที่ชื่อชั้นของพระเกจิอาจารย์อย่างเดียว หากอยู่ที่รูปแบบพระ การตลาด การจัดการ และที่ขาดไม่ได้ คือ สื่อโฆษณาในรูปแบบต่างๆ” ช่างวิสูตรกล่าวย้ำ
เมื่อถามถึงความสบายใจระหว่าง “การรับงานกับพระทั้งที่เป็นเจ้าอาวาส และพระลูกวัด กับกรรมการวัด ซึ่งเป็นฆราวาส” ช่างวิสูตร บอกว่า สบายใจและไม่สบายใจพอๆ กัน ซึ่งมีอยู่หลายวัดไม่ยอมรับฟังคำแนะนำใดๆ จากโรงหล่อ ซึ่งมีประสบการณ์หล่อพระมานับพันรุ่น กลับตามพระตามแบบที่ตนอยากได้ แต่สุดท้ายขายไม่ได้ก็มาลงที่โรงหล่อ
"ที่ผมมีกินมีอยู่รวมทั้งส่งลูกเรียนมาทุกวันนี้ ล้วนเป็นเงินจากพระ จากวัด จากญาติโยมที่มาเช่าบูชาวัตถุมงคลทั้งสิ้น จึงไม่รู้สึกว่าการที่พระ วัด รวมทั้งผู้สร้างพระ ไม่จ่ายเงินให้ครบตามสัญญานั้นจะขึ้นชื่อว่าเป็นการโกง โดยจะคิดในเชิงบวกว่า “ยกเงินโกงนั้นเป็นทาน ถ้าเป็นพระถือว่าเป็นการทำบุญ” ช่างวิสูตรกล่าว