ไลฟ์สไตล์

50ปีปลานิลพระราชทาน'จิตรลดา' จาก50ตัวสู่สัตว์เศรษฐกิจหมื่นล.

50ปีปลานิลพระราชทาน'จิตรลดา' จาก50ตัวสู่สัตว์เศรษฐกิจหมื่นล.

17 มี.ค. 2559

ทำมาหากิน : 50 ปีปลานิลพระราชทาน 'จิตรลดา' จาก 50 ตัวสู่สัตว์เศรษฐกิจหมื่นล้าน : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                    นับจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำปลานิลไปขยายพันธุ์ และแจกจ่ายให้เกษตรกรเพื่อเลี้ยงเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง หลังจาก สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2508 จำนวน 50 ตัว มาถึงวันที่ 17 มีนาคม 2559 ปลานิลพระราชทาน “จิตรลดา” ครบ 50 ปีแล้ว ปัจจุบันมีเกษตรกรและภาคเอกชนเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพปีละถึง 2 แสนตัน สร้างมูลค่านับหมื่นล้านบาท ปีนี้สอดคล้องกับวาระมหามงคล “3 ปีติ” หรือปีแห่ง 70 ปีครองราชย์ 84 พรรษามหาราชินี และ 88 พรรษามหาราชา ที่ประชาชนร่วมกันเฉลิมฉลองและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์
 
                    ดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ เล่าถึงโครงการพัฒนาพันธุ์ปลานิล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระหว่างที่คณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมบ่อปลานิลต้นแบบ ณ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ.2489 ขณะที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อันเป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานโครงการพระราชดำริมากมายเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน
 
                    ในระหว่างนั้นมีตัวแทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปลาหมอเทศจากแอฟริกา เพื่อให้ผู้ยากจนได้เข้าถึงอาหารที่มีโปรตีนในปี พ.ศ.2494 กระทั่งในปี พ.ศ.2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังเกษตรกลาง บางเขน หรือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน ได้พระราชทานปลาหมอเทศแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เฝ้าฯ รับเสด็จ นำไปเลี้ยงเป็นอาหารที่มีโปรตีน
 
                    กระทั่งในปี 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดตระกูลทิลาเปีย คือ Nile Tilapia มีแหล่งกำเนิดที่แม่น้ำไนล์ ประเทศอียิปต์ จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเลี้ยงไว้ในบ่ออนุบาลที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำปลาดังกล่าวไปขยายพันธุ์ต่อและแจกจ่ายให้เกษตรกร พร้อมกับพระราชทานนามว่า “ปลานิล” นับจากนั้นปลานิลได้กลายเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมของคนทั้งประเทศ และกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เกษตรกรและผู้ประกอบการในสารบบถึงปีละ 2 แสนตัน และมีการเลี้ยงนอกระบบเพื่อบริโภคเอง เหลือขายบ้างอีกจำนวนหนึ่ง
 
                    “บ้านเราที่เห็นอยู่ปลานิลจะมีสีออกแดงๆ สีดำ และจะออกสีขาว คนไทยเรานิยมบริโภคปลานิลที่ครีบจะออกแดงๆ เนื้อนุ่ม มีไขมันเยอะกว่า แต่ไขมันปลาไม่เป็นไร ไม่อันตราย ไม่อิ่มตัว แต่ต่างประเทศชอบปลานิลที่ออกสีขาวๆ เนื้อแน่น แต่คุณค่าทางโภชนาต่างมีโปรตีนสูงทั้งนั้น ราคาถูกด้วย” ดร.จรัลธาดา กล่าว
 
                    ด้าน สนธิพันธ์ ผาสุขดี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง บอกว่า ปัจจุบันปลานิลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเลี้ยงง่าย ราคาดี สามารถเลี้ยงในบ่อดิน หรือจะเลี้ยงในกระชังก็ได้ หากเลี้ยงในกระชังพื้นที่เพียง 20 ตารางเมตร จะได้ผลผลิตตั้งแต่ 500 กิโลกรัม จนถึง 1.5 ตัน ราคาขายหน้าบ่ออยู่กิโลกรัมละ 45-60 บาท หากเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท ก็ได้เงินถึง 5 หมื่นบาท ทั้งประเทศผลิต 2 แสนตัน มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ส่งออกแล้วปีละราว 2 หมื่นตัน แต่ยังไม่เน้น เพราะการเลี้ยงในประเทศไทยต้นทุนสูง และราคาในประเทศดีกว่าด้วย
 
                    “การเลี้ยงปลานิลจะนิยมเลี้ยงปลาตัวผู้ เพราะโตเร็วกว่า ส่วนตัวเมีย ออกไข่บ่อย ตัวจะโทรม ทำให้ไม่โต เมื่อเกษตรกรนิยมเลี้ยงปลานิลเพศผู้ ทางกรมประมงต้องศึกษาวิจัยให้ปลานิลเป็นเพศผู้ ค้นพบ 2 วิธี คือ การปรับปรุงสายพันธุ์ตามหลักวิชาการให้เป็นวายวาย (YY) คือเพศผู้อย่างเดียว ปกติพันธุ์ปลานิลจะเป็นเอ็กซ์วาย (XY) วิธียากเกษตรกรไม่เข้าใจ จึงมีอีกวิธี คือฉีดฮอร์โมนเพศผู้ตอนอายุ 15 วัน อันหลังนี้นิยมกันอย่างแพร่หลายเพราะง่าย วิจัยเรียบร้อยแล้ว ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคครับ” สนธิพันธ์ กล่าว
 
                    เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีปลานิลพระราชทาน ซึ่งสอดคล้องกับวาระมหามงคล “3 ปีติ” ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ “ชมรมร้านอาหาร 1 จานจากใจ” ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิปิดทองพลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จะร่วมกันจัดโครงการ “1 จานจากใจ...มื้อปลาอิ่มใจ” โดยสร้างสรรค์เมนูปลานิลหลากหลายเพื่อเสิร์ฟในภัตตาคาร/ร้านอาหารของสมาชิกทั้ง 12 แบรนด์ พร้อมทั้งนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมบ่อปลานิลต้นแบบ ณ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
 
                    นอกจากนี้ทางภัตตาคารและเชนร้านอาหารพันธมิตรทั้ง 12 แบรนด์ในนามของ “ชมรม 1 จานจากใจ” โดยสนับสนุนของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และทีเส็บ ได้จัดกิจกรรมในนามโครงการ “มื้อปลาอิ่มใจ” ขึ้น โดยร่วมกันสร้างสรรค์เมนูปลาเมนูขึ้นเป็นพิเศษกว่า 30 เมนู อาทิ Lee Café, Chester´s, เสวย, ภัทรา, แซบอีลี่, เลอ ปลาแดก, ShrimpHaus, TripletsBrasserie, ตะลิงปลิง, อินจัน สามพราน, JM Cuisine เพชรบุรี และแม่ช้อยดอยหลวง นนทบุรี ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม-25 พฤษภาคม 2559 ด้วย
 
 
 
-----------------------
 
(ทำมาหากิน : 50 ปีปลานิลพระราชทาน 'จิตรลดา' จาก 50 ตัวสู่สัตว์เศรษฐกิจหมื่นล้าน : โดย...ดลมนัส กาเจ)