พระพิฆเนศวร-เทวรูปศิลปะ'บายน'
พระพิฆเนศวร-เทวรูปศิลปะ'บายน' : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
เทวรูป คือ รูปของเทวะ หรือ เทพ เป็นประติมากรรมลอยตัว ที่สร้างขึ้นด้วยการแกะสลัก ปั้น หรือหล่อ ใช้เป็นเครื่องหมายที่ระลึก หรือเป็นตัวแทนของเทพ สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของเทพเจ้าเพื่อเป็นที่สักการบูชา หรือเซ่นสรวง เทวรูปขนาดเล็ก อาจใช้เป็นเครื่องรางคุ้มกันอันตราย หรือใช้เป็นเครื่องประดับกาย ส่วนขนาดใหญ่ใช้ตั้งบูชาในบ้านเรือนและโบสถ์วิหาร การสร้างหรือประดิษฐ์เทวรูป มีความเป็นมาแสดงวิวัฒนาการ ตามลำดับ
อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และ เจ้าของ www.aj-ram.com อธิบายให้ฟังว่า ศิลปกรรมเขมรโบราณเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย และได้มีพัฒนาการรูปแบบทางศิลปะของตนเอง คำว่า บายน (Bayon) เป็นชื่อเรียกศิลปะของเขมรระยะสุดท้ายในยุค Angkorian Period หรือยุคเขมรเมืองพระนคร ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (๑๗๒๔-๑๗๖๑) พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมัน กับพระนางชัยราชจฑามณี ทรงนับได้ว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เนื่องด้วยแม้จะทรงป้องกันและรบพุ่งกับชนชาติจามก็ยังสามารถสร้างปราสาทหิน และรังสรรค์รูปแบบเฉพาะของศิลปะต่างๆ ปรากฏไว้มากมาย ทั้งในกัมพูชา และดินแดนห่างไกล เช่น สยาม ลาว เวียดนาม เป็นต้น
ศิลปะเฉพาะที่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากศิลปะแบบบาปวนและศิลปะแบบนครวัด หรือที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีว่า “ศิลปะแบบบายน” นั้น พระองค์ทรงยึดเอาศูนย์กลางแห่งลักษณะเฉพาะดังกล่าวจากพุทธสถานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์คือ “ปราสาทบายน” มาเป็นชื่อเรียกรูปแบบศิลปะ อันนับเป็นการแสดงออกถึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของพุทธศาสนาลัทธิมหายานจากบาปวน ระหว่าง พ.ศ.๑๕๖๐-๑๖๓๐ และนครวัด ระหว่าง พ.ศ.๑๖๕๐-๑๗๑๕
ฟิลิปป์ สแตร์น นักประวัติศาสตร์ศิลป์กล่าวไว้ว่า “เราอาจรู้จักศิลปะขอมแบบบายนได้จากอาการแสดงความรู้สึกที่เร้นลับและใบหน้าที่อมยิ้ม” ซึ่งหมายถึงการใส่ความรู้สึกลงในประติมากรรม อันเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญของศิลปะแบบบายน
อย่างไรก็ตาม คำว่า บายน อาจเพี้ยนมาจากคำว่า “ไพชยนต์” อันเป็นมหาปราสาทขององค์อัมรินทร์ หรือพระอินทร์ สถิตสถานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่ง “ปราสาทบายน” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นี้ กลับเป็นศูนย์กลางของศิลปะแบบบายน สร้างเป็นองค์ปราสาทจำหลักรูปพระโพธิสัตว์ทั้งสี่ทิศ แสดงให้เห็นความขรึมขลังและแย้มพระสรวลอย่างลึกลับที่เรียกว่า “ยิ้มแบบบายน” อยู่กลางเมืองนครธม ที่แปลว่า “เมืองใหญ่” มีรูปอสูรและเทวะชักนาคอยู่หน้าประตูเมือง
ส่วนรูปแบบศิลปะแบบบายนได้เข้ามามีอิทธิพลในสยามประเทศนั้น อ.ราม บอกว่า เข้ามาตั้งแต่ครั้งก่อนกรุงสุโขทัย เนื่องจากการแผ่พระราชอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเข้ามาทางแถบภาคอีสานโดยสร้าง “วิมายะปุระ” หรือ ปราสาทหินพิมาย ที่โคราช (จ.นครราชสีมา) โดยสร้างอโรคยาศาลา หรือสถานพยาบาลเล็กๆ เรียงรายจากนครธมจนถึงพิมาย นอกจากนี้ยังพบว่า พระปรางค์สามยอดของละโว้ หรือลพบุรี ก็ถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกัน ไม่นับอำนาจเหนือลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำแควน้อย อันปรากฏชัดที่ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี
ขอบคุณภาพและข้อมูล “พระพิฆเนศวร-เทวรูปศิลปะบายน เนื้อทองคำ” จาก www.soonpraratchada.com ของ “เสี่ยกุ่ย รัชดา” โดยระหว่างวันที่ ๒-๓ เมษายน ๒๕๕๙ นี้ จะมีการจัด “นิทรรศการพระเครื่องทองคำ และเทวรูปทองคำ” ครั้งที่ ๖ ณ ศูนย์พระเครื่องรัชดา ให้ชมฟรี ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๑๗.๐๐ น.