
บ่วงนาคบาศ ศรของอินทรชิต
11 เม.ย. 2559
บ่วงนาคบาศ ศรของอินทรชิต พุทธคุณเด่นในด้าน โชคลาภ ป้องกันภัย : เรื่อง/ภาพ ไตรเทพ ไกรงู
ในวรรณกรรมทางพุทธศาสนากล่าวถึง “นาค” ไว้มากมาย มีการเชื่อโยงถึงบทบาททางความเชื่อของคนล้านนา ชาวล้านนาเชื่อว่าในแต่ละปีน้ำน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับจำนวนของนาคที่ขึ้นมาพ่นน้ำให้เกิดฝนตก หากปีใดนาคมีจำนวนน้อยปีนั้นน้ำจะมาก แต่ถ้าปีใดนาคมีจำนวนมากปีนั้นน้ำจะน้อย เพราะถ้ามีนาคหลายตัวจะเกี่ยงกันพ่นน้ำ และดูว่าปีไหนนาคจะให้น้ำกี่ตัว จะมีสูตรในการดูซึ่งมีอยู่หลายตำรา นาคเป็นอมนุษย์ มีพละกำลังมหาศาล ทรงอานุภาพด้วยอิทธิฤทธิ์อาศัยอยู่ใต้บาดาลที่เรียกว่า นาคพิภพ รูปร่างทั่วไปลักษณะคล้ายงู
โดยปกติแล้วนาคสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้แต่มีข้อยกเว้น คือในเวลา เกิด ตาย นอนหลับ ร่วมเพศ และเวลาลอกคราบ การแปลงกายของนาคมิใช่ว่าจะแปลงได้ทุกแห่ง เพราะนาคมี ๒ ประเภท คือ นาคที่แปลงกายได้เฉพาะบนบก เรียกว่า “ถลชะ” และนาคที่แปลงกายได้เฉพาะในน้ำเรียกว่า “ชลชะ” ด้วยความศรัทธาและความเชื่อในอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของนาคจึงปรากฏรูปยันต์ที่เป็นรูปนาคอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์ ยันต์ที่ใช้สักบนร่างกาย หรือยันต์ที่ลงในแผ่นโลหะใช้เป็นเครื่องรางตามความเชื่อ
สำหรับเครื่องรางที่เรียกว่า “บ่วงนาคบาศ” นั้น ในตำราโบราณมีความเชื่อถือกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลเป็นสุดยอดที่มีพุทธคุณเด่นในด้านโชคลาภและป้องกันภัย คือ มีกินไม่หมด ไม่มีอด งูกินหางกัน ต่างตัวก็ต่างกิน ยิงกินก็ยิ่งรัดเข้าหากัน พอชนกันก็คลายออก จึงเรียก “กินไม่หมด” ตามคำโบราณ “นาคบาศ” คือ “ศรของอินทรชิต” ที่ยิงไปเป็นงูรัดศัตรู ซึ่งภายหลังพญานาคราชมีครอบครองไว้ และพรานบุญไปขอยืมจากพญานาค และเนื่องจากพรานบุญเคยช่วยเหลือพญานาคราชไว้ พญาได้ให้สัญญาว่าขอสิ่งใดก็จะทำให้ ทั้งที่เป็นของสำคัญและกลัวพรานบุญไม่คืนให้แต่ก็ให้ไป เพราะต้องรักษาคำพูด พรานบุญจึงสามารถจับกินรีได้ และนำบ่วงบาศนั้นกลับคืนให้ พญานาคราช
ในตำราล้านนากล่าวไว้ว่า สามารถชนะทุกอย่าง หรือชนะหมด ใช้ทำน้ำมนต์ เสริมดวง ป้องกันภูตผี และคุณไสย เป็นเมตตามหานิยมแคล้วคลาดปลอดภัย ค้าขายดี มีกินไม่อด มีเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม และเด่นด้านการเสี่ยงโชค วิธีการบูชาแช่ในน้ำสะอาด บูชาด้วยดอกไม้ขาว เอาไว้ต่ำกว่าพระเครื่องและเครื่องราง ทุกวันพระให้เปลี่ยนดอกไม้ หากเนื้อของนาคบาศไม่แกร่งควรแช่น้ำสะอาดเฉพาะวันพระ
อย่างไรก็ตามเพื่อสมทบทุนสร้างวิหารฐานพระประธานพุทธมณฑลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ๓๐ ล้านบาท หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส วิปัสสนา ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๑๓ ประธานสร้างพุทธมณฑลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงจัดสร้างบ่วงนาคบาศ รุ่น นาคราชดับภัย โดยจะมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกวันที่ ๑๓ เมษายนนี้ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์
ปัจจุบันหลวงพ่อรักษ์มีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เคารพศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก วัตถุมงคลที่ท่านอธิษฐานปลุกเสกต่างก็ได้รับความนิยมทุกรุ่น ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคร่งครัดด้านการปฏิบัติกรรมฐาน และเข้มขลังมากด้วยสรรพวิชาอาคมต่างๆ
เรื่องของนาคให้น้ำ “ปีวอก”
ชาวล้านนาเชื่อว่าในแต่ละปีน้ำน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับจำนวนของนาคที่ขึ้นมาพ่นน้ำให้เกิดฝนตก หากปีใดนาคมีจำนวนน้อยปีนั้นน้ำจะมาก แต่ถ้าปีใดนาคมีจำนวนมากปีนั้นน้ำจะน้อย
คติโบราณเชื่อกันว่านาค หรือพญานาคเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเหตุ ที่ต้องมีหน้าที่ให้ฝนตกเพราะพญานาคเป็นพาหนะพระวรุณ เทพแห่งฝน ส.พลายน้อย อธิบายไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย นาคที่มีหน้าที่ให้น้ำในแต่ละปีมีจำนวนไม่เท่ากัน แต่จำนวนตัวนาคที่ให้น้ำมากน้อยก็ไม่สัมพันธ์กับปริมาณฝน สมัยโบราณ สมัยที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้า คนไทยโดยเฉพาะชาวนาสนใจเรื่องนาคให้น้ำมาก รัฐบาลท่านก็รู้ ในประกาศสงกรานต์ จึงต้องแจ้งจำนวนนาคและจำนวนน้ำให้รู้ไว้
กำหนดจำนวนนาคให้น้ำประจำปีนักษัตรไว้ชัดเจน ดังต่อไปนี้ ปีชวด นาคให้น้ำ ๓ ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก ปีฉลูนาคให้น้ำ ๕ ตัว ฝนต้น กลาง ปลาย เสมอกัน ปีขาล นาคให้น้ำ ๓ ตัว ฝนแรกงาม กลางปีน้อย ปลายปีมาก ปีเถาะ นาคให้น้ำ ๒ ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีงาม ปีมะโรง นาคให้น้ำ ๓ ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีน้อย ปีมะเส็ง นาคให้น้ำ ๑ ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีน้อย
ปีมะเมีย นาคให้น้ำ ๕ ตัว ฝนแรกงาม กลางปีงาม ปลายปีงาม ปีมะแม นาคให้น้ำ ๓ ตัว ฝนต้นกลาง ปลาย เสมอกัน ปีวอก นาคให้น้ำ ๒ ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก ปีระกา นาคให้น้ำ ๔ ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก ปีจอ นาคให้น้ำ ๗ ตัว ฝนแรกน้อย กลางปีงาม ปลายปีมาก และปีกุน นาคให้น้ำ ๕ ตัว ฝนแรกงาม กลางปีน้อย ปลายปีมาก
๑๓ เมษา อาบน้ำมนต์รับปีใหม่ไทย
เทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย คนไทยส่วนใหญ่มักจะถือปฏิบัติเป็นประเพณีกันมาสืบยาวนาน คือจะเข้าวัดทำบุญใส่บาตร จัดแต่งสำรับคาวหวานเป็นการใหญ่เพื่อน้อมไปถวายพระภิกษุสามเณรในอารามต่างๆ หลังจากนั้นจะถือปฏิบัติสรงน้ำพระพุทธรูป ต่างๆ ตลอดจนภิกษุสามเณร ครั้นเมื่อเสร็จแล้ว มักนิยมรดน้ำขอพร ผู้ใหญ่ มีบิดามารดา ตลอดจนถึงปู่ย่าตายาย เป็นต้น ซึ่งมีความเชื่อ กันว่าจะทำให้บังเกิดความเป็นสิริมงคลต่างๆ มากมายแก่ตัวเองตลอดปี
ในวาระดิถีมงคลนี้ วัดสุทธาวาสวิปัสสนา จัดพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ คือ “ประเพณีพิธีอาบน้ำว่าน และอาบน้ำมนต์ธรณีสารใหญ่”
ในการนี้ พระครูปลัดสุรินทร์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้รับมอบหมายให้รวบรวมว่านมหามงคลต่างๆ มาเคี่ยวผสมทำน้ำมนต์ให้สาธุชนได้อาบ ส่วนน้ำที่นำมานั้นก็ไม่ใช่น้ำธรรมดาแต่เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังมาก คือ น้ำมนต์ธรณีสารใหญ่มีอิทธิคุณวิเศษในด้านล้างเสนียดจัญไร อาถรรพณ์ทั้งปวงขับไล่สิ่งอัปมงคลต่างๆ
ส่วนว่านมงคลอำนวยผลดีในด้านส่งเสริมเพิ่มพูนราศีให้ผ่องใส เกื้อกูลในด้านหน้าที่การงาน นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชีวิตของผู้ที่ได้อาบน้ำว่าน หรือสำหรับท่านผู้ใดที่เกิดในปีชง ขอเชิญท่านมาเข้าร่วมพิธีอาบน้ำว่านได้เลย จะเป็นการแก้เคล็ดต่างๆ ได้อย่างดีที่สุด อีกทั้งยังถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ รับความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลปีใหม่ของไทยอีกด้วย
มีกำหนดการ วันพุธที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ (วันสงกรานต์) เวลา ๐๙.๐๐ น. หลวงพ่อรักษ์ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ออกจากหอพระธาตุ ให้สาธุชนสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล เวลา ๑๐.๐๐ น. สาธุชนร่วมสรงน้ำหลวงพ่อรักษ์ และพระภิกษุสามเณร
เวลา ๑๑.๐๐ น.ทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณร เวลา ๑๔.๓๐ น.หลวงพ่อรักษ์ประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และ ประกอบพิธีปลุกเสกน้ำว่าน เวลา ๑๖.๓๙ น. หลวงพ่อรักษ์ประกอบพิธีอาบน้ำว่านมหามงคลให้แก่สาธุชนที่เข้าร่วมพิธีทุกคน และประพรมน้ำว่านให้แก่รถยนต์ที่เข้าร่วมพิธีทุกคัน
เส้นทางการเดินทางมาวัด ๑.ใช้ถนนสาย ๓๔๐ ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ข้ามสะพานพระยาบันลือ ถึงแยกลาดบัวหลวง เตรียมยูเทิร์นเข้าวัด ๒.ใช้ถนนสายสามโคก-เสนา ข้ามสะพานพระยาบันลือ เตรียมเลี้ยวซ้ายเข้าแยกไม้ตรา ตรงไป ๒๖ กม.ถึงวัด สอบถามข้อเส้นทางไปวัดได้ที่ โทร.๐๘-๒๔๕๕-๓๐๗๑, ๐๘-๑๑๙๐-๕๗๕๗ และ ๐-๓๕๓๗-๙๙๙๗ หรือเข้าชมได้ที่ www.watsuthawasvi.com และ www.luangporrak.com