ไลฟ์สไตล์

เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง'หลักล้าน!'

เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง'หลักล้าน!'

22 เม.ย. 2559

เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง'หลักล้าน!'' : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

           หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดกำแพง เขตบางขุนเทียน กทม. ไปศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น เรียนทางคงกระพันชาตรีกับพระอาจารย์คง เรียนวิชาผูกหุ่นพยนต์กับหลวงพ่อหรุ่น วัดบางปลา เรียนทางเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อพ่วง วัดกก เรียนทางสักยันต์คงกระพัน กับหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง

            อย่างไรก็ตามแม้หลวงพ่อไปล่ จะมีวิชาอาคมเก่งกล้าขนาดไหนก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยคุยโม้โอ้อวด หรือข่มเหงใคร ชอบดำรงตนแบบสมถะ ไม่ทะเยอทะยานในลาภยศ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ กวาดกุฏิเอง ของส่วนตัวทำเองหมด ไม่เคยใช้ให้ใครทำ นอกจากนี้ท่านยังขยันในการทำวัตรสวดมนต์อย่างเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบความมีระเบียบเรียบร้อย ต่อมาหลวงพ่อไปล่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตบางขุนเทียน และด้วยปฏิปทาอันน่าศรัทธาเลื่อมใสของท่านนี้เองทำให้ชาวบ้านมีความเคารพนับถือท่านมาก ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๑ จนถึงมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙

            สำหรับเหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง ที่วงการนิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งออกเป็น ๔ แบบ คือ ๑.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ มี ๒ แบบ คือ ๑.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ เนื้อฝาบาตร หรือเนื้อทองเหลือง พิมพ์มาตรฐาน และ ๒.เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ เนื้อสัมฤทธิ์ พิมพ์ชาวบ้าน

            ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อไปล่ นั่งขัดสมาธิราบ บนฐานชั้นเดียว รูปทรงจอบ มีเส้นโค้งนูน โดยรอบเหรียญ ๒ เส้น ปรากฏรายละเอียดบนใบหน้าพอประมาณ ครองจีวรเห็นรัดประคดชัดเจน ด้านบนเหรียญมีหูหล่อในตัว

            ด้านหลังมีอักษรไทยนูนสูง เขียนว่า “ที่ระฤก ๒๔๗๘” หล่อด้วยเนื้อทองเหลือง (ฝาบาตร) เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อขันลงหิน ๒.เหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ มี ๒ เนื้อ คือเนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองเหลือง หรือเนื้อฝาบาตร

            ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อไปล่ นั่งขัดสมาธิราบบนฐานเขียง เห็นผ้าสังฆาฏิและรัดปะคดชัดเจน เป็นเหรียญรูปไข่ มีหูหล่อในตัว ด้านหลังมีอักษรไทยเขียนว่า “ที่ระฤก ๒๔๗๘”

            ๓.เหรียญหล่อพิมพ์ห้าเหลี่ยม วงการเรียกว่า “รุ่นล้างป่าช้า” สร้างในวาระที่ท่านบูรณปฏิสังขรณ์ป่าช้าวัดกำแพง ซึ่งชำรุดเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธ ประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัว ๒ ชั้น อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีหูหล่อในตัว ด้านหลังมีอักษรขอม แปลเป็นภาษาไทยว่า “สุคโต” และมีตัว “อุ” ด้านบน หล่อด้วยเนื้อสัมฤทธิ์

            ๔.เหรียญหล่อพิมพ์เสมา เนื้อสัมฤทธิ์ (มีน้อยมาก) ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อไปล่ อยู่ในกรอบรูปเสมา มีห่วงหล่อในตัว ด้านหลังมีทั้งแบบหลังเรียบ และแบบหลังมีอักษรไทย เนื้อสัมฤทธิ์ เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ และเหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ สร้างในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.๒๔๗๘ ในวาระที่ท่านมีอายุครบ ๗๕ ปี โดยทำพิธีหล่อหลายครั้ง ตามความต้องการของลูกศิษย์ที่มาให้ช่างหล่อให้

            ส่วนเหรียญหล่อพิมพ์เสมา และเหรียญหล่อพิมพ์ ๕ เหลี่ยม ไม่แน่ชัดว่าสร้างในปีใด การแจกเหรียญนั้น บางท่านเล่าว่า เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ ท่านไว้แจกผู้ชาย เหรียญหล่อพิมพ์รูปไข่ไว้แจกสตรี ส่วนเหรียญพิมพ์เสมา เนื้อสัมฤทธิ์ สำหรับแจกเด็ก

            ด้วยเหตุที่พุทธคุณเหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ขึ้นชื่อในเรื่องมหาอุด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม จนเป็นที่เลื่องลือทั่วไป และเป็นเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมสูง ปัจจุบันแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่ราคาเช่าหาอยู่ที่หลักแสนปลายขึ้นไปจนถึงหลักล้าน

            อย่างกับ “เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง” ที่นำมาเป็นพระองค์ซึ่งอยู่ในความครอบของข้าราชผู้ใหญ่ท่านหนึ่งราคาอยู่ในหลักล้านครับ