ไลฟ์สไตล์

ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้'น้ำหยด'แทน'มัน-อ้อย'รายได้มั่นคงกว่า

ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้'น้ำหยด'แทน'มัน-อ้อย'รายได้มั่นคงกว่า

28 เม.ย. 2559

ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้ 'น้ำหยด' แทน 'มัน-อ้อย' รายได้มั่นคงกว่า

 
                    จากการที่ประเทศกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ทำให้กรมหม่อนไหมหันมาส่งเสริมเกษตรกรให้มาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระบบอุตสาหกรรมทดแทน เน้นใช้ระบบน้ำหยด พร้อมดึงเอกชนมาร่วมทำเกษตรแบบพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพื่อรับซื้อรังไหม ในราคาประกัน สร้างรายได้รายละกว่า 1.1-1.5 หมื่นบาทต่อเดือน
 
                    นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม บอกว่า ภัยแล้งปีนี้กระทบโดยตรงต่อเกษตรกร รวมถึงผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังด้วย เนื่องจากขาดแคลนน้ำ กรมหม่อนไหมจึงส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในระบบอุตสาหกรรมทดแทนพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำมาก โดยประสานกับเอกชนให้มาสนับสนุนการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อรับรังไหมระหว่างเกษตรกร เบื้องต้นมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 40 ราย
 
                    ส่วนชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งที่ จ.กาญจนบุรี หันเปลี่ยนมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเกือบ 100 ราย พื้นที่ 600-800 ไร่ โดยเน้นให้ใช้ระบบน้ำหยดถือว่าประหยัดน้ำมากที่สุด แทนการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด เพราะสามารถประหยัดน้ำได้กว่า 50%
 
                    สำหรับพันธุ์หม่อนที่ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรปลูก เป็นพันธุ์สกลนคร ที่ให้ผลผลิตใบต่อไร่สูงเฉลี่ยไร่ละ 2,500-3,000 กิโลกรัมต่อปี ทั้งยังมีความทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งและทนทานต่อเพลี้ยไฟพอสมควร หากกระทบแล้งจะทิ้งใบช้ากว่าหม่อนพันธุ์อื่น นอกจากนี้ยังเป็นหม่อนที่ให้ใบใหญ่ ใบหนา และมีระยะระหว่างข้อถี่ ซึ่งเหมาะต่อการนำไปเลี้ยงไหมระบบอุตสาหกรรม หลังจากปลูกได้ 6 เดือน เกษตรกรก็จะเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายรังไหมได้แล้ว
 
                    ด้าน นางพรไสว ชุ่มบุญชู ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ กาญจนบุรี กรมหม่อนไหม บอกว่า พันธุ์ไหมที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ทุ่งกระเบา อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี คือ พันธุ์จุล 6 และพันธุ์จุล 2 โดยมีบริษัท จุลไหมไทยฯ จะส่งมอบไหมวัย 3 ที่มีอายุ 3-4 วัน ให้เกษตรกรที่อยู่ภายใต้ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งนำไปเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการเลี้ยงไหมวัยอ่อนให้แก่เกษตรกรและช่วยลดอัตราการตายของไหมวัยอ่อนด้วย หลังจากเกษตรกรรับไหมวัย 3 ไปเลี้ยง ประมาณ 15-20 วัน ก็สามารถจำหน่ายรังไหมได้ บางรายรายได้ตกเดือนละ 1.1-1.5 หมื่นบาท