
เปิดใจ 'เน็ต ไอดอล' กลยุทธ์ 'สร้างตัวตน' โลกออนไลน์
02 พ.ค. 2559
เปิดใจ 'เน็ต ไอดอล' กลยุทธ์ 'สร้างตัวตน' โลกออนไลน์ : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ในอดีตคนดังที่มีแฟนคลับติดตามคลั่งไคล้เป็น “กลุ่มนักร้องหรือดาราดัง” เท่านั้น แต่ปัจจุบัน “เน็ต ไอดอล” (Net Idol) หรือคนที่ได้รับความชื่นชมมีผู้ติดตามเป็นแฟนคลับขาประจำในโลกออนไลน์ กลายเป็นผู้มีอิทธิพลสร้างตัวตนจนมีผู้ติดตามหลักล้านคน
พวกเขาทำได้อย่างไร การใช้สื่ออย่างรู้เท่าทันจำเป็นแค่ไหน !?!
วันที่ 30 เมษายน 2559 นักศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดสัมมนาเรื่อง “เน็ตไอดอล วัฒนธรรมป๊อป ตัวตนในสื่อใหม่” ผู้เข้าร่วมมีทั้งตัวแทนเน็ตไอดอลและนักวิชาการชื่อดังมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
“บี้ เดอะสกา” หรือ “กฤษณ์ บุญญะรัง” มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านไลค์ในเฟซบุ๊ก เปิดใจให้ฟังว่า เกิดเป็นลูกชายคนเดียวตอนเด็กเล่นกับตัวเองมาตลอด โตขึ้นก็เริ่มทำตัวให้เป็นที่รักของเพื่อนฝูง แล้วทำคลิปวิดีโอตลกๆ สนุกๆ ให้เพื่อนดู คลิปแรกๆ มีคนดูสูงสุดประมาณ 8,000 คน แต่หลังจากทำคลิปเต้นล้อเลียนเพลงเกาหลี “กังนัม สไตล์” คนดูเยอะมากเป็นสิบล้านวิวภายในไม่กี่วัน เลยตัดสินใจทำแนวนี้อย่างจริงจัง เน้นสนุก ทำให้คนดูมีความสุข คลิปเต้นเพลง “รูปไม่หล่อมีสิทธิ์ไหมครับ” ยอดวิว 40 ล้าน ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อน จากนั้นมีคนมาทำเลียนแบบมากมาย ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ เช่น คลิป “คู่มือมนุษย์” สอนวิธีจัดการแฟนติดเกม

หากต้องการรักษาตำแหน่งเน็ตไอดอลไว้ให้นานที่สุดทำอย่างไร ?
“บี้” ยอมรับว่า สมัยนี้เน็ตไอดอลคนใหม่เกิดง่ายมาก หลายคนดังเพียงชั่วข้ามคืน กรณีวัยรุ่นหญิงดังจากคลิป “เหนียวไก่หาย” มียอดวิวเกือบ 2.7 ล้านครั้ง แต่ผ่านไปแค่ไม่ถึง 2 อาทิตย์ คนก็ลืม
“ผมใช้เทคนิคคิดทำอะไรใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าใครทำๆ หยุดๆ จะไม่คงเส้นคงว่า ทุกวันนี้แฟนคลับเก่าอยู่กับเราบ้าง หายไปบ้าง ผมต้องสร้างแฟนใหม่ขึ้นเรื่อยๆ และไม่ไปยึดติดกับช่องทาง แต่ก่อนใช้เว็บแคม แล้วมาเฟซบุ๊ก ตอนนี้ก็ไปที่ไลน์ทีวี เทคนิคการโพสต์ต้องทำเป็นข้อความให้คนมาคอมเมนท์เยอะๆ ถ้าผมถ่ายรูปกับณเดช น์ผมจะเลือกข้อความเป็นคำถาม เช่น ใครหล่อกว่ากันซ้ายหรือขวา ส่วนใหญ่ตอบแนวโน้มมาทางผม แบบเสียดสีขำๆ”
“บี้” เตือนสติ ผู้ใฝ่ฝันไต่เต้าเป็นเน็ตไอดอลว่า

“ต้องระวังหลายเรื่องนะครับ ส่วนตัวแล้วผมระวังไม่เอาเรื่องผู้หญิงมายุ่งเกี่ยวด้วย ไม่โพสต์เรื่องแฟน ไม่อยากให้เป็นเรื่องดราม่า แล้วผมคิดตลอดว่าอยากสื่ออะไรให้แฟนคลับดู แฟนเพจมีทั้งเด็กและวัยรุ่น ถ้าวันหนึ่งพวกเขาเลียนแบบที่เราโพสต์ เพราะอยากดังเป็นเน็ตไอดอลบ้าง เราโอเคกับสิ่งที่เราโพสต์ใช่ไหม พ่อแม่ผมเป็นแฟนคลับด้วย โพสต์อะไรไม่ถูกต้อง เขามาสะกิดทันทีว่าอันนี้เกินไปแล้ว เช่น ผมเคยเอาระเบิดมาทำคลิปล้อเล่น ต่อไปนี้คิดว่าตอนนี้เรากลายเป็นสื่อคนหนึ่งแล้ว ต้องมีจรรยาบรรณ ถ้าเด็กมาเลียนแบบเราแล้วไม่มีผลกระทบต่อครอบครัวหรือสังคมถือว่า โอเค”
ขณะที่ “เฮียศร ปากน้ำ” หรือ สรสิช ถาวรผล เล่าว่า ตอนเด็กไม่ใช่คนเด่นคนดัง ขี้อายมาก โตขึ้นทำงานเป็นนักข่าวสักพัก ก่อนผันตัวมาเป็นดีเจจัดรายการรีวิวสินค้า สร้างตัวคนในโลกออนไลน์ด้วยสโลแกน “ผมคนไม่หล่อแต่ใจหล่อมาก” มีผู้ติดตาม 6 หมื่นกว่าคน
“ถ้าจะให้คนชอบ ต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง ผมอยากให้คนเรียกว่า “เฮีย” ดูเป็นคำดูโบราณ เสี่ยวๆ เลี่ยนๆ แต่งตัวย้อนยุค เป็นตัวอย่างในแง่ความเป็นไทย อย่าทำลายผู้หญิง ผู้ชายควรให้เกียรติผู้หญิง ผมบวชสองปี เดินธุดงค์มานาน ผมจะดึงแฟนคลับไปทำบุญวัด ผมได้รางวัลลูกกตัญญูปี 2558 ถ้ามีโอกาสเมื่อไรก็ประกาศชวนแฟนคลับไปวัดทำบุญ เวลาโพสต์เรื่องดี ๆ คนกดไลค์น้อย แต่ถ้าใช้คำน้ำเน่า รักหนูๆ ของเฮียหรือถามไร้สาระจะมีคนไลค์เยอะ”
“น้องเวย์” ภัคณัฏฐ์ ธรรมะ นักแสดงประกอบหนัง ผู้กำลังสร้างตัวตนเป็น เน็ตไอดอล เปิดเผยว่า ตั้งแต่เป็นเรียนอนุบาลก็ชอบร่วมกิจกรรมแล้ว เคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์ด้วย ใช้โซเชียลมีเดียมากช่วงอยู่มหาวิทยาลัยไปประกวดตามเวทีต่างๆ แล้วถ่ายแบบลงโพสต์ไปเรื่อยๆ เริ่มมีคนติดตาม

“ช่วงแรก ผลงานถ่ายแบบมียอดไลค์เยอะ ตอนหลังชอบออกกำลังกาย ก็สร้างตัวตนจากตรงนี้เพิ่มเติม และเป็นยุคคนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เวย์เคยอ้วนมาก่อน น้ำหนัก 56 กิโลกรัม ภายใน 3 เดือนลดได้สิบโล เขาก็เข้ามาดูว่าลดได้อย่างไร กลุ่มแม่บ้านกับแฟนคลับผู้หญิงก็ดูว่า เราไปกินที่ไหนเขาตามไป ที่นี่ดีมีโปรโมชั่น มีแจกฟรี ก็แนะนำ เคยรีวิวสินค้าบ้าง แต่ไม่อยากให้ตัวเองกลายเป็นแค่เครื่องมือรีวิว ต้องเลือกสินค้าดีจริง ๆ ไม่ให้รู้สึกว่าเราถูกจ้าง”
“น้องเวย์” อธิบายเทคนิคการสร้างตัวตนว่า หากลงอะไรเแนวเซ็กซี่ หรือรูปใส่บิกินี ยอดไลค์จะมากกว่า รู้สึกไม่อยากมีแนวนั้นอย่างเดียว บางครั้งใส่รูปไปกินข้าว ดูทีวี นั่งเล่น บ้าง สไตล์ของตัวเองเป็นแนวให้กำลังใจมากกว่า พยายามนั่งอ่านข้อความแฟนคลับที่ส่งมาให้ ถ้าใครมีปัญหาก็โพสต์ให้กำลังใจเขา ถ้าเป็นวันเกิดใครก็อวยพร ตอนนี้ข้อความที่ส่งมาในแชทส่วนตัวจะไม่ค่อยตอบ เลือกตอบเฉพาะคนมาโพสต์ในหน้าเพจ
ในฐานะผู้หญิงสาวออกแนวเซ็กซี่ “น้องเวย์” เล่าถึงวิธีดูแลตัวเองจากแฟนคลับหนุ่มๆ ผู้คลั่งไคล้ว่า
“บางครั้งเจอคนมารอถ่ายรูป ทำเสื้อ ทำหมวกมาให้เป็นพิเศษ มีแฟนคลับผู้ชายคนหนึ่งทำมานั่งรอที่คอนโด เขาแชทมาถามว่านั่งรอนานแล้วนะ เมื่อไรจะกลับ ตอนหลัง รปภ.ที่คอนโดก็ช่วยป้องกันไม่ให้มีใครเข้ามาด้านใน เพื่อความปลอดภัย”

สอดคล้องกับ “นุ๊ก” ปุณณดา ปิติวรกรกุล พริตตี้สาวสไตล์เซ็กซี่ ผู้พยายามสร้างตัวตนเป็นเน็ตไอดอล เล่าว่า ทุกวันนี้มีคนติดตามทั้งในทางชื่นชอบ และในทางลบ บางครั้งแฟนคลับเอารูปที่เซ็กซี่ของเราเป็นร้อยรูปมารวมกันแล้วโพสต์ หรือเอาไปดัดแปลงเขียนอะไรที่น่ากลัวๆ
“อยากฝากบอกว่า ใช้โซเชียลมีเดียมีข้อดีก็จริง แต่ต้องระวังตัวมากขึ้น ไม่อยากให้ไปยึดติด ต้องพยายามหาคอนเนกชั่น หรือหาหนทางทำธุรกิจของตัวเอง ใช้เวลาตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ เผื่อวันไหนตัวตนในโลกออนไลน์หายไป ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้”
ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรออนไลน์ ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน คนไทยใช้เฟซบุ๊กเกือบ 36 ล้านบัญชี เป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจาก อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
“การสร้างตัวตนเป็นเน็ตไอดอลมีหลายวิธี แต่นิยมใช้เทคนิค 3 อย่าง ได้แก่ 1 ความบ้า 2 หน้าตา 3 ทาเลนท์ หรือความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น “โชว์กล้ามหน้าท้องซิกแพ็ก” หรือ “โชว์ทำนมหก” บางคนเน้นขายหน้าตาอย่างเดียวเลย บางคนมีทั้ง 2-3 ข้อ ตอนนี้ สื่ออยู่ในมือคนธรรมดา เป็นสื่อข้ามพรมแดน เน็ตไอดอลบวกโซเชียลมีเดีย ยิ่งดังง่าย มีเพียงยอดล้านไลค์ก็ดังแล้ว สังคมหรือสื่อเริ่มไม่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี ให้ คนดูไปตัดสินใจเอง ประเด็นคล้ายกับละครไทยน้ำเน่าแต่ไม่ตาย คนพยายามทำละครดีมีสาระ กลายเป็นว่าคนนั้นเน่า”
ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นอธิบายต่อว่า โลกออฟไลน์หรือชีวิตจริง ทำให้บางคนไม่กล้าแสดงสัญชาตญาณดิบออกมาได้ แต่ในโลกออนไลน์ สามารถจำลองตัวเองออกมาเป็นอีกภาพหนึ่งได้ อยากพูด กู มึง หรือด่าอะไรก็ได้ และตอนนี้กำลังทะลักจากออนไลน์มาสู่ออฟไลน์ ตอนนี้สื่อดั้งเดิม ทีวี หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัว เงินโฆษณาหายไป ดาราลดค่าตัวเพราะมีช่องให้ดาราโชว์มากมาย ตอนนี้ต้นทุนผลิตเน็ตไอดอลไม่สูง ใครมีเกิน ห้าแสนไลค์ก็เป็นเน็ตไอดอลได้แล้ว
ขณะที่ รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แสดงความเห็นต่อวัฒนธรรมป๊อปว่า เป็นยุคสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ อินสตาแกรม ฯลฯ เปิดกว้างให้คนเข้าถึงและมีอิสรภาพในการสร้างข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง แยกแยะตามประเด็นที่สนใจ เช่น อาหาร ท่องเที่ยว ฯลฯ การสร้างตัวตนเป็นวัฒนธรรมป๊อปทำได้ง่าย
“รู้สึกเป็นห่วงเรื่องความเท่าทันสื่อ เรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัว ตอนนี้คนเชื่ออะไรง่ายขึ้นมาก ไม่คิดไตร่ตรอง เป็นยุคที่ใครๆ ก็สร้างตัวตนได้ อยากให้เน็ตไอดอล มาร่วมทำสังคมสร้างสรรค์ คิดก่อนโพสต์ อย่าคิดแค่เรื่องกระแส อยากให้คนรุ่นใหม่มาเป็นพลังช่วยกันกลั่นกรองตรวจสอบ ทำให้สังคมรู้เท่าทันสื่อต่างๆ อย่างรอบด้าน” รศ.ดร.กุลทิพย์ กล่าวแนะนำทิ้งท้าย
------------------
(เปิดใจ 'เน็ต ไอดอล' กลยุทธ์ 'สร้างตัวตน' โลกออนไลน์ : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)