
หลวงปู่ทวดสำแดงปาฏิหาริย์'เมตตา'เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง
หลวงปู่ทวดสำแดงปาฏิหาริย์ เมตตา เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของ มนตรี มณีไพโรจน์ : พระเครื่องคนดัง เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู ภาพ มาโนช ธรรมไชย'
“พระหลวงปู่ทวด” วัดช้างให้ จ.ปัตตานี เป็นพระประเภทนิรันตราย มีประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุเป็นเลิศ ผู้ที่นับถือต่างพบเห็นประสบการณ์มากมาย จนมีคำพูดว่า “แขวนพระหลวงปู่ทวดแล้วไม่ตายโหง”
นอกจากนี้แล้วยังมีคติความเชื่อด้วยว่าแม้พระหลวงปู่ทวดที่สร้างจากวัดอื่น หากผู้บูชามีศรัทธาในหลวงปู่ทวดอย่างแท้จริงก็เกิดปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ได้เช่นเดียวกัน จนมีคำพูดในวงการสร้างพระเครื่องว่า “ใครที่แขวนหรือรถคันใดที่มีพระหลวงปู่ทวด ไม่ว่าจะเป็นของเก่า ของสร้างใหม่ รวมทั้งสร้างจากวัดใดก็ตาม จะไม่ตายโหง" เช่นกัน
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ พระหลวงปู่ทวด ช่วยให้ไม่ตายโหงมากมาย และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวงการพระเครื่องเท่านั้นยังแผ่กระจายไปยังคนทั่วๆ ไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีความศรัทธาต่อพระหลวงปู่ทวด แต่ในกรณีของ “นายมนตรี มณีไพโรจน์” เจ้าของบริษัท วาย.เอช.เอส.จำกัด นอกจากแขวนพระหลวงปู่ทวดแล้วไม่ตายโหง พระหลวงปู่ทวดยังขึ้นชื่อว่า “ที่สุดแห่งความเมตตา ความสำเร็จ"
สำหรับที่มาของประสบการณ์ด้านเมตตาและความสำเร็จของพุทธคุณพระหลวงปู่ทวดนั้น นายมนตรี บอกว่า ทุกครั้งที่ทำงานเล็ก หรืองานใหญ่จะตั้งจิตอธิษฐานขอกับพระหลวงปู่ทวดว่า “ขอให้การเจรจางานราบรื่นและประสบความสำเร็จ” ซึ่งที่ผ่านก็สำเร็จทุกครั้งดังคำอธิษฐาน ด้วยเหตุนี้เองในคอจะขาดพระหลวงปู่ทวดไม่ได้ ทั้งนี้ได้เลี่ยมพระหลวงปู่ทวดรุ่นต่างๆ ไว้กว่า ๓๐ องค์ โดยจะสลับแขวนวันละองค์ และหากวันใดลืมพระไว้ที่บ้านก็ต้องขับรถกลับไปนิมนต์ท่านขึ้นคอ
ส่วนจุดเริ่มต้นของการสะสมพระเครื่องนายมนตรี บอกว่า แม้ว่าพ่อจะขึ้นชื่อว่าเป็นนักสะสมพระเครื่อง แต่ตนเองไม่ได้สนใจเลยว่าท่านเก็บพระอะไรไว้บ้าง จนกระทั้งเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน บริษัท ทีโอที จัดประกวดพระเครื่องจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดงาน ทำให้ได้รู้จักวงการพระเครื่อง และเมื่อได้พบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งสะสมพระไว้จำนวนมาก ด้วยใจที่อยากได้พระหลวงปู่ทวดจึงเอ๋ยปากขอ ไม่น่าเชื่อว่าเพื่อนใจถึงถอดให้แต่มีข้อแม้ว่าห้ามขายเด็ดขาด
นับนั้นเป็นต้นมาจึงสนใจศึกษาสะสมพระหลวงปู่ทวดอย่างจริงจัง โดยระยะแรกเริ่มนั้นมีหลักง่ายๆ คือ “พระแท้เช่าหมดไม่ว่าสภาพใดขอให้ขึ้นชื่อว่าแท้เท่านั้นไม่เกี่ยงเรื่องราคา” แต่เมื่อสะสมไประยะหนึ่งและส่งพระเข้าประกวดแนวคิดในการเช่าและสะสมพระก็เปลี่ยนไป คือ “แท้อย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นพระสวยพระที่ติดรางวัลด้วย” ซึ่งเป็นที่รู้ในวงการพระเครื่องว่า เมื่อเช่าพระมาต้องส่งประกวดอย่างน้อย ๒-๓ สนาม เพื่อวัดความสวย โดยจะไปส่งด้วยตัวเอง หากไม่ติดรางวัลจะมอบให้เพื่อนๆ ที่ชอบพอกัน หรือปล่อยออกไปในราคาทุน
จากการส่งพระเข้าประกวดด้วยตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้นายมนตรีถึงกับเสียความรู้สึกไม่น้อยคือ “พระแท้ที่ซื้อมากรรมการรับพระไม่รับประกวดซึ่งหมายถึงว่าเป็นพระปลอมนั่นเอง” แต่นับว่ายังโชคดีที่ผู้ขายให้นั้นรับคืนพระและคืนเงินเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้นายมาตรีพูดไว้อย่างน่าคิดว่า
“พระแท้ต้องแท้ร้อยตาเซียน ไม่ว่าจะเซียนเล็กเซียนใหญ่ต้องดูว่าแท้ เพียงว่าเซียนคนหนึ่งบอกว่าไม่แท้ถึงกับทำให้เราเสียความรู้สึก แม้ว่าภายหลังเซียนใหญ่จะออกมารับรองว่าแท้ แต่ก็ไม่กล้าเก็บพระองค์นั้นอีกต่อไป”
เมื่อถามว่า “ได้อะไรจากการหยิบกล้องส่องพระรวมทั้งได้อะไรจากการเก็บพระ” นายมนตรี พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “คนไม่เคยส่องพระเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายว่าสุขจากการส่องพระนั้นเป็นอย่างไร ระหว่างที่ส่องพระนั้นอย่างน้อยๆ ก็ทำให้เกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิก็เกิดปัญญา ส่วนเก็บพระแล้วได้อะไรนั้นบอกได้เลยว่าพุทธคุณในองค์พระพึ่งได้เสมอ เมื่อวันหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้เงินพระช่วยได้เสมอแต่ต้องเป็นพระแท้เท่านั้น และถ้าเป็นพระสวยแล้วยิ่งดีใหญ่”