
'นานมีบุ๊คส์'เติมไฟใส่ฝันจากผลงาน...'ประภัสสร เสวิกุล'
22 พ.ค. 2559
นานมีบุ๊คส์ เติมไฟใส่ฝันจากผลงาน ..."ประภัสสร เสวิกุล : คอลัมน์ อมหมึกเคี้ยวกระดาษ โดย.. ปลวกหวาน
รูดม่านปิดฉากลงไปแล้วอย่างอบอุ่น สำหรับงานอบรมภายใต้หัวข้อ “เติมไฟใส่ฝันผ่านแนวทางการทำงานของประภัสสร เสวิกุล” ที่จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ณ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮาส์ ซอยสุขุมวิท 31 ที่ผ่านมา แม้จะเพิ่งจัดเป็นครั้งแรก แต่ก็มีนัก (อยาก) เขียนเข้าร่วมงานกว่า 100 คนเลยทีเดียว
คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เพื่อจุดประกายให้นักอ่านและผู้ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แนวคิด และวิธีการทำงานของ ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ผ่านผู้ใกล้ชิดซึ่งก็คือ ชุติมา และ ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล เพื่อไปปรับปรุงและพัฒนางานเขียนของท่านสำหรับส่งเข้าประกวดโครงการ “รางวัลประภัสสร เสวิกุล”
"เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับองค์ความรู้ แนวคิด และวิธีการทำงานของประภัสสร เสวิกุลอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อกลับไปเติมไฟและเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนางานเขียนต่อไป”
ภายในงานได้รับเกียรติจากนักเขียนและภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของประภัสสร เสวิกุล อย่าง ชุติมา เสวิกุล มาร่วมถ่ายทอดการเขียนสไตล์ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า สามีจะมีคอนเซ็ปต์ในการเขียนผลงานแต่ละเรื่องชัดเจนเสมอ เริ่มต้นจากการคิดพล็อตให้แข็งแรง ต่อให้ครบถ้วน แล้วนำเสนอให้เป็นภาพต่อเนื่อง โดยเตรียมค้นหาข้อมูลไว้อย่างละเอียด เช่น กำหนดโลเกชั่นสำหรับดำเนินเรื่องไว้พร้อมสรรพ นอกจากนี้ งานประพันธ์ของคุณประภัสสรยังเน้นความกลมกล่อมพอดิบพอดี คือ ไม่เป็นจินตนาการมากไปเพราะทำให้เรื่องดูฟุ้ง ไม่ให้ตัวละครฉาบฉวยเกินไปเพราะทำให้เรื่องดูล่องลอย ไม่จริงจังเกินไปเพราะจะทำให้เรื่องดูเครียด
"คุณประภัสสรมักสอดแทรกมุมมองที่น่าขบคิดไว้อย่างแยบยลอยู่เสมอ รวมทั้งมักมีบทกลอนไพเราะประกอบอยู่ ทั้งหมดเกิดจากการบ่มเพาะของบิดามารดาของคุณประภัสสรที่ส่งเสริมให้เขาอ่านและท่องกลอนต่างๆ ตั้งแต่เยาว์วัย ส่งผลให้คุณประภัสสรรักการอ่านและชื่นชอบในบทกลอน จนกระทั่งเป็นนักประพันธ์ในเวลาต่อมา”
ชุติมา ได้ฝากถึงการหาแรงบันดาลใจในการเขียนว่า “แรงบันดาลใจมีอยู่ทุกที่ อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นหน้าที่ของนักเขียนที่ต้องหาให้เจอ และหาวิธีนำเสนอออกมา โดยนักเขียนควรมีศิลปะในการนำเสนอ ใช้แนวทางที่ทำให้ผู้อ่านได้ความรู้คู่ความบันเทิง”
ด้าน ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ลูกชายผู้เป็นดั่งลูกไม้ใต้ต้นที่สืบทอดอาชีพนักเขียน ได้ถ่ายทอดคุณสมบัติของนักเขียนไว้ว่า
"การจะเป็นนักเขียนแบบประภัสสร เสวิกุล ต้องประกอบไปด้วยห้าลักษณะ คือ หนึ่ง มีวินัยในการทำงาน คุณพ่อจะแบ่งเวลานอกการทำงานมาเขียนหนังสือ ให้เกียรติกับตัวเองในฐานะนักการทูตและฐานะนักเขียน ไม่ใช้เวลางานหลักมาเขียนผลงาน แบ่งเวลาสวมหมวกให้ถูกต้อง สอง แบ่งเวลาให้เป็น รู้จักบริหารเวลา สาม ช่างสังเกต มองความเป็นไปรอบตัว สี่ มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม (งานเขียนและผู้อ่าน) ห้า อ่านเยอะ และลงมือเขียน”
นอกจากนี้ นักเขียนชื่อดัง กีรตี ชนา วิทยากรอีกท่านได้ร่วมแบ่งปันสิ่งสำคัญ 3 ประการที่นักเขียนนวนิยายควรมีว่า “นักเขียนนิยายควรมีสิ่งสำคัญสามประการ ได้แก่ หนึ่ง Style คือ สิ่งที่ทุกคนอยากมีเป็นของตนเอง แต่ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าคืออะไรกันแน่ ทางลัดคือการศึกษาสไตล์ของคนอื่นเพื่อค้นหาสไตล์ของตนเอง ยิ่งศึกษาเยอะเท่าไรยิ่งดี แต่อย่าลอกเลียนแบบเขา ให้สไตล์เข้ามาหาคุณเอง สอง Voice คือ น้ำเสียง หรือสำนวนที่ใช้ในการเขียน บุคลิกภาพที่คุณมีเป็นเอกลักษณ์ สาม Tone คือ “อารมณ์” การผสมผสานการเลือกใช้คำ โครงสร้างประโยค จังหวะการใช้คำ และการสะกดออกเสียง ซึ่ง Tone และ Voice จะเป็นธรรมชาติที่สุดเมื่อผู้เขียนเขียนด้วยความเครียดน้อยที่สุด ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักเขียนสร้างสามสิ่งข้างต้นขึ้นได้คือ คุณจะต้องเขียนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ หากไม่ได้เขียน อย่างน้อยก็ต้องอ่าน”
จุดประสงค์สำคัญอีกประการของการจัดอบรมในครั้งนี้คือเพื่อจุดประกายให้นัก (อยาก) เขียนทุกคนนำองค์ความรู้ แนวคิด และวิธีการทำงานของประภัสสร เสวิกุลไปปรับปรุงและพัฒนางานเขียนสำหรับส่งผลงานเข้าประกวด โครงการประกวดต้นฉบับนวนิยายขนาดสั้น “รางวัลประภัสสร เสวิกุล” ชิงเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท
ส่งผลงานที่ ชุติมา เสวิกุล 10 ซ.เพชรเกษม 100 บางแคเหนือ บางแค กรุงเทพฯ 10160 อีเมล [email protected] ปิดรับต้นฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม และประกาศผลวันที่ 1 กันยายน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nanmeebooks.com
มีโครงการดีๆ แบบนี้เกิดขึ้น...นัก (อยาก) เขียนทั้งหลายคงได้แสดงความสามารถกันได้เต็มที่ เห็นทีวงการนวนิยายขนาดสั้นจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้งก็คราวนี้แหละ