ไลฟ์สไตล์

ดูแลสุขภาพ : กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

ดูแลสุขภาพ : กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

24 พ.ค. 2559

ดูแลสุขภาพ : กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

 
                    หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญในการสูบฉีดเลือดหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย องค์ประกอบหลักของหัวใจ คือ กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งหลอดเลือดดำต่อกับหลอดเลือดแดง โดยกล้ามเนื้อหัวใจที่มีลักษณะประสานกันในแนวต่างๆ และแบ่งแยกห้องหัวใจออกเป็น 4 ห้อง ทำงานโดยการบีบสลับคลายตัวเพื่อส่งถ่ายเลือดตามจังหวะกระตุ้นของกระแสไฟฟ้าซึ่งควบคุมอัตโนมัติภายในตัวเอง
 
                    เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว เลือดจะถูกส่งออกจากห้องหัวใจผ่านลิ้นหัวใจและหลอดเลือดแดงไปยังอวัยวะต่างๆ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัว เลือดจะถูกดึงกลับมาสู่ห้องหัวใจทางหลอดเลือดดำ จะเห็นได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจเป็นผู้กำหนดประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดของร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานตลอดเวลา ต้องบีบคลายโดยเฉลี่ย 100,000 ครั้งต่อวัน ฉะนั้นหน้าที่รับผิดชอบของกล้ามเนื้อหัวใจถือว่าหนักไม่ใช่เล่น
 
                    หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นภาวะนี้อาจเกิดจากอวัยวะอื่นๆ ต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น แต่หัวใจไม่สามารถให้ได้ หรือ หัวใจอ่อนแรงจนไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ตามปกติ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนน้อยเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
 
                    การติดเชื้อของหัวใจ ขาดสารอาหารบางประเภท เช่น วิตามินบีหนึ่ง หรือได้รับสารพิษบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคอื่น หรือภาวะหัวใจล้มเหลวหลังการคลอดบุตร อาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงสังเกตได้จากอาการเหนื่อยหอบ ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก อึดอัด ขณะเดินหรือออกแรง ในบางรายต้องตื่นจากการนอนขึ้นมานั่งกลางดึก หรือมีอาการบวมที่ขาหรือหลังเท้า เนื่องจากเลือดไม่เพียงพอไปหล่อเลี้ยงไต ทำให้ไม่สามารถขับน้ำและโซเดียมออกจากร่างกายได้ทัน ในปัจจุบันสามารถพบได้ตั้งแต่วัย 30 เป็นต้นไป
 
                    ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) สามารถดูการทำงานของ กล้ามเนื้อหัวใจและช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุได้ ทำให้สามารถรักษาให้ตรงกับสาเหตุและอาการ
 
                    ประชาชนป้องกันตัวเองได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรเข้ารับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงสามารถป้องกันได้ หากผู้ป่วยใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด
 
 
 
นพ.มนต์ธวัช อำนวยพล
 
ศูนย์หัวใจ รพ.ไทยนครินทร์