วิธีปฐมพยาบาลเด็กติดอยู่ในรถ
30 พ.ค. 2559
วิธีปฐมพยาบาลเด็กติดอยู่ในรถ : คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ
สพฉ. แนะผู้ปกครองสอนเด็กเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉิน พร้อมสอนวิธีการปฐมพยาบาลเด็กที่ติดอยู่ในรถ และอันตรายจากรถจมน้ำ ย้ำทุกบ้านต้องเร่งสอนเด็กให้รู้จักวิธีการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669
ที่ผ่านมามีข่าวอุบัติเหตุ และเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้ ทุกโรงเรียนเริ่มเปิดภาคเรียนกันแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งอันตรายจากอุบัติเหตุระหว่างไปโรงเรียน เด็กติดอยู่ในรถระหว่างไปกลับโรงเรียน หรืออุบัติเหตุรถยนต์ตกน้ำ จมน้ำ ซึ่งอันตรายเหล่านี้เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่บางครั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความประมาท ก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียได้
ดังนั้น สพฉ. จึงขอแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยง และลดอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น โดยสิ่งแรกที่ผู้ปกครองควรตระหนักเป็นอันดับแรก คือ ไม่ควรทิ้งเด็กอยู่ลำพังภายในรถ เพราะเด็กอาจเล่นซุกซน หรือเล่นเกียร์ขณะรถสตาร์ทอยู่ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือเด็กอาจเผลอไปกดกระจกไฟฟ้าเล่นแล้วเกิดพลาดหนีบอวัยวะได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิต หรืออาจไปกดล็อกแล้วติดค้างอยู่ในรถ
“นอกจากการระมัดระวังแล้ว การให้ความรู้ และสอนวิธีการเอาตัวรอด ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้ปกครองควรสอนบุตรหลาน เพื่อเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉิน เช่น สอนวิธีการบีบแตรขอความช่วยเหลือ สอนวิธีการปลดล็อกรถ สอนวิธีการทุบกระจกรถเพื่อหนีออกมา และบอกอันตรายถึงการเล่นซุกซน และที่สำคัญที่สุดคือ ควรสอนให้เด็กๆ ให้รู้ถึงการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ด้วย”
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อถึงการช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถว่า ก่อนอื่นควรรีบทุบกระจกเพื่อนำเด็กออกมาให้เร็วที่สุด เพราะส่วนใหญ่เด็กที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เสียชีวิต เพราะความร้อนที่อยู่ในรถ โดยเวลาเพียง 5 นาที อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนเด็กไม่สามารถอยู่ได้ และยิ่งนานเกิน 10 นาที ร่างกายของเด็กจะแย่ลง และภายใน 30 นาทีเด็กอาจหยุดหายใจ และอวัยวะทุกอย่างหยุดทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากพบเห็นเหตุการณ์ และพบว่าเด็กหมดสติ ไม่หายใจ ผู้ช่วยเหลือจะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ และในระหว่างที่รอต้องรีบนำเด็กออกมาจากรถ และนำไปอยู่บนพื้นราบที่อากาศปลอดโปร่งพร้อมกับทำการช่วยฟื้นคืนชีพ แต่ทั้งนี้หากเด็กเกิดอุบัติเหตุจนอาจได้รับอันตรายที่กระดูกสันหลังให้ยกเว้นการเคลื่อนย้าย หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
โดยการฟื้นคืนชีพในเด็กนั้น จะต่างกับผู้ใหญ่เล็กน้อย คือให้วางส้นมือข้างหนึ่งไว้ตรงกลางหน้าอก ระดับราวนมและใช้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็กพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ จากนั้นกดหน้าอกให้กดลงไประหว่าง 1/3 ของความลึกของหน้าอก ซึ่งการกดหน้าอกจะต้องทำ 30 ครั้ง กดแต่ละครั้้งต้องเร็วและไม่มีการหยุด ทั้งนี้ให้ทำไปจนกว่าเจ้าหน้าที่รถพยาบาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและนำเด็กส่งต่อไปยังโรงพยาบาล
ส่วนอันตรายที่เกิดจากเด็กเล่นซน จนเกิดอุบัติเหตุ และบางครั้งอาจทำให้รถพุ่งตกน้ำ ว่า ก่อนอื่นผู้ปกครองจะต้องตั้งสติ และพึงระลึกไว้เสมอว่ายังมีเวลา เพราะรถจะไม่จมลงในทันที แต่จะค่อยๆ จมลงอย่างช้าๆ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือปลดเข็มขัดนิรภัยของตนเองและเด็ก โดยไม่ควรออกแรงมาก เพื่อเก็บอากาศหายใจที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ จากนั้นให้ยกส่วนศีรษะให้สูงเหนือระดับน้ำที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในรถ ปลดล็อกประตูรถทุกบาน และหมุนกระจกให้น้ำไหลเข้าในรถเพื่อปรับความดันในรถและนอกรถให้เท่ากัน จากนั้นเมื่อความดันใกล้เคียงกันแล้วให้ผลักบานประตูออกให้กว้างสุด แล้วรีบพาเด็กออกจากห้องโดยสาร แต่ทั้งนี้หากรถเป็นระบบไฟฟ้าจะต้องใช้ค้อนเหล็ก หรือของแข็งที่มีอยู่ในรถทุบกระจกด้านข้างให้แตก ไม่ควรทุบกระจกหน้าหรือหลัง เพราะเป็นกระจกนิรภัยจะแตกยากกว่า ซึ่งหากเรียนรู้และปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ ก็จะช่วยให้รอดและปลอดภัยได้ในยามคับขัน
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร
เลขาธิการสถาบัน
การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)