ไลฟ์สไตล์

600ปีโขนไทยจากคติขอมสู่อัตลักษณ์นาฏศิลป์ไทย

600ปีโขนไทยจากคติขอมสู่อัตลักษณ์นาฏศิลป์ไทย

17 มิ.ย. 2559

600ปีโขนไทยจากคติขอมสู่อัตลักษณ์นาฏศิลป์ไทย : สุพินดา ณ มหาไชย

           นักวิชาการยืนยันว่า โขนไทย สืบทอดมากว่า 600 ปีแล้ว มีหลักฐานหลายชิ้น โดยเฉพาะจดหมายเหตุลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกเรื่องการเล่นโขนในสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตาม แม้ต้นกำเนิดของโขนไทยอาจจะรับอิทธิพลจากขอม ซึ่งมาพร้อมกับคติความเชื่อเทวนิยม แต่โขนไทยได้พัฒนารูปแบบมาเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองแตกออกมาเป็นโขนประเภทต่างๆ ถึงที่สุดแล้ว โขน ศิลปะชั้นสูงรวมศิลปะหลากหลายแขนง โขนเป็นหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะมีความผูกพันกับราชสำนัก ในสมัยอยุธยาโขนเป็นเครื่องราชูปโภค

           ดร.ธีรภัทร์ ทองนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้คำจำกัดความตรงๆ ของโขนว่า การละเล่นคล้ายละคร ซึ่งผู้แสดงสวมหน้ากากและให้ผู้ชายล้วนในการแสดง

           ธีรภัทร์ บอกด้วยว่า โขน เป็นองค์รวมของการละเล่น 3 อย่าง คือ 1.ได้ท่าเต้น ได้วงปีพาทย์บรรเลงระหว่างแสดง ได้การพากย์เจรจามาจากหนังใหญ่ 2.ได้ท่ารบ ท่าต่อสู้จากการละเล่นกระบี่กระบอง และ 3.ได้การแต่งตัวจากการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์

           อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกของการเล่นโขนนั้น ไม่มีบทร้อง มีแต่การพากย์เจรจา และเล่นกันบนพื้นดิน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการรบของลิงและยักษ์ทุกตัวแสดง แม้แต่ตัวพระจะสวมใส่หน้ากากหมด ต่อมาโขนไทยมีวิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อยจนกลายเป็นนาฏศิลป์ที่เป็นศิลปะชั้นสูง มีความวิจิตรสวยงาม เป็นองค์รวมของศิลปะแขนงต่างๆ และในสมัยอยุธยานั้น โขนเป็นเครื่องราชูปโภคของพระเจ้าแผ่นดินด้วย

           “โขนที่เล่นบนพื้นดินนั้น ก็คือ โขนกลางแปลง มีการเล่นโขนกลางแปลงครั้งใหญ่สุดสมัยรัชกาลที่ 1 ทำพิธีฉลองพระอัฐิพระชนกของพระองค์ จากนั้นก็มีเล่นโขนกลางแปลงต่อมาอีกหลายครั้ง ต่อมาก็มีพัฒนาการ ปลูกโรงให้การเล่นโขน มีไม้ไผ่พาดตามยาวให้ตัวละครที่มีศักดิ์นั่ง ซึ่งก็คือ โขนนั่งราว ยังคงดำเนินเรื่องโดยใช้การพากย์เจรจาเป็นหลัก จากนั้นก็มี โขนหน้าจอ ใช้จอหนังใหญ่มาขึงกั้นเป็นฉากหลัง เล่นกันตามงานศพ ใช้การพากย์เจรจาเช่นกัน

           โขน เริ่มมีบทร้อง คือ โขนโรงใน ซึ่งจะเล่นกันในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิด โขนฉาก ขึ้น มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ซึ่งเป็นรูปแบบของโขนพระราชทานที่เล่นประจำทุกปลายปี ปัจจุบันมี โขนหน้าไฟ ที่เล่นตามงานศพ หรือโขนหน้าพระเมรุ จะเห็นได้ว่า โขนไทยมีการพัฒนารูปแบบมาโดยตลอด เอามรดกทางภูมิปัญญาหลายอย่างรวมไว้จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งไม่มีที่ใดเหมือน

           บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา กรมศิลปากร กล่าวว่า คนไทยรู้จักรามเกียรติ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สะท้อนในชื่อบุคคลและชื่อเมือง เช่น รามคำแหง หมายถึง แข็งแกร่งเหมือนรามหรือเชื่อกรุงศรีอยุธยา ก็เอามาจากชื่อเมืองพระรามในรามเกียรติ์

           “ในสมัยอยุธยายังพบคำพากย์รามเกียรติ์ด้วย เป็นกาพย์ฉบัง 16 และกาพย์ยานี 11 มีทั้งหมด 9 ภาค เอาไว้พากย์หนังใหญ่และ โขน" บุญเตือน กล่าว

            ด้าน ดร.สุรัตน์ จงดา วิทยาลัยนาฏศิลป์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิตโขนพระราชทานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บอกว่า มีหลักฐานบันทึกการเล่นโขนในสมัยอยุธยาไว้โดยเฉพาะจดหมายเหตุลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาในสมัยพระนารายณ์มหาราช อย่างไรก็ตาม โขนไทยมีพัฒนาการมาก่อนหน้านั้น รวมๆ แล้วประมาณ 600 ปี​

           “โขนไทยถูกพัฒนารูปร่างเป็นศิลปะที่มีความซับซ้อน วิจิตรมากขึ้น ชุดการแสดง หัวโขน องค์ประกอบต่างๆ ราชรถ สมจริง มีความวิจิตรงดงาม ทั้งนี้ ในสมัยอยุธยาโขนเป็นเครื่องราชูปโภค เพราะยึดตามคติฮินดู มีเมืองอยุธยาเป็นเมืองหลวง รามเป็นกษัตริย์โขน ซึ่งเรื่องเกียรติ์ของพระรามจึงเป็นเครื่องราชูปโภค เพราะฉะนั้นโขนจึงมีความผูกพันกับราชสำนัก และยังมีพัฒนาการอย่างไม่หยุดนิ่งไปเรื่อยๆ ด้วย"

           โขนไทยยังมีความสัมพันธ์กับโขนเขมร ซึ่งเป็นไปตามความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย

           ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระตะบอง ศรีโสภณ เสียมราฐ เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม ขณะที่ราชอาณาจักรกัมพูชาก็เป็นเมืองภายใต้พระบรมโพธิสมภารรัชกาลที่ 1 ทรงให้ปกครองตนเอง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 กัมพูชาแตกแถว เจ้านายบางส่วนหันไปนิยมเวียดนาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา ยกทัพไปปราบ ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา รั้งทัพอยู่ถึง 15 ปี สร้างเมืองอุดงมีชัย ในครั้งนั้น ได้นำคณะละครผู้หญิงตามไปด้วย ครูในคณะละครดังกล่าวก็ได้เป็นครูขององค์นักองค์หริรักษ์รามา ซึ่งต่อมาได้เป็นกษัตริย์เขมร และโปรดละครไทยอย่างมาก

           ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงรับเลี้ยงดูเจ้านายเขมร ทั้ง นโรดมพรหมบริรักษ์ และนโรดมศรีสวัสดิ์ ไว้ในกรุงเทพฯ ต่อมาทั้ง 2 พระองค์เสด็จกลับไปเป็นกษัตริย์ที่กัมพูชา ก็ได้นำประเพณี การละเล่น ละครจากในปราสาทราชวังของกรุงเทพฯ ไปเป็นแบบแผนที่กัมพูชาด้วย มีบันทึกว่า ละครเขมรในอดีตเล่นเป็นภาษาไทย กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า มีบันทึกว่า ละครเขมรแต่เดิมเล่นเป็นภาษาไทย ต่อมาเกิดวิกฤติวังหน้า ครูละครไทยหลายคนอพยพไปอยู่กัมพูชา จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรม การละเล่น นาฏศิลป์ตามแบบแผนไทย ถูกเติมเข้าไปในกัมพูชา

           เพราะฉะนั้น โขน ละคร ของไทยและกัมพูชา จึงมีความสัมพันธ์กันแม้แต่ โขน ที่กัมพูชาเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของมนุษยชาตินั้น ก็มีพื้นฐานจากโขนเมืองพระตะบอง ซึ่งในอดีตคือส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม ปกครองด้วยตระกูลอภัยวงศ์ เจ้าเมืองคนสุดท้ายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งอพยพผู้คนมาอยู่ที่เมืองปราจีนบุรีแทน ภายหลังสยามเสียเมืองพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ ให้แก่ฝรั่งเศส