ไลฟ์สไตล์

ทำ"ฟาร์มกวาง"เชิงพาณิชย์
 ชีวิตลงตัว"อภิชาติ วัฒนกุล"

ทำ"ฟาร์มกวาง"เชิงพาณิชย์ ชีวิตลงตัว"อภิชาติ วัฒนกุล"

06 ส.ค. 2552

อยากมีฟาร์มเลี้ยงกวางเป็นของตัวเอง เป็นความตั้งใจของ "อภิชาติ วัฒนกุล" ประธานสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย เมื่อครั้งยังเป็นพนักงานธนาคาร หลังพยายามศึกษาวิธีการเลี้ยง ทั้งจากผู้รู้และกูรูเรื่องกวาง ตลอดจนตำรับตำราการเลี้ยงกวางมาไม่น้อยกว่า 20 ปี มั่นใจว่าจะสามา

   บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ริมถนนเพชรเกษมบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 73 ต.ดอนกระเบื้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งถูกเนรมิตเป็นฟาร์มเลี้ยงกวางครบวงจร ภายใต้ชื่อ "อภิชาติฟาร์ม" ปัจจุบันมีกวางที่เลี้ยงไว้ทั้งสิ้น 60 ตัว แบ่งเป็นแม่พันธุ์ 25 ตัว ส่วนใหญ่จะเป็นกวางรูซ่า (Cervus timorensis) ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

 "ผมเริ่มศึกษาเรื่องกวางตั้งแต่ยังทำงานแบงก์ ถามผู้รู้บ้าง หาตำรามาอ่านเองบ้าง ดูฟาร์มกวางของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ผมไปดูมาแล้วเกือบทุกฟาร์มทั่วประเทศ แล้วนำมาศึกษาวิเคราะห์จนตกผลึก จึงตัดสินใจลาออกจากแบงก์มาทำฟาร์มเลี้ยงกวางอย่างเต็มตัว เพราะทุกส่วนของกวางขายได้หมด ทั้งเนื้อ หนัง เขา หาง เอ็น ส่วนมูลของมันก็สามารถนำมาทำปุ๋ยได้อีก"

  สำหรับการลงทุนสร้างฟาร์มแห่งนี้ อภิชาติระบุว่าครั้งแรกได้ลงทุนไปประมาณ 1.3 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการซื้อพ่อแม่พันธุ์และการสร้างคอกจำนวน 5 คอก โดยแต่ละคอกจะสามารถเลี้ยงกวางได้ประมาณ 25-30 ตัว นอกจากนี้ยังมีบ้านพักอาศัย ร้านอาหารและสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกวาง อาทิ เขากวางอ่อนตากแห้ง แคปซูลเขากวางอ่อน เอ็นกวางตากแห้ง

 เขายอมรับว่าปัญหาของการเลี้ยงกวางอยู่ที่อาหาร โดยเฉพาะพืชสด ซึ่งเป็นอาหารหลักของกวางที่อาจจะขาดแคลนในบางช่วงหรือมีไม่ต่อเนื่อง ในขณะที่ฟาร์มของตนเองนั้นโชคดีที่มีแหล่งอาหารสำหรับการเลี้ยงกวางในฟาร์มโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเปลือกข้าวโพดแห้งและหาได้ไม่ยากในพื้นที่แถบจ.ราชบุรีและละแวกใกล้เคียง

 "ของผมใช้เปลือกข้าวโพดแห้ง ซึ่งมีโปรตีนสูงมาก ผมโชคดีมีแหล่งอาหารประจำโดยซื้อมาในราคากิโลกรัมละ 1 บาท กวางในฟาร์มมีน้ำหนักเฉลี่ย 5.5 กิโล  กินอาหารเฉลี่ย 5-6 กิโลต่อวัน กวางในฟาร์มมี 60 ตัว ลองคำนวณดูแค่ต้นทุนค่าอาหารแต่ละวันปาเข้าไปเท่าไหร่แล้ว" อภิชาติชี้ให้เห็นถึงต้นทุน

 เจ้าของอภิชาติฟาร์มมองว่า กวางนั้นสามารถเลี้ยงได้ทุกภาคของประเทศ สำคัญตรงที่มีอาหารเพียงพอหรือไม่ โดยกวางตัวเมียอายุ 7 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์ได้แล้ว ส่วนตัวผู้อายุ 1 ปีก็สามารถตัดเขาอ่อนได้เช่นกัน แต่หากจำหน่าย ลูกกวางเพศเมียอายุ 8-12 เดือน สนนในราคาตัวละ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นเพศผู้อยู่ที่ตัวละ 8,000 บาท

 ด้าน ดร.ชวาล ทัฬหิกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรชีวภาพ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) มองว่ากวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีอนาคตไกล เนื่องจากมีตลาดรองรับไม่อั้นทั้งในและต่างประเทศ เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีผู้สนใจเลี้ยงกวาง เพราะติดในข้อกฎหมายบางประการ แต่ปัจจุบันมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเลี้ยงกวางในเชิงพาณิชย์ได้ 

  "ปัจจุบันกำหนดให้กวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และกรมป่าไม้ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2537) ตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ให้กวางเป็นสัตว์ป่าชนิดที่สามารถขออนุญาตเลี้ยงเพาะพันธุ์ได้ ที่ผ่านมา สพภ.เองก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหรือผู้สนใจหันมาเลี้ยงกวางในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น เพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คิดว่ามีอนาคตไกลแน่นอน" ดร.ชวาลกล่าวทิ้งท้าย

  และในวันเสาร์ที่ 5 กันยายนนี้ เกษตรทัศนศึกษา "คม ชัด ลึก" จัดทริปพิเศษพาผู้สนใจเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงกวางของคุณอภิชาติ วัฒนกุล พร้อมลิ้มรสชาติสเต๊กเนื้อกวางที่ต่างจากสเต๊กเนื้อทั่วไป สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2338-3356-7 (รับจำนวนจำกัด)

"สุรัตน์ อัตตะ"