ไลฟ์สไตล์

เปิดเส้นทางบินวทส.ราชบุรีติดปีกทะยานเพื่อการศึกษาและสังคม

เปิดเส้นทางบินวทส.ราชบุรีติดปีกทะยานเพื่อการศึกษาและสังคม

05 ก.ค. 2559

เปิดเส้นทางบินวทส.ราชบุรีติดปีกทะยานเพื่อการศึกษาและสังคม

           การเติบโตของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (วทส.) ภายใต้ปรัชญา “กลจักรความรู้สู่การพัฒนาประเทศไทย” กำลังตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ในฐานะสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสู่ภาคธุรกิจ ผ่าน 1 ทศวรรษ การบริหาร วทส.ด้วยแนวคิดของ “อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช” อธิการบดี หมายมั่นปั้นวิทยาลัยนอกสายตาให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของนักเรียนที่ต้องการก้าวเข้ามาในรั้วของสถาบันชั้นนำทางวิชาชีพ

           อาจารย์พรพิสุทธิ์ เล่าว่า ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งวทส.เมื่อปี 2548 ได้พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้หลักคิด Differently I–Learn หรือการเรียนรู้ที่แตกต่าง ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี-เอก และวิทยาลัยนานาชาติ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับนานาประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป อาทิ รัสเซีย เยอรมนี อิหร่าน โมร็อกโก ออสเตรเลีย สปป.ลาว ญี่ปุ่น เกาหลี และกัมพูชา

           “วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ถือเป็นสถาบันแห่งแรกที่นำโปรแกรม Rosetta Stone มาใช้ประกอบการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศด้วยตนเอง อีกทั้งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม ISOC Thailand ซึ่งเป็นองค์กรด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและสนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ต สอดรับกับนโยบายที่มุ่งผลักดันให้เป็นวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี ดังจะได้เห็นจากความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม จากผลงานการสร้างรถพลังงานแสงอาทิตย์จนเป็นที่รู้จักบนเวทีโลกในการแข่งขัน World Solar Challenge 2015 ที่ประเทศออสเตรเลีย”

           การขับเคลื่อนองค์ความรู้ก้าวต่อไป คือ การเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน เป็นสาขาใหม่ล่าสุดของคณะเทคโนโลยี นอกเหนือจากสาขาที่เปิดสอนไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงาน สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ โดยใช้พื้นที่สนามบิน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ก่อสร้างอาคารเรียนและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและทดสอบนวัตกรรมยานยนต์

           คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา ชายหรือหญิง อายุ 17-25 ปี จบระดับ ปวช. ม.6 หรือเทียบเท่า คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.5 ความรู้ภาษาอังกฤษ ICAO Level 2 หรือ TOEIC 400 เมื่อสำเร็จการศึกษา สามารถประกอบอาชีพในหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น วิศวกร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน ผู้ตรวจสอบและวิเคราะห์ด้านการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน บริเวณสนามบิน อ.โพธาราม

           เหนืออื่นใด  ภายในวิทยาลัยยังใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการฝนหลวง ในเรื่องนี้ “อาจารย์อุบลวรรณ สุวรรณ” ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและอาเซียนสัมพันธ์ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหาร วทส.ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง และชุดประสานงานในพื้นที่ เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยใช้พื้นที่ของ วทส.เป็นที่ตั้งฐานเติมสารทำฝนหลวงชั่วคราว เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งและดับไฟป่าใน 3 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม ได้ประสานขอความร่วมมือมาที่ วทส.เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการบินทดสอบต้นแบบอากาศยานไร้คนขับ

           นับเป็นอีกความภูมิใจ ที่ “วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม” ได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมกับภารกิจสำคัญระดับชาติ  ทั้งนี้ ผู้สนใจ "หลักสูตรการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน" สอบถามได้ที่ โทร.0-2878-5003