ไลฟ์สไตล์

'จุฬาภรณฯเพชรบุรี'ชนะเลิศความเรียง'บ้านนอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็

22 ก.ค. 2559

'จุฬาภรณฯเพชรบุรี'ชนะเลิศความเรียง'บ้านนอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็น' :

             เมื่อเร็วๆ นี้ชมรมสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท(บ้านนอก) และมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริฯ ร่วมกันจัดโครงการประกวดสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท ชิงรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กระตุ้นให้คนไทยตระหนักในคุณค่าของชนบท ตลอดจนลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของความเข้าใจกันระหว่างคนชนบทกับคนเมือง
             ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานคณะกรรมการตัดสินโครงการประกวดสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดให้มีการประกวดบทความ สารคดี ความเรียง คลิปวิดีโอและภาพถ่ายที่สะท้อนวิถีชีวิตชนบทปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 250 คน มีจำนวนชิ้นงานส่งประกวด 480 ชิ้นงาน แบ่งเป็นประเภทภาพถ่าย 142 คน 367 ชิ้นงาน ประเภทสารคดีเชิงข่าวและคลิปวิดีโอ 35 คน 38 ชิ้นงาน ประเภทบทความและสารคดี 48 คน 50 ชิ้นงาน และประเภทความเรียงเยาวชน 25 คน 25 ชิ้นงาน สะท้อนเห็นได้ชัดว่าทุกคนรักความเป็นบ้านนอก รักวิถีชีวิตแบบไทยในชนบท มีความตั้งใจที่จะรักษาวิถีชีวิตที่ดีงามนั้นให้อยู่ต่อไป
             ผลปรากฏว่า ผู้ได้รับรางวัลพระราชทาน “สื่อเพื่อการพัฒนาชนบท” ประเภทความเรียงเยาวชน ได้รับรางวัลชมเชย ถึง 3 รางวัลพระราชทานได้แก่ ผลงานที่ชื่อ “วิถีชนบทไทย” ของ ซูไรยา มะลี, ผลงานที่ชื่อ “ทางกลับบ้าน” ของภัทราวดี ชิตยวงษ์, ผลงานที่ชื่อ “บ้านนอกพรุ่งนี้ ที่อยากเห็น” ของวิทยา สิงห์สนั่น, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทความเรียงเยาวชน ไม่มีผลงานที่เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลพระราชทาน, รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานที่ชื่อ “บ้านนอกพรุ่งนี้ ที่อยากเห็น” ของ พิชญานิน ไรวินท์สุรดิษ และรางวัลชนะเลิศ ประเภทความเรียงเยาวชน ได้แก่ ผลงานที่ชื่อ “บ้านอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็น” ของพงศธร กาญจนกังวาฬกุล
             “ผมเขียนจากความทรงจำที่สวยงามที่เห็นและจำได้ในสมัยเด็กๆ บ้านนอกที่ผมเคยเห็นมีแต่ธรรมชาติ ท้องทุ่งที่สวยงาม ทุกคนอยู่กันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีนำ้ใจแม้กาลเวลาจะผ่านไป ความเจริญทางเทคโนโลยีและวิถีชีิวิตผู้คนก็เปลี่ยนไป แต่ความสวยงามยังคงอยู่ในใจของผม ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้บ้านนอกพรุ่งนี้ที่ผมอยากเห็นแบบเดิมกลับมาอีก” พงศธร กาญจนกังวาฬกุล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี กล่าว
             พงศธรถ่ายทอดชีวิตวัยเด็กผ่านตัวละคร “ฉัน” และ “ยาย” อธิบายชีวิตวันเก่าอย่างเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยอหาปลา ที่ไม่ได้แค่ปลา แต่ยังมี กุ้งฝอยเป็นอาหารเพิ่มมาด้วย อาหารการกินและชีวิตประจำวันของชาวชนบท ที่ดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรมแบบพอเพียง ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าวันหนึ่งเติบใหญ่เรียนมหาวิทยาลัย จะชวนเพื่อนคนรุ่นใหม่มาฟื้นฟูและสืบทอดให้คงอยู่ แม้วันที่ทำงานเป็นเจ้าของธุรกิจเขาก็จะสานต่อกิจกรรมที่ช่วยเหลือชุมชนให้เข้มแข็งและคืนกำไรให้แก่ชาวบ้าน
             “เจน สงสมพันธุ์” กรรมการตัดสิน ประเภทความเรียง กล่าวว่า ความเรียงบ้านนอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็น โดยพงศธร กาญจนกังวาฬกุล เป็นความเรียงที่ร้อยเรียงให้ภาพชนบทที่ยังคงวิถีธรรมชาติ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน เป็นความเรียงที่อุดมด้วยภาษาพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพสีสันแห่งท้องทุ่งซึ่งอร่ามด้วยสีทองของรวงข้าวและการแปรเปลี่ยนสีสันตามฤดูกาลท่ามกลางวิถีแห่งชนบทที่ถูกบรรยายให้เห็นภาพอย่างมีมิติ โดยมี “ยาย” เป็นตัวเสริมเติมเรื่อง มาเดินเรื่องให้ความเรียงมีชีวิต และมี “ฉัน” เป็นหัวใจแห่งความปรารถนา เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูกาลใหม่เป็นกลไกที่จะหมุนต่อไปยังอนาคตที่อยากจะเห็นสิ่งที่เป็นทุนทางสังคมเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์แบบสาระที่ผู้เขียนความเรียงนำเสนอ เป็นการนำไปสู่ภาพแทนของการมีชีวิตที่สงบ พึ่งพาตนเองเป็นสังคมที่คงความเอื้อเฟื้อ มีวัฒนธรรมประเพณีร้อยรัดสัมพันธภาพเป็นความงดงามแห่งชนบทที่ผู้เขียนปรารถนาจะให้มีสืบต่อในกาลต่อไป
             ส่วนความเรียงบ้านนอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็น ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศของ พิชญานิน ไรวินท์สุรดิษ เป็นความเรียงที่ให้ภาพเชิงเปรียบเทียบระหว่างเมืองกับชนบทให้เห็นถึงความอ้างว้างที่ห้อมล้อมชีวิตในเมืองใหญ่ ซึ่งมีความแออัด กับชีวิตในชนบทที่ยังมีธรรมชาติต้นไม้ใบหญ้า ผู้คนยังรู้จักทักทาย ยังมีวัดที่เป็นได้หลากหลายอย่างในชีวิตของคนที่นั่น โดยความรู้สึกประทับใจต่อชนบทค่อยๆ ซึมซับเข้ามาในความรู้สึกของผู้เขียนเรียงความผู้ซึ่งมียายอาศัยอยู่ในชนบท
             สาระที่ผู้เขียนความเรียงนำเสนอ ค่อยๆ เติมสิ่งต่างๆ ที่เป็นความประทับใจความอบอุ่นเป็นกันเองที่หัวใจได้สัมผัส ชนบทสามารถพึ่งพาตัวเองได้เพราะมีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมการเป็นอยู่ที่พอเพียง พอประมาณ และการแบ่งปันซึ่งกันและกัน สิ่งนี้เองที่ผู้เขียนสัมผัสและนำพาคนอ่านไปสู่สิ่งที่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
             ส่วนบ้านนอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็น โดย ซูไรยา มะลี ได้รับรางวัลชมเชยฉายภาพชนบทของชายแดนใต้ ที่ปัจจุบันแม้ถนนหนทางจะเจริญมากแล้ว แต่วิถีคนบ้านนอกยังแยกได้ชัดเจนจากวัฒนธรรมผู้คนที่นั่นยังคงแนบแน่นกับประเพณี ศาสนาและวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา ยังดำเนินวิถีแบบเดิม ทำให้ช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างผู้คน ยังเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ปัญหามักจะเกิดมาจากปัจจัยภายนอก
             สาระที่ผู้เขียนความเรียงนำเสนอเป็นเหมือนตัวแทนของการร้องเรียนถึงสิ่งที่ควรแก้ไขเรื่องความเป็นอยู่ โอกาสทางการศึกษาความเจริญของโลกสมัยใหม่ที่ได้พรากความอบอุ่นและสร้างปัญหาให้แก่เยาวชน เทคโนโลยีการสื่อสารความไม่ไว้วางใจคนท้องถิ่นจากรัฐ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนหวังว่าจะได้รับการแก้ไขและเยียวยาในเวลาต่อไป
             นอกจากนี้บ้านนอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็น โดยภัทราวดี ชิตยวงษ์ ได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่ขึ้นเพียง 5 วัน ในระหว่างเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2558- 3 มกราคม 2559 ที่ผู้คนจำนวนมากเดินทางกลับไปต่างจังหวัดเพื่อเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง
             ตัวผู้เขียนเองก็เช่นกันได้เดินทางไปเยี่ยมแม่ใหญ่ที่ต่างจังหวัด ซึ่งกี่ปีๆ ความเป็นอยู่ต่างๆ ยังคุ้นตาและทำให้เธอได้รู้ว่าสิ่งที่คนเมืองต้องการเห็นก็คือ ความสงบ ความเป็นกันเอง การไม่แบ่งแยก เสมอภาค
             สาระที่ผู้เขียนความเรียงนำเสนอ ทำให้เห็นว่า เมื่อมีเทศกาลผู้คนจะหลั่งไหลออกต่างจังหวัดทำให้รถติดยาวเหยียดในถนนสายหลัก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกว่า ที่สุดแล้วคนเราต้องการค้นหาและพบเจอสิ่งใดเพียง แต่ที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในเมืองก็เพื่อดิ้นรนทำมาหากินเท่านั้น แต่ความสุขจริงๆ แล้วอยู่ที่โน่น..ที่ไกลออกไป สถานที่ที่พวกเขาจากมา.. บ้านนอกนั่นเอง
             ส่วนบ้านนอกพรุ่งนี้ที่อยากเห็น โดย วิทยา สิงห์สนั่น ดำเนินเรื่องโดยผ่านการเล่าเรื่องของตนเองกับความประทับใจในท้องทุ่ง พร้อมกับฉายภาพให้เห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเช่น จากใช้ควายไถนามาเป็นเครื่องจักร จากการจับปูมาทำอาหารเพื่อจำกัดจำนวนศัตรูข้าวมาเป็นใช้ยาฆ่าและสารเคมี การละเล่นที่ทำขึ้นเองได้มาเป็นของเล่นพลาสติก ชีวิตเดิมนับเป็นความสุข เป็นความหอมหวานแห่งวัยเยาว์
             สาระที่ผู้เขียนความเรียงนำเสนอ คือการเปลี่ยนแปลงของชีวิตผู้คนในท่ามกลางค่ำคืนที่ยังมีพระจันทร์ดวงเดิมผู้เขียนจึงปรารถนาว่า บ้านนอกในวันพรุ่งจะหวนคืนกลับไปสู่ความสุขสมบูรณ์ พร้อมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเหตุดังกล่าวเช่นกัน
             "วิทยา สิงห์สนั่น" นักเรียนชั้น ม.6  โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย เขียนจากชีวิตจริงของเขาที่เป็นลูกชาวนาประสบพบเห็นมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน สามารถฉายภาพความเป็นชนบทได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่า ทุกคนรักความเป็นบ้านนอก รักวิถีชีวิตแบบไทยในชนบทมีความตั้งใจที่จะรักษาวิถีชีวิตที่ดีงามนั้นให้อยู่ต่อไป ทุกคนเป็นห่วงว่าปัญหาบางอย่างที่ก่อตัวขึ้นจะทำลายวิถีชีวิตไทยในชนบทให้หมดไปและพยายามเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวตามความถนัดหรือประสบการณ์ของแต่ละคน
             ทั้งนี้ ชมรมสื่อบ้านนอกริเริ่มเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อกระตุ้นความคิดที่ดีเกี่ยวกับวิถีชีวิตชนบทของไทยและความตั้งใจที่จะดูแลรักษาวิถีชีวิตที่ดี และคาดว่าจะจัดประกวดผลงานลักษณะนี้อีกต่อไปเป็นประจำทุกปี โดยจัดพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กรวมผลงานรางวัลสื่อบ้านนอกส่งไปยังห้องสมุดสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว