![พระร่วง วัดปู่บัวที่สุดแห่งพระร่วงเมืองสุพรรณ พระร่วง วัดปู่บัวที่สุดแห่งพระร่วงเมืองสุพรรณ](https://media.komchadluek.net/media/img/size1/2016/07/29/5jdceeaihdhibdhce6ajg.jpg?x-image-process=style/lg-webp)
พระร่วง วัดปู่บัวที่สุดแห่งพระร่วงเมืองสุพรรณ
พระร่วง วัดปู่บัวที่สุดแห่งพระร่วงเมืองสุพรรณ : พระองค์ครู เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ กฤชนันท์ ธรรมไชย
“พระร่วงยืนและพระร่วงนั่ง” แรกเริ่มเดิมทีมีการค้นพบที่ จ.สุโขทัย และศรีสัชนาลัย "ดินแดนแห่งพระร่วงเจ้า จากหลายกรุและหลายวัด เช่น จากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) หรือวัดพระบรมธาตุ พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เตาทุเรียง หรือ “พระร่วง กรุเตาทุเรียง” พบจากกรุวัดช้างล้อม พระร่วงนั่งหน้าโหนก พบจากวัดสระศรี วัดพระเชตุพน พระพิมพ์ลีลา พบจากวัดถ้ำหีบ วัดตะพังทอง วัดมุมลังกา เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วยังมีการค้นพบที่จังหวัดอื่นๆ ด้วย ที่มีความโดดเด่นก็น่าจะต้องยกให้ “พระร่วงเมืองสุพรรณ” เช่น “พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว” อ.บางปลาม้า แตกกรุประมาณ พ.ศ.๒๔๗๖ นับเป็นกรุแรกของ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระเนื้อสนิมแดง เคลือบด้วยสนิมไขขาว บางองค์มีสีแดงเข้มมาก พุทธศิลปะเป็นแบบศิลปะสมัยอู่ทองล้อลพบุรี
“กรุวัดปู่บัว” ต.วิหารแดง อ.เมือง แตกกรุประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๖ เช่นกัน แต่หลังกรุวัดคูบัวเล็กน้อย เป็นพระเนื้อตะกั่วสีแดงเข้ม พระพุทธศิลปะแบบสมัยอู่ทอง มีทั้งพิมพ์เศียรโต พิมพ์รัศมี พิมพ์ตาโปน ฯลฯ
“กรุวัดลาวทอง” อ.เมือง พระกรุนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง มีพุทธศิลปะแบบศิลปะลพบุรีและอู่ทอง นอกจากนี้ ยังพบพระเครื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น พระร่วงนั่ง พระนาคปรก และพระซุ้มนครโกษา เป็นต้น
“กรุหนองแจง” อ.ดอนเจดีย์ แตกกรุประมาณ พ.ศ.๒๕๐๘ พระส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง พุทธศิลปะแบบสมัยอู่ทองล้อลพบุรี มีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ข้างรัศมี พิมพ์เศียรโต พิมพ์ยกมือซ้าย ฯลฯ แต่ที่เป็นพิมพ์นิยมคือ ‘พิมพ์ข้างรัศมี’ มีพุทธคุณเข้มขลังในด้านแคล้วคลาดคงกระพันชาตรีเช่นกัน
“กรุบ้านหัวเกาะ” อ.เมือง แตกกรุประมาณ พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงแทบทั้งหมด และได้รับการยกย่องว่า “เป็นพระกรุที่มีสนิมแดงที่แดงที่สุดของสุพรรณบุรี” มีพุทธศิลปะแบบสมัยลพบุรีต่อกับสมัยอู่ทอง
นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบพระร่วงยืนในอีกหลายๆ กรุพระ ของ จ.สุพรรณบุรี ในปีหลังๆ ออกไป อาทิ กรุท่าเสด็จ แตกกรุประมาณ พ.ศ ๒๕๑๓ กรุสองพี่น้อง (บางลี่) พ.ศ.๒๕๑๓ กรุหนองกระโดน แตกกรุประมาณ พ.ศ.๒๕๒๕ กรุสวนแตง แตกกรุประมาณ พ.ศ.๒๕๓๒ และกรุวัดราชเดชะ แตกกรุประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๕
สำหรับภาพพระองครูฉบับนี้เป็น “พระร่วง วัดปู่บัว” ชนะเลิศที่ ๑ ในการประกวดใหญ่ๆ มาหลายงาน รวมทั้งติดรางวัลที่ ๑ จากงานประกวดประของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม ของ “คุณเจนวุฒิ์ พันธ์รัตนมงคล”