
“กัมบัตเตะเนะ” พยายามเข้านะ... เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด!
“กัมบัตเตะเนะ” พยายามเข้านะ... เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด! : อมหมึกเคี้ยวกระดาษ โดยปลวงหวาน
ชีวิตเรากำลังหมุนติ้วในโลกที่มีแต่การแข่งขัน ตั้งแต่ยอดขายยันยอดไลค์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ถ้าจะอยู่ให้ได้ในสังคมนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือการพัฒนาตนเอง ส่งผลให้ตอนนี้กระแส “โค้ชชิ่ง” มีคนให้ความสนใจพากันจองคอร์สอบรมกันแทบไม่ว่างเว้น...
สำนักพิมพ์มติชนได้จัดงานโค้ชชิ่งให้ผู้ที่สนใจเข้าฟังกับแบบฟรีๆ กับงาน "Life Goals Coaching" และเปิดตัวหนังสือ “กัมบัตเตะเนะ! เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด” กับนักเขียนที่มีดีกรีไม่ธรรมดา “พิชชารัศมิ์ Marumura” หรือ “วิรุณรัช พจน์เสถียรกุล” ณ ร้าน Kinokuniya สาขาสยามพารากอน ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ประกาศข่าวจากมติชนทีวี
สาวนักเขียนนักโค้ชชิ่งคนนี้ไม่ธรรมดา เธอสนใจศาสตร์เรื่องการพัฒนาตนเอง และได้ผ่านหลักสูตรโค้ชที่เป็นมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์โค้ชนานาชาติมาแล้ว มีลูกศิษย์มากมาย และเป็นโค้ชชีวิตให้คนดังหลายๆ คน
พิชชารัศมิ์...มาในชุดเดรสสีแดงกับบอดี้สูทลายดอกไม้ พร้อมกับรอยยิ้มหวานและท่าทางนอบน้อมตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นที่เธอซึมซับมา เมื่อพิธีกรถามว่า “กัมบัตเตะเนะ” คืออะไร แล้วทำไมถึงได้กลายมาเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ เธอตอบว่า...
“กัมบัตเตะเนะเป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าพยายามเข้านะ เป็นประโยคที่คนญี่ปุ่นโดยปกติเขานิยมใช้พูดให้กำลังใจกันอยู่แล้ว อย่างบางประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเวลาเขาจะทำอะไรสักอย่าง อาจจะอวยพรว่า Good luck ที่หมายถึงโชคดีนะ แต่คนญี่ปุ่นจะแสดงให้เห็นถึงทัศนคติในการดำเนินชีวิตของเขา ก็จะบอกว่าพยายามเข้านะ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่พูดกับลูกตอนเช้าก่อนออกจากบ้าน หรือว่าเจ้านายพูดกับลูกน้องก่อนที่จะไปนำเสนองาน อาจารย์พูดกับนักเรียนก็ได้ค่ะ”
ภายในงาน ยังมีแขกรับเชิญอีกท่านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญกับหนังสือเล่มนี้ เขาคือตัวอย่างของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในแวดวงอาชีพที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น เป็น 1 ใน 15 คนที่ปรากฏในหนังสือ “กัมบัตเตะเนะฯ” นั่นคือ "นัตโตะ” ณัฐพงษ์ บุญพร (เจ้าของบริษัท JTbiz เป็นเจ้าของร้านอาหาร ล่ามอาชีพ และนักเขียนหนังสือภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งนัตโตะพูดถึงจุดเริ่มต้นว่า
“รู้จักกับพี่ชายคุณรัชก่อน รู้จักมาหลายปี จนวันหนึ่งพี่ชายคุณรัชก็มาบอกว่า น้องสาวเขามีโปรเจกท์หนึ่ง และอยากจะสัมภาษณ์ผมลงในหนังสือ ซึ่งพอผมฟังแล้วผมรู้สึกเห็นด้วยมาก ต้องบอกตรงๆ ว่าผมเคยคิดจะทำแบบที่คุณรัชจะทำ เรียกได้ว่าเป็นพิมพ์เขียวของคนที่อยากประสบความสำเร็จ ทั้งกับคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นก็ดี ไม่ได้เรียนก็ดี ผมก็เลยตอบรับโดยทันทีครับ”
มาถึงช่วงเวลาพิเศษที่ทุกคนรอคอย คือการโค้ชชิ่งในหัวข้อ “อิคิไก (ikigai) เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของคุณคืออะไร”
พิชชารัศมิ์เริ่มต้นการโค้ชชิ่งด้วยการเล่าเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากความพยายามของคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่สร้างรายได้จากการขายใบไม้เพื่อใช้ตกแต่งจาน และชวนชาวบ้านในเมืองที่เขาอาศัยอยู่มาสร้างธุรกิจนี้ด้วยกัน จนทำให้เมืองๆ นั้นมีรายได้หลักจากการขายใบไม้
ตามด้วยช่วงที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้วิเคราะห์ตนเอง หาจุดสมดุลของชีวิตระหว่าง สิ่งที่ทำได้ดี, สิ่งที่รัก, สิ่งที่สร้างรายได้ และสิ่งที่โลกต้องการ พร้อมกับขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองหลังจากการทำ “อิคิไก” ให้ท่านอื่นฟัง
“ตามหลักของอิคิไก เขาได้ไปสำรวจคนญี่ปุ่นสี่หมื่นกว่าท่าน ปรากฏว่าคนที่ตอบว่าเขามีอิคิไกในชีวิต เป็นคนที่มีอายุยืนยาวกว่า ดังนั้นคนที่คิดว่าฉันมีคุณค่า ลมหายใจฉันมีความหมาย ฉันมีเป้าหมายในการดำรงชีวิต ฉันต้องตื่นนอนขึ้นมาเพื่อทำอะไรบางอย่างทุกวัน เมื่อเทียบกับคนที่คิดว่าตัวเองไร้ค่า ไม่รู้ฉันเกิดมาทำไม ชีวิตฉันว่างเปล่า สุขภาพทั้งกายและใจก็จะไม่ดีไปด้วย เรียกได้ว่าคิดอย่างไรก็ได้อย่างนั้น” พิชชารัศมิ์กล่าวเสริม
บรรยากาศโค้ชชิ่งจบลง พร้อมมอบของที่ระลึกให้วิทยากรโดย สุภชัย สุชาติสุธาธรรม หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์สำนักพิมพ์มติชน
ลองมาฟัง ธฤษิดา ประชาเฉลิม พูดถึงความรู้สึกหลังจากร่วมงานครั้งนี้สักหน่อย
“เราชื่นชมคนเขียนจากการเขียน แล้วพอมาเจอตัวจริง แล้วรู้สึกว่าเขามีความรู้ และมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำตามเป้าหมายของเราได้ ค่ะ”
ส่วน ปรพัทธ์ ภูงามทอง เดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า
“คำว่า อิคิไก เป็นจุดสมดุลของชีวิตทั้ง 4 ด้าน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการค้นหาสิ่งที่อยู่ในตัวเรา สำคัญก็คือว่าเราจะเอาสิ่งที่เรามีอยู่ไปใช้ แล้วเผื่อแผ่แบ่งปันให้กับสังคมและผู้อื่นได้อย่างไร ชื่อ
หนังสือเล่มนี้ก็เป็นชื่อที่น่าสนใจ “เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัด” มันต้องสะสมประสบการณ์ต้องใช้เวลา ต้องเรียนผิดเรียนถูก ก็อยากจะมาค้นหาคำตอบ ก็ได้คำตอบที่ดีมากในวันนี้ครับ”
เส้นทางชีวิตสวยสดใส แค่เพียงเริ่มต้นวันนี้ ด้วยตัวคุณเอง... กัมบัตเตะเนะ ทุกๆ คนเลยนะคะ