16 ปีปฎิรูปการศึกษาล้มเหลว ไทยสูญรายได้1.5 ล้านล้านบาท
สถาบันอนาคตไทยศึกษา เผย16ปี ไทยปฎิรูปการศึกษาล้มเหลว สูญเสียโอกาส1.5ล้านล้านบาท งานวิจัยชี้ชัดการศึกษามีปัญหาทุกระดับ พัฒนาการเด็ก1ใน5จะต่ำกว่าเกณฑ์
เมื่อวันที่23ส.ค. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “โอกาสที่หายไป:12ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย” ในงานThailand Strategic Giving ว่าปฎิรูปการศึกษาของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2542จนถึงปัจจุบัน ผ่านไป16ปี พบว่า การที่ปฎิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังนั้น ส่งผลให้เกิดค่าเสียโอกาสที่ประเทศควรจะได้รับ ประมาณ1.5ล้านล้านบาท หรือกว่า11%ของจีดีพี โดยตัวเลขค่าเสียโอกาสที่คำนวณได้นั้น เกิดจากการเปรียบเทียบประเทศที่ปฎิรูปการศึกษาสำเร็จ เช่น โปแลนด์ ปฎิรูปการศึกษาโดยใช้เวลาประมาณ11ปี ทำให้เด็กสอบได้คะแนนPISAเพิ่มขึ้น48คะแนน ขณะที่ของเรา 10หรือ11ปี คะแนนเพิ่มขึ้นเพียง3คะแนน ซึ่งการที่ผลคะแนนPISAเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิ์ภาพของแรงงาน มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถ้าประเทศไทย ปฎิรูปการศึกษาสำเร็จ จะทำให้ไม่ต้องเสียโอกาส เฉลี่ยปีละ 0.14%และไม่ต้องเสียรายได้ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อไปว่าการปฎิรูปการศึกษา มีความสำคัญมากที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะหากไม่สำเร็จจะถือเป็นการสูญเสียโอกาสที่ไม่ใช่ส่งผลเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย ซึ่งทุกระดับการศึกษาในขณะนี้มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนวัยเรียน พบว่า พัฒนาการของเด็ก1ใน5จะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น ส่วนระดับประถมศึกษา ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่1ถึง6มีนักเรียนที่อ่านไม่ออก ประมาณ1.4แสนคน และเขียนไม่ได้ ประมาณ2แสนกว่าคน ,ระดับมัธยมศึกษา เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่จับใจความไม่ได้ โดยดูได้จากผลคะแนนPISAเด็กไทย1ใน3หรือ32%จะอ่านจับใจความไม่ได้ และเด็ก6ใน10เท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษา
อีกทั้งโรงเรียนดีๆ ที่มีคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ติดท็อป50ของประเทศ 34แห่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้เด็กในกรุงเทพฯมีโอกาสศึกษาต่อมหาวิทยาลัยดีๆ สูงกว่าเด็กในต่างจังหวัด และมีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย ขณะที่เด็กต่างจังหวัด มีเพียง20%ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษติวเข้ามหาวิทยาลัย คิดเป็น1.3เท่าของค่าใช้จ่ายในการเรียนปกติ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน แม้จะมีมหาวิทยาลัยให้เลือกมาก เนื่องจากมีที่นั่งสอบมากกว่าเด็กที่เข้าสอบ แต่พบว่า2ใน3ครัวเรือนไม่มีเงินส่งลูกเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะค่าใช่จ่ายในการส่งเด็กคนหนึ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย4ปีใช้เงินประมาณ5แสนกว่าบาท ซึ่งต่อให้ค่าเล่าเรียนถูก แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สูง หรือถ้ากู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา คนหนึ่งได้ประมาณ1.7แสนบาท ทำให้พ่อแม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินส่งลูกเรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยเข้าเรียนไม่อยาก และจบไม่อยาก แต่เมื่อจบออกมาแล้ว ต่อให้สถิติการมีงานทำของเด็กสูง มีเพียง1%ของเด็กจบใหม่ที่ตกงานเกิน6เดือน แต่งานที่เด็กทำ มีเพียง1ใน4เท่านั้นที่ทำงานตามวุฒิ สาขาวิชาชีพที่ตนเองเรียนจบมา ส่วนใหญ่จะทำงานไม่ตรงวุฒิ หรือต่ำกว่าวุฒิที่เรียนมา
“สิ่งที่ทำให้ปฎิรูปการศึกษาไม่สำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ เพราะภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาจำนวนมาก แต่เท่าที่ศึกษาเบื้องต้น เกิดจากการบริหารการจัดการ หลักสูตร และคุณภาพของครู โดยเฉพาะคุณภาพของครูที่เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งตราบใดที่ไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ แล้วไปแก้โดยวิธีอื่น เช่น พยายามเพิ่มลดโรงเรียน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้ ตอนนี้แม้จะมีการพัฒนาครู แต่ยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ครบถ้วน เพราะระบบราชการ ชอบวัดผลจากตัวชี้วัดการทำงาน เช่น จำนวนเปอร์เซ็นต์การอบรม เรื่องกระบวนการ โดยไม่ได้วัดจากคุณภาพของเด็ก ดังนั้น หากไม่มีการพัฒนาครูอย่างถูกต้องก็ไม่สามารถทำให้ปฎิรูปการศึกษาสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม ปฎิรูปการศึกษาเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือเอกชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของการบริจาคเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย” ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่โอบอ้อมอารี ชอบทำบุญ ชอบบริจาคเงินช่วยเหลือคนที่ยากลำบากกว่า แต่ก็เป็นการหวังผลตอบแทนให้เกิดกับตัวเอง และเป็นการให้ที่กระจัดกระจาย ไม่มีการตรวจสอบด้วยว่าเงินที่บริจาคนั้นมีการจัดนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ ดังนั้นในอนาคตการบริจาคของคนไทย ควรคำนึงถึงผลที่มีต่อสังคมไทยในภาพรวม ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง
ทั้งนี้การบริจาคเงินเพื่อเป็นการทุนการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนยากจนได้รับการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเพราะการศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ขณะที่รัฐบาลก็ต้องลงทุนด้านการศึกษาที่สูง แต่ระบบการศึกษาไทยก็ยังล้มเหลวอยู่เช่นเดิม ในประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการปฏิรูปการศึกษา จะเน้นการปฏิรูปหลักสูตรและคุณภาพครู
ดังนั้นประเทศไทยจึงควรให้ครูลดการสอนในห้องเรียน และตั้งคำถามเพื่อให้เด็กตอบโดยไม่ใช่คำตอบที่ถูกหรือผิด แต่เป็นการถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กพูดและคิดอย่างต่อเนื่อง โดยมีครูเป็นผู้ให้ข้อมูล ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ สังคมไทยจะต้องลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพื่อลูกหลาน ไม่ใช่เพื่อตัวเราในปัจจุบัน