
หญ้าไฟตะกาด : หยาดน้ำค้างพันธุ์จิ๋ว
คอลัมน์... จุดหมาย... รายทาง
พูดถึงดอกไม้กินแมลง ใช่ค่ะ!!... อ่านไม่ผิดหรอก มีดอกไม้บางจำพวกกินแมลง นอกจาก “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” ที่เรารู้จักๆ กันแล้วนั้น ยังมีดอกไม้อีกประเภท ที่เติบโตได้ด้วยการกินแมลงเป็นอาหาร นั่นก็คือ “หยาดน้ำค้าง”
การกินแมลงของพืช ไม่ได้หมายถึงมีปากมีฟันเหมือนกับสัตว์ แต่เป็นการย่อยสลายแมลงเป็นแร่ธาตุก่อนจะดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อไปบำรุงต้น
สำหรับหยาดน้ำค้าง เป็นพืชกินสัตว์สกุลใหญ่สกุลหนึ่ง ในวงศ์หญ้าน้ำค้าง มีประมาณ 194 ชนิด สามารถล่อ จับ และย่อยแมลงด้วยต่อมเมือกของมันที่ปกคลุมอยู่ที่ผิวใบ โดยเหยื่อที่จับได้จะใช้เป็นสารเสริมทดแทนสารอาหารที่ขาดไป พืชในสกุลหยาดน้ำค้างมีหลายรูปแบบและหลายขนาดต่างกันไป สำหรับประเทศไทยมีหยาดน้ำค้างอยู่ 3 ชนิดคือ จอกบ่วาย, หญ้าน้ำค้าง และหญ้าไฟตะกาด
จากในภาพเป็นหญ้าไฟตะกาด ดอกไม้กินแมลงขนาดจิ๋ว มีหัวใต้ดินแต่ลำต้นจะตั้งขึ้น แตกช่อดอกเป็นกิ่งเป็นแขนง ต่างจากหยาดน้ำค้างที่มีหัวใต้ดินอื่นๆ ที่มักจะมีใบอยู่แนบดิน
หัวใต้ดินของหญ้าไฟตะกาด เล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 1 เซนติเมตร ส่วนดอกมีกลีบเลี้ยงขนาดยาว 0.2-0.6 แล้วแต่ประเภทกลีบดอกรีหรือกลีบดอกรูปไข่ ก้านดอกยาว 1-2 ซม. แคปซูลที่ใช้ดักจับแมลง มีเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 3 มิลลิเมตร ที่ตรงนี้จะมีลักษณะคล้ายขน มีหยดน้ำเกาะตรงปลาย มองดูเหมือนหยาดน้ำค้าง เมื่อแมลงเห็นดอกไม้บานสวยๆ ก็มักจะหลงเข้ามาดมดอม แล้วก็ไปติดกับเจ้าต่อมเมือกที่เหมือนน้ำค้างนั้น กลายเป็นอาหารของต้นไม้ชนิดนี้ไป
เห็นดอกจิ๋วๆ แบบนี้ แต่ด้วยรูปโฉมที่น่ารักมากมาย เลยได้จัดชั้น ตีพิมพ์เป็นสแตมป์ ราคาดวงละ 3 บาท ที่ใช้ได้ตามกฎหมาย ร่วมกับดอกไม้ดินอื่นๆ เช่น สาวสนม มาแล้ว ...