“การผินพระพักตร์” (Monarch’s head)
เหรียญกษาปณ์เป็นเหรียญที่ใกล้ชิดกับประชาชน มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเป็นหลักล้าน
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งที่จะให้ประชาชนพสกนิกรที่อยู่พื้นที่ห่างไกลในยุคร้อยกว่าปีก่อนซึ่งการสื่อสารทำได้ยากเย็นนั้น ได้ทราบว่าที่เมืองหลวง “พระมหากษัตริย์ได้มีการผลัดแผ่นดินแล้ว”
คุณเจมส์บอกว่า เหรียญกษาปณ์ที่มีตราพระบรมรูปในหลวง มีครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านทรงวางแนวทางของการกำหนดตำแหน่ง “การผินพระพักตร์” หรือการหันหน้าพระบรมรูปบนเหรียญ โดยกำหนดแนวทางตามแบบของประเทศอังกฤษ โดยสอดคล้องกับพระบรมรูปของพระราชินีวิคตอเรีย ที่ผลิตในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะผินพระพักตร์เบื้องซ้าย
เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน หรือเปลี่ยนพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เหรียญที่ออกมาของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะผินพระพักตร์ในทิศทางตรงกันข้ามกับพระองค์เดิม ตามธรรมเนียมของสยาม เมื่อสิ้นแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ.๒๔๕๙ ที่ผลิตเหรียญออกมา พระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ จะผินพระพักตร์เบื้องขวา และต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ ก็จะผินพักตร์เบื้องซ้าย ตรงกันข้ามกับรัชกาลที่ ๖ คือหันเช่นเดียวกับรัชกาลที่ ๕ ซึ่งการออกเหรียญกษาปณ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเป็นธรรมเนียมเช่นนี้
โดยมีจุดสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็นรัชกาลเลขคี่ เช่น ๕, ๗, ๙ จะผินพระพักตร์เบื้องซ้าย รัชกาลที่ ๖ จะผินพระพักตร์เบื้องขวา ยกเว้นในสมัยรัชกาลที่ ๘ การผลิตเหรียญกษาปณ์แตกต่างจาก ธรรมเนียมแต่ก่อน และมาผลิตเหรียญกษาปณ์ในปีสุดท้ายของรัชสมัยรัชกาลที่ ๘ ธรรมเนียมของตำแหน่งการผินพระพักตร์จะใช้ปฏิบัติสำหรับเหรียญกษาปณ์เท่านั้น
ส่วนเหรียญที่ระลึกในวาระสำคัญต่างๆ ก็จะขึ้นอยู่กับการออกแบบเป็นคราวๆ ไป อาจจะหันพระพักตร์ด้านใดด้านหนึ่งหรือ จะเป็นพระพักตร์ตรงก็สุดแล้วแต่ พระราชวินิจฉัยเป็นคราวๆ ไป ดังนั้นเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ ๑๐ ก็น่าจะผินพระพักตร์เบื้องขวา เช่นเดียวกับรัชกาลที่ ๖ หากยังมีการปฏิบัติตามพระราชนิยมแบบเดิมที่ถือปฏิบัติและทำกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และวันข้างหน้าเมื่อมีการเรียกเก็บคืนเหรียญของรัชกาลที่ผ่านพ้นไป เชื่อกันว่าสามารถเก็บกลับไปได้ทั้งหมดภายใน ๒ ปี เว้นแต่เหรียญที่ประชาชนเก็บไว้ตามกระปุกออมสิน หรือที่อื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจริงๆ