สวรรค์ สวรรคาลัย อยู่ ณ ที่แห่งใด
โดย - ไตรเทพ ไกรงู
ประเด็นเกี่ยวกับศัพท์ที่ใช้สำหรับ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” โดยเฉพาะวลี “เสด็จสู่สวรรคาลัย” บางทีอาจจะมีคนกำลังสงสัยก็ได้ว่า “สวรรคาลัย” นั้น อยู่ ณ ที่แห่งใด
ความหมายของ “สวรรคาลัย” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นคำกริยา หมายถึง เสียชีวิต ซึ่งจะใช้แก่เจ้านายชั้นสูง นอกจากนี้แล้วคำคำนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในการแต่งกลอน ส่วนการใช้คำว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “สวรรคาลัยเป็นสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ชื่อของชั้นของสวรรค์” ทั้งนี้ หากแปลความหมายตรงๆ หมายถึง “ส่งเสด็จไปสู่สวรรค์” นั่นเอง
สำหรับสวรรค์ในคติความเชื่อทางพุทธศาสนานั้น นายโอฬาร เพียรธรรม ผู้เขียนหนังสือ ตามหาความจริงวิทยาศาสตร์กับพุทธธรรม และถอดกฎพบกรรม ได้ยกตำราในพระไตรปิฎกมาอธิบายโดยเรียงจากชั้นล่างสุด ประกอบด้วย
๑.ชั้นจาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นนี้อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด ประกอบด้วยเทวดาหลากหลายประเภท มีผู้ปกครอง ๔ องค์ เรียก จตุโลกบาล โดยองค์แรกคือ ท้าวกุเวร หรือ เวสสุวัณ อยู่ด้านทิศเหนือ ผู้ปกครององค์ที่ ๒ คือ ท้าววิฬุหก อยู่ด้านทิศใต้ ผู้ปกครององค์ที่ ๓ ชื่อ ท้าววิรูปักษ์ อยู่ทิศตะวันตก ผู้ปกครององค์ที่ ๔ ชื่อ ท้าวธตรัฐ อยู่ทิศตะวันออก ปกครองพวก คนธรรพ์ รุกขเทวดา ภูมิเทวดา และอากาศเทวดา สวรรค์ชั้นนี้ครอบคลุมตั้งแต่พื้นโลกมนุษย์ขึ้นไปถึงระยะประมาณ ๒๑,๐๐๐ โยชน์ (คูณด้วย ๑๖ จะออกมาเป็นกิโลเมตร )
๒.ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่คนไทยคุ้นชื่อมากที่สุด และมีการพรรณนาถึงความงดงามของสวรรค์ชั้นนี้กันมากมาย ในชั้นนี้มีสมเด็จพระอมรินทราธิราช หรือ พระอินทร์ เป็นผู้ปกครอง มีสวนสวรรค์อยู่ ๔ แห่ง ครอบคลุมทั้ง ๔ ทิศ มีชื่อว่า นันทะ จิตรลดา สักกะ และผรุสกะ ส่วนที่ตั้งของชั้นดาวดึงส์ก็อยู่สูงขึ้นไปจากโลกประมาณ ๔๒,๐๐๐ โยชน์
๓.ชั้นยามา เป็นสวรรค์ที่เพียบพร้อมด้วยความงาม และความสุข มากกว่าชั้นดาวดึงส์หลายเท่า ทิพยปราสาท เป็นเงินและทอง มีรัศมีสว่างไสว กายทิพย์ของเทวดาก็มีรัศมีแผ่รอบกายเช่นกัน ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ ชื่อ สมเด็จพระสยามเทวาธิราช สำหรับสถานที่ตั้งก็อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีกประมาณ ๔๒,๐๐๐ โยชน์
๔.ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่มีความงดงามตระการตาเพิ่มขึ้นจากสวรรค์ชั้นยามาอีกมากมาย ที่สำคัญก็คือ สวรรค์ชั้นนี้ เป็นสถานที่ที่พระโพธิสัตว์ ผู้ตั้งใจบำเพ็ญบารมี เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะมาเกิดที่นี่
๕.ชั้นนิมมานรดี เป็นสวรรค์ชั้นมีความงดงาม ประณีต เหนือกว่าสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไปอีก ซึ่งยากจะบรรยาย โดยใช้ภาษาที่พวกเราใช้กันตามปกติ เทพในชั้นนี้รัศมีเรืองรองสว่างไสว และความพิเศษของเทพในชั้นนี้ก็คือ สามารถเนรมิตเอาอะไรก็ได้ ตามแต่ใจปรารถนา ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ ชื่อ สมเด็จพระสุนิมมิตเทวาธิราช
๖.ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุดในฝ่ายเทวโลก เป็นชั้นที่เทพผู้มาเกิดเสวยสุขที่ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าชั้นอื่นใด อยากได้อะไรก็จะมีเทพผู้เป็นบริวารมาคอยเนรมิตให้ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ ชื่อ สมเด็จพระปรนิมมิตวสวัตดีเทวาธิราช สถานที่ตั้งก็อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีอีกประมาณ ๔๒,๐๐๐ โยชน์
สวรรค์มีอยู่จริงหรือ?
สวรรค์ เป็นคำในภาษาสันสกฤต (स्वर्ग-สฺวรฺค) หมายถึง ภพหนึ่งในคติของศาสนาต่างๆ เช่น ศาสนายูดาห์ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม อันเป็นสถานที่ตอบแทนคุณงามความดีของมนุษย์ที่ได้ทำไปเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้
ความเชื่อทางศาสนาพุทธ สวรรค์ แปลว่า ภูมิ หรือดินแดนที่มีอารมณ์เลิศด้วยดี เป็นที่อยู่ของเทวดา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะได้สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที งดงามตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาจุติ ไม่มีความแก่บังเกิดขึ้นเหมือนในเมืองมนุษย์
ส่วนในคริสตจักรโรมันคาทอลิก “สวรรค์” มีความหมายต่างจากนิกายโปรเตสแตนต์ที่ถือว่าสวรรค์เป็นสถานที่ทางกายภาพ ชาวคาทอลิกเชื่อกันว่าความรักต่อพระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้ถูกทำลายด้วยความตายแต่ยังคงอยู่ต่อไป โดยอาศัยพระคริสต์ผู้ทรงชีวิตร่วมกับพระบิดา ดังนั้น เมื่อคนหนึ่งตายจากโลกนี้ไป คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีความสัมพันธ์กับเขาได้ เพราะเขามีชีวิตในความรักของพระบิดา ผู้ล่วงลับมิได้ขาดสายสัมพันธ์แห่งความรักต่อผู้เป็นและพร้อมกับพระคริสต์ เขารอให้ผู้ที่ยังมีชีวิตในโลกจะไปร่วมกับเขาใน “เยรูซาเล็มใหม่” หรือ “แผ่นดินใหม่” ที่เราเรียกว่า “สวรรค์”
สำหรับคำถามที่ว่า มีหลักฐานอะไรบ้างที่พอจะยืนยันได้ว่าสวรรค์มีจริงนั้น นายโอฬารได้เสนอเหตุผลดังนี้
๑.ทุกศาสนา มีคำสอนเรื่องสวรรค์ทั้งนั้น รายละเอียดอาจแตกต่างกันไป ถ้าคิดว่าศาสดาทุกองค์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีบารมีสูง รวมกันแล้ว ทำให้คนทั้งโลกเชื่อ มีศรัทธาได้ แล้วทำไมสวรรค์จะมีจริงไม่ได้
๒.ชาวพุทธ ถ้าเชื่อคำสอนพระพุทธเจ้า เชื่อกฎแห่งกรรมโดยลึกซึ้งก็จะต้องเชื่อการมีอยู่ของวัฏสงสารด้วย เพราะกฎแห่งกรรมไม่สามารถทำงานครบถ้วน สมบูรณ์ ในชาติ(มนุษย์)เดียว ดังนั้นชีวิตที่มีกายทิพย์อีก ๒๙ ภพภูมิ คือพวกนรก เปรต ผี เทวดา พรหม จึงต้องมีด้วย เพื่อรองรับการเวียนว่ายตายเกิดจากกรรมต่างๆ ที่มนุษย์แต่ละคนทำขึ้น
๓.คนทั่วโลกไม่ว่าสมัยใด และนับถือศาสนาใด มีคนเคยเห็นผีมามากมาย ทั้งด้วยตัวเอง และการถ่ายภาพ (ที่เคยเห็นเทวดามีบ้างแต่น้อย) ถ้าผีคือชีวิตที่มีกายทิพย์ค่อนข้างหยาบ เกือบซ้อนกับภพมนุษย์มีจริง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เทวดาซึ่งเป็นกายทิพย์เช่นกัน แต่ละเอียด ประณีตกว่า จะมีจริงไม่ได้
๔.ในทางวิทยาศาสตร์ แต่เดิมอะตอมคือ สิ่งละเอียดที่สุด ต่อมาก็พบ นิวตรอน โปรตรอน อีเล็กตรอน และต่อมาก็พบอนุภาคควอนตัม ที่เล็กกว่านั้นไปอีก ในปัจจุบันมีทฤษฎีสตริง ที่กล่าวถึงอนุภาคพื้นฐานของจักรวาล ที่เล็กกว่าควอนตัม อีกนับล้านล้านล้าน และอนุภาคละเอียดนี้จะเกิดได้ในมิติอื่นๆ นอกเหนือ ๔ มิติ ที่เรารู้จักกัน (คำนวณว่า จักรวาลต้องมี ๑๐-๒๖ มิติ จึงจะรองรับทฤษฎีนี้ได้) ทฤษฎีสตริงนี้ อาจนำไปสู่การพิสูจน์การมีจริง ของชีวิตกายทิพย์ (หรือ โอปปาติกะ ในพุทธศาสนา ที่อยู่คนละภพภูมิหรือคนละมิติ ถ้าใช้คำทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน) ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้ แต่สวรรค์นั้นมนุษย์มองไม่เห็น และสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ ไม่ได้ คนส่วนใหญ่จึงไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง
ราชาศัพท์ “เสด็จสู่สวรรคาลัย”
เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้รับคำถามเกี่ยวกับการใช้ราชาศัพท์ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” ว่าควรต้องมีคำว่า “ส่งเสด็จ” ด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เคยให้ข้อมูลความหมายวลีดังกล่าวว่า
คำว่า “สวรรคาลัย” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ (ปัจจุบันใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔) คือ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตาย (ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการส่งเสด็จไปสู่สวรรค์ ทำให้การใช้คำว่า “สวรรคาลัย” เป็นการสื่อความหมายไม่ถูกต้องนั้น เป็นความเข้าใจที่เกิดจากการแปลตรงตามรูปศัพท์
โดยแท้จริงแล้ว คำว่า “สวรรคาลัย” มาจากคำว่า “สวรรค” (สะ-หวัน-คะ) และ “อาลัย” ซึ่งคำว่า “สวรรค, สวรรค์” เป็นคำนาม หมายถึง โลกของเทวดา, เมืองฟ้า คำว่า “อาลัย” ที่เป็นคำนาม มีความหมายว่า ที่อยู่ ที่พัก ดังนั้น วลี “สู่สวรรคาลัย” จึงหมายถึง สู่ที่อยู่ในสวรรค์ สู่ที่พักในสวรรค์ ความหมายรวมๆ ก็คือ สู่สวรรค์ วลี “เสด็จไปสู่สวรรคาลัย” จึงสื่อความหมายได้ว่า (พระองค์) เสด็จสู่สวรรค์ หรือ (พระองค์) เสด็จสู่สรวงสวรรค์
อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้น เข้าใจว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” หมายถึง ส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสู่สรวงสวรรค์ แต่คำถามมีอยู่ว่าใช้ได้หรือไม่
ในเรื่องนี้ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของ พล.ต.ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี ประธานคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์แห่งราชบัณฑิตยสถาน ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประสริฐ ราชบัณฑิต และที่ปรึกษาคณะกรรมการ และอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ รองประธานคณะกรรมการ มีความเห็นพ้องกันว่า พระองค์ทรงมีบุญญาบารมีที่จะเสด็จไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยพระองค์เอง
ทั้งนี้ หากใช้คำว่า “ส่งเสด็จ” นำหน้าวลี “สู่สวรรคาลัย” อาจทำให้สื่อความหมายได้ว่า ประชาชนเป็นผู้ส่งเสด็จพระองค์ไปสู่สรวงสวรรค์
ดังนั้น หากลดหรือละการใช้คำว่า “ส่ง” ออกไปเหลือ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” หรือใช้คำว่า “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” ก็จะทำให้ถ้อยคำดูสวยงาม และสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”