รพ.สมเด็จพระยุพราช ของขวัญปวงไทยแด่ในหลวงร.10
รพ.สมเด็จพระยุพราช ของขวัญปวงไทยแด่ในหลวงร.10 ประชาชนรับบริการทั่วถึงเสมอกัน
“ทุกคนที่ทำงานให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่ รักษาพยาบาลเป็นอย่างดีให้ปลอดภัยขากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน” พระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2529
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช(รพร.) ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2520 ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีดำริจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในถิ่นทุรกันดารเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯประหนึ่งเป็นของขวัญจากประชาชนชาวไทย
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลได้ระดมทุนด้วยการเชิญชวนพี่น้องชาวไทย ทุกหมู่เหล่า บริจาคเงิน ที่ดิน สิ่งของ และทรัพย์สินอื่น ๆ เพื่อสมทบทุน ในการก่อสร้าง โรงพยาบาล สมเด็จพระยุพราช จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2522 ได้เงินบริจาครวมทั้งสิ้น เป็นเงิน 193,842,601.63 บาท จึงได้มีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มีการดำเนินการสร้างโรงพยาบาลในท้องถิ่นที่ห่างไกลและกันดาร พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการรักษาพยาบาล รวมทั้ง ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการบริหารงานโรงพยาบาลที่จัดสร้างขึ้น โดยมอบให้เป็นโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จำนวน 21 แห่ง
ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กล่าวไว้เมื่อคราประชุมสามัญประจำปี 2559 คณะกรรมการมูลนิธิฯว่า แนวทางการทำงานทศวรรษที่ 5 ของรพร. มีการตั้งเป้าหมายให้รพร.เป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุข โดยใช้ยุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ความเป็นเลิศด้านการส่งเสริมและการป้องกันโรค 2.ความเป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ 3.ความเป็นเลิศด้านบุคลากร และ4.สร้างธรรมาภิบาลในองค์กร
พร้อมกันนี้ ได้วางแผนการดำเนินงาน 10 เรื่อง ได้แก่ 1.พัฒนาและยกระดับศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้ได้ตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานสากล 2.พัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศทั้ง 4 ด้าน มีระบบติดตามคุณภาพ รพร. ภายในเครือข่ายทั้ง 21 แห่ง 3.สร้างทีมหมอครอบครัว 4.พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างต่อเนื่อง 5.จัดหาพลังงานทดแทนในโรงพยาบาล เพิ่มพื้นที่สีเขียว 6.สร้างมาตรฐานโรงพยาบาลแห่งความสุข และสร้างระบบพี่เลี้ยง 7.พัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในโรงพยาบาล 8.พัฒนาให้เป็นองค์กรนวัตกรรมตั้งเครือข่ายนวตกรรมกลุ่ม รพร. 9.พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเข้าถึงบริการ และ10.พัฒนาจิตตปัญญาในองค์กร โดยการสร้างแรงจูงใจในการใช้จิตตปัญญาในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ จะดำเนินการทั้ง 10 เรื่อง ในโรงพยาบาลสมเด็จยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน 2559
พื้นที่อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เป็น 1 ใน 21 พื้นที่ที่ได้รับเลือกให้จัดตั้ง รพร.ขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อปี 2518 และเสด็จเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2522 นพ.วัฒนา พารีศรี ผอ.รพร.ท่าบ่อ บอกว่า พื้นที่อ.ท่าบ่อ ได้รับคัดเลือกให้จัดตั้ง เนื่องจากในอดีตเป็นพื้นที่ทุรกันดารและเป็นพื้นที่สีชมพูที่มีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ จึงต้องการให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลด้อยโอกาสได้รับการรักษาพยาบาล
ระยะเริ่มต้นรพร.ท่าบ่อเปิดเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจัดเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง มีบุคลากร 661 คน มีแพทย์เฉพาะทางครอบทุกสาขาหลัก ได้แก่ ศัลยกรรม อายุรกรรม สูตินรี และวิสัญญี จำนวน 32 คน ให้บริการประชาชนในลักษณะผู้ป่วยนอก ประมาณ 2.6 แสนคนต่อปี และผู้ป่วยในราว 18,000 คนต่อปี
“รพร.ท่าบ่อได้รับรับการรับรองมาตรฐาน JCI ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลรัดับโลกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรพร.ท่าบ่อนับเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นแนวหน้าของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานJCI” นพ.วัฒนา กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
นอกเหนือจากการให้บริการรักษาพยาบาลประชาชนโดยทั่วไปแล้ว นพ.วัฒนา บอกว่า รพร.ท่าบ่อมีจุดเด่นในเรื่องการให้บริการทางศัลยกรรมหรือการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดด้วยกล่องวีดิทัศน์ ซึ่งมีการผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดีมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2537 ผ่าตัดจำนวน 10,000 ราย และเฉลี่ยผ่าตัด 800-900 รายต่อปี รวมถึง การผ่าตัดลำไส้ ต่อมไทรอยด์ ไส้เลื่อน การรักษามะเร็งท่อน้ำดีด้วยกล้องด้วยการใส่ท่อระบายเพราะผู้ป่วยจะมีท่อน้ำดีตัน และการผ่าตัดกระดูกและสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผ่าตัดข้อเข่า ข้อสะโพก อีกทั้ง มีแพทย์เฉพาะทางด้านกีฬา ที่จะรักษาและซ่อมเอ็นในข้อเข่า ข้อไหล่สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ
ขณะนี้รพร.ท่าบ่อไม่ได้ให้บริการเฉพาะประชาชนในพื้นที่อ.ท่าบ่อที่มีประมาณ 82,000 คนเท่านั้น แต่ยังมีคนไข้จากอำเภอ ได้แก่ สังคม โพธิ์ตาก ศรีเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.อุดรธานี สกลนคร นครพนม และเลย เดินทางมารับการรักษาด้วย ที่สำคัญ มีประชาชนจากสปป.ลาวข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาใช้บริการด้วย เป็นผู้ป่วยนอกราว 10,000 หมื่นรายต่อปี และผู้ป่วยใน 1,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการรักษาผ่าตัดนิ่วไต นิ่วถุงน้ำดี ท่อน้ำดี มะเร็งตับและผ่าตัดมดลูก
“แสดงให้เห็นว่ารพร.เป็นที่พึ่งของประชาชน ทำให้คนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านได้มีรพ.ที่มีคุณภาพไว้ให้บริการ ได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ช่วยร่นระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางไปยังโรงพยาบาลของประชาชนได้อย่างมาก เพราะอ.ท่าบ่ออยู่ห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย 41 กิโลเมตร” นพ.วัฒนากล่าว
เฉกเช่นเดียวกับ รพร.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2534 และพระราชทานนามอาคารว่า “อาคารอนุราชประชารักษ์”
พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผอ.รพร.สายบุรี บอกว่า อ.สายบุรีอยู่ห่างจากจ.ปัตตานี 55 กิโลเมตร ในอดีตการที่ประชาชนจะเดินทางไปรับบริการในตัวจังหวัดค่อนข้างลำบาก รพร.สายบุรีจึงจัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบดูและประชาชนครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมป้องกันโรค และฟื้นฟูสภาพร่างกาย ในอำเภอสายบุรี ประมาณ 70,000 คน และเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ดูแลประชาชนในอำเภอใกล้เคียง คือ อ.ไม้แก่น ปะนาเระ มายอ และกะพ้อ รวมประชากรราว 2 แสนคน มีแพทย์เฉพาะทางให้บริการใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ อายุรกรรม สูตินรี และวิสัญญี โดยระยะแรกเริ่มเป็นรพ.ขนาด 30 เตียง ปัจจุบันขนาด 90 เตียง
ลักษณะโรคที่ประชาชนมารับบริการตรวจรักษามากที่สุดในส่วนของผู้ป่วยใน จะเป็นการคลอดทั้งคลอดปกติและผ่าคลอด ซึ่งมีการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลในอำเภอใกล้เคียงด้วย โรคหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยมีอัตราการครองเตียงเกิน 100 % บางวันมีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 115-120 เตียง ส่วนผู้ป่วยนอกจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้อ อุจจาระร่วงและฟันผุทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีผู้มาใช้บริการเฉลี่ย 450 คนต่อวัน และมีโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล เช่น ไข้เลือดออก เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2559 มีผู้ป่วย 10 ราย
“รพร.จะได้รับการกำหนดให้จัดตั้งขึ้นในถิ่นทุรกันดารและเสี่ยงภัย การมีรพร.สายบุรี ช่วยให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการให้บริการการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีและเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่” พญ.ภัททิรา กล่าว
การดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สมดังความมุ่งปรารถนาที่ต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่ในการรักษาพยาบาลทั่วถึงเสมอกัน