“พระกริ่ง ๗ รอบ”
พระกริ่งของพระราชามหามงคลแห่งแผ่นดิน (๑)
พระกริ่ง ๗ รอบ หรือ พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ จัดสร้างในมหามงคลโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบ ของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งเสด็จฯ ออกทรงพระผนวช เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นพระกริ่งที่ทรงด้วยคุณวิเศษเป็นมงคลอย่างสูงสุด และปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียวในแผ่นดิน คือ เป็นพระกริ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงพระผนวช เสด็จฯ ทรงเททองด้วยพระองค์เอง แทน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งทรงพระประชวร ไม่สามารถทรงประกอบพิธีหลวงและพิธีเททองได้
พิธีกรรมเริ่มตั้งแต่เย็นวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ โดย พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ลงพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ไวยาวัจกร (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ถวายเทียนชนวน ที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงจุดมาแล้ว พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเทียนชนวนนั้นจุดเทียนชัยแทนพระองค์ ในพิธีหล่อพระพุทธชินสีห์ (จำลอง) เริ่มเวลาฤกษ์ชัย ๒๐.๓๖ น. พระสงฆ์ สวดภาณวารและสวดพุทธาภิเษกโลหะ ซึ่งเป็น พิธีหลวง เป็นส่วนหนึ่งของสุดยอดพิธีนี้ โดยบทสวดนี้เป็นบทสวดที่จะทำให้เกิด พระพุทธานุภาพ พระธรรมมานุภาพ และพระสังฆานุภาพ ให้สถิตมั่นคงในเนื้อโลหะที่จะนำมาหล่อในองค์พระ โดยทำพิธีภายในพระอุโบสถ จนถึงรุ่งเช้า
สำหรับโลหะที่ใช้หล่อ พระกริ่ง ๗ รอบ ล้วนเป็นโลหะที่เป็นมงคลทั้งสิ้น อาทิ เศษชิ้นส่วนพระพุทธรูปโบราณที่ชำรุด ทองเหลืองเนื้อแดง ขันลงหิน เงินบริสุทธิ์ และทองคำบริสุทธิ์ นำมาหลอมรีดเป็นแผ่นแล้วลงอักขระพระยันต์ จำนวน ๘๔ แผ่น ในครั้งนั้นได้สวดภาณวารทั้งคืน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้า
วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ เวลา ๐๗.๓๕ น. พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ศาลาหน้าพระอุโบสถ ทางทิศตะวันตก ไวยาวัจกรทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองคำลงพระยันต์อักขระ ๘๔ แผ่น ทรงเจือทองในเบ้าหล่อ คือ วางแผ่นทองคำทั้งหมดลงในเบ้าหลอมด้วยพระองค์เอง
เวลา ๐๗.๔๑ น. ทรงถือสายสิญจน์ ซึ่งโยงจากเบ้าเททองหล่อ พระกริ่ง ๗ รอบ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลพระคาถา ในการนี้ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อแทน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ด้วยพระราชหฤทัยโสมนัสยินดียิ่ง พระองค์ทรงประทับจนกระทั่งพิธีเสร็จสมบูรณ์ทุกขั้นตอน
พระกริ่ง ๗ รอบ จึงสำเร็จด้วยอำนาจแห่ง พระรัตนตรัยาธิคุณ มีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง และเต็มเปี่ยมไปด้วยพระบุญญาบารมีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงถึงพร้อมด้วยพระกำลังแห่งพระราชหฤทัยของพระองค์ ที่บริบูรณ์ด้วยศีลาจาริยวัตรอันบริสุทธิ์ เมื่อครั้งที่ทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ
รวมถึงความตั้งพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระราชปณิธานและพระราชประสงค์ของพระองค์ ที่ทรงมุ่งหวังต่อพสกนิกรของพระองค์ให้มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า บริบูรณ์พูนผล อยู่ดีกินดี แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง เป็นสิริมงคลอันสูงสุด บังเกิดเป็น พระมหากษัตริยานุภาพ สถิตเพิ่มเติมในทุกอณูโลหะของ พระกริ่ง ๗ รอบ นับเป็นพระเครื่องเพียงหนึ่งเดียวที่ได้ทรงอธิษฐานและเททองในขณะทรงพระผนวช จึงเป็น พระกริ่งกำลังแผ่นดิน ตามพระปรมาภิไธยของพระองค์ คือ “ภูมิพล” และทรงคุณค่าเป็น “พระกริ่งของพระราชา” นับเป็นมหามงคลแห่งแผ่นดินอย่างสูงสุดของเหล่าปวงชนชาวไทย
ในการสร้างหล่อพระกริ่งครั้งนี้ เคล็ดลับของการสร้างวัตถุมงคลของวัดบวรนิเวศวิหาร จะต้องประกอบพิธีตามแบบแผนที่สืบทอดกันมาโดยอิงจาก พิธีหลวง ที่ต้องนำชนวนโลหะต่างๆ ที่ใช้หล่อหลอมเป็นองค์พระ มาทำพิธี สวดภาณวาร และ สวดพุทธาภิเษก ทำให้ชนวนโลหะมีอานุภาพของคุณพระศรีรัตนตรัย และความศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่จะนำชนวนโลหะต่างๆ ไปหล่อหลอมเป็นองค์พระ การประกอบพิธีเช่นนี้ ในยุคปัจจุบันนั้นไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย เนื่องจากส่วนใหญ่จะว่าจ้างโรงงานเป็นผู้สร้าง แล้วจึงจัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้นภายหลัง เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้คนทั่วไปคุ้นเคยกับการสร้างพระในลักษณะนี้ไปแล้ว
ในการหล่อ พระกริ่ง ๗ รอบ นี้ เป็นกรรมวิธีหล่อพระแบบโบราณ โดยใช้แม่พิมพ์ปูนที่ถอดพิมพ์จากพระกริ่งต้นแบบ แล้วนำเนื้อเทียนขี้ผึ้งปั้นมาวางลงไปพิมพ์แล้วประกบอัดออกมาเป็นองค์พระ องค์พระที่เป็นเทียนขี้ผึ้งแล้ว จะนำมาตกแต่งตะเข็บข้างองค์พระ และรายละเอียดต่างๆ อีกครั้ง โดยฝีมือช่างชั้นสูง ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ ซึ่งต่างจากการหล่อพระในสมัยปัจจุบัน ที่ฉีดหุ่นเทียนในแม่พิมพ์ยาง ซึ่งได้องค์พระเหมือนต้นแบบมากกว่าแบบโบราณ ด้วยเหตุนี้ ทำให้องค์พระแต่ละหุ่นเทียนที่ออกมานั้น จะไม่เหมือนกับองค์ต้นแบบ ๑๐๐% อาจมีรายละเอียดบางอย่างติดบ้างไม่ชัดบ้าง เป็นธรรมชาติปกติของการทำงาน
จากนั้นจึงนำองค์พระที่เป็นหุ่นเทียนไปติดเข้ากับชนวนเป็นทางวิ่งของน้ำโลหะ และหุ้มด้วยดินไทยเป็นชั้นๆ ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้แรงกายแรงใจและวิริยอุตสาหะอย่างยิ่ง องค์พระที่หล่อด้วยวิธีแบบโบราณนี้ จึงมีเสน่ห์มีมนต์ขลัง แต่ละองค์จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังเช่นพระกริ่งยุคเก่าของวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นต้น (โปรดอ่านต่อ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๙)
ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจาก คุณผเลสน์ศิริ ปิติสานต์