
วธ.ชูตลาดเก่า"วังกรด"จ.พิจิตร แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น
ชุมชนตลาดเก่าวังกรด มีอายุกว่าร้อยปีนี้ มีทุนทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ อาคารบ้านเรือนเป็นเอกลักษณ์ อาหารสืบทอดแต่โบราณ เชื่อช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาตลาดเก่าย่านวังกรด และชุมชนลิเกตะพานหิน จ.พิจิตร โดยมีนายพิษณุ เสนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร นายไกรสิทธิ์ เหรียญดำรงพร นายกเทศมนตรีตำบลวังกรด วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมต้อนรับ และรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อเตรียมจัดโครงการถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมรวมถึงการสืบทอดและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดถนนสายวัฒนธรรม จำนวน 11 แห่ง เพื่อเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ให้เยาวชนและประชาชนได้มีโอกาสแสดงผลผลิตทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและในปีงบประมาณ 2560 นี้ วธ.ได้สนับสนุนส่งเสริมชุมชนที่มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมและยังรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้โดยนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่มาส่งเสริม พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน พร้อมกันนั้นยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจและโหยหาวิถีชีวิตในอดีตด้วย
สำหรับชุมชนตลาดเก่าวังกรดซึ่งมีอายุกว่าร้อยปีนี้ มีทุนทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ อาทิ บ้านหลวงประเทืองคดี คหบดีเก่าของวังกรด บ้านเก่าเล่าเรื่องที่เก็บสะสมของโบราณ เช่น เสื่อไม้ไผ่อายุร้อยกว่าปีของบรรพบุรุษที่ยังคงเก็บรักษาไว้ของตระกูลไวยาวัจมัย ศาลเจ้าพ่อ- เจ้าแม่วังกลม ศูนย์รวมจิตใจของชาวตลาดวังกรดและบุคคลภายนอกที่เลื่อมใสศรัทธา สถานีรถไฟวังกรด การตีมีดโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาววังกรด เป็นต้น
นอกจากนี้ อาคารบ้านเรือนที่เป็นอาคารไม้ซึ่งคงสภาพสมบูรณ์เป็นเอกลักษณ์ อาหารการกินที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มพริกสดโบราณผัดไทยสูตรโบราณ การดำเนินชีวิตของคนในชุมชนที่ไม่แตกต่างจากอดีต องค์ความรู้ต่างๆที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนสามารถบอกเล่าเรื่องราวแห่งตลาดเก่าวังกรดให้กับผู้มาเยือนได้ซึมซับรับรู้ถึงเรื่องราวในอดีตที่เคยรุ่งเรือง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถนำมาพัฒนาและก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้
จังหวัดพิจิตรยังมีของดีอีกหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ อาหารแปรรูป เช่น มะขามแก้วสี่รส มะม่วงกวน ขนมบัวอบ ฯลฯ โดยในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงวัฒนธรรมมีกำหนดเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และเอกชน ผลักดันชุมชนที่มีความพร้อมและทุนทางวัฒนธรรม จำนวน 10 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนและยกระดับชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ด้วย