“มีชัย” ส่งสัญญาณแนะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ
“มีชัย” ชี้ปฏิรูปการศึกษาต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน แนะทลายกำแพง ทลายแท่ง แต่ให้คิดแบบภาพรวมและวางกลไกเพื่อให้ทำงานทิศทางเดียวกัน ย้ำคกก.อิสระควรเป็นคนนอกเข้าใจ
เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม “สภาการศึกษาเสวนา OEC Forum เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าว ปาฐกถา เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” ตอนหนึ่งว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ตอนกรธ.พิจารณาบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เราพยายามหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาของประเทศ ยิ่งพัฒนายิ่งแย่ลง ซึ่งหากดูในภาพรวมพบว่าประเทศเรามีปัญหาการศึกษา ที่พยายามเลียนแบบการเรียนการสอนประเทศ ที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่สามารถพัฒนาได้อย่างสุขสงบในการดำรงชีวิต ทั้งความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การไม่สนใจใยดีกับการบังคับใช้กฎหมาย มีการแสวงหาอำนาจในทางไม่ชอบ ฯลฯ ทั้งหมดเราเชื่อว่าเกิดจากระบบการศึกษา กรธ.จึงคิดว่าจะต้องเน้นสอนเด็กตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งนักวิชาการบอกไว้แล้วว่าเด็กเกิดมามีมันสมองไม่เท่ากัน มีทั้งเก่ง ปานกลาง และอ่อน ดังนั้น ในหมวดของหน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 จึงกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12ปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้สอนเด็กให้ได้ตามสัตถุประสงค์ มีสำนึก ความรับผิด รับชอบและมีวินัย
ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ กำหนดจุดสำคัญ 2 จุด คือ 1.บังคับให้รัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน แต่การศึกษาเป็นเรื่องของการลงทุน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากภาคเอกชนและท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ2.การทำให้เด็กเป็นอะไร โดยกำหนดไว้ในวรรค4 ที่ให้การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม คนในแวดวงการศึกษารู้ดี ว่าจุดเน้นทั้ง 2 จุดไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เรายังไม่ได้ทำ ส่วนหนึ่งเพราะกลไกของเรามีการแบ่งเป็นแท่ง มีอาณาจักรของตนเอง ไม่มีใครคิดที่จะเชื่อมโยงพัฒนาเด็กในภาพรวม ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษา จึงต้องคิดแบบทลายกำแพง ทลายแท่ง ล้มกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าล้มจริงๆ แค่คิดว่าจะปฏิรูปการเรียนการสอนในประเด็นใด ตอนไหน และอย่างไร จากนั้นจึงค่อยคิดถึงหน่วยงานและการเชื่อมโยง ในแบบที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านยังจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ต้องเป็นฝ่ายปฏิบัติทำตามกลไกตามแผนการทำงานที่วางไว้
“หัวใจสำคัญที่สุดของการศึกษา อยู่ที่ครู แต่ครูที่จะคิดเรื่องการสอนและพัฒนาเด็กมีน้อย เพราะครูถูกใครก็ไม่รู้ บอกว่าจะก้าวหน้าในวิชาชีพได้ จะต้องทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งผู้ที่คิดคงนึกว่า ครูจะนำผลงานนี้ไปต่อยอดในการเรียนการสอน แต่ความจริง กลับปรากฏว่าครูทำในสิ่งที่น่าอับอาย ไปจ้างเขาทำผลงานวิชาการ แน่นอนว่ายังมีครูที่เสียสละและอุทิศเวลาให้กับเด็ก แต่ครูส่วนมากยังคงกังวลอยู่กับการทำผลงานวิชาการ ไหนจะต้องกังวลกับหน่วยงานในกำกับ วิ่งเต้นย้ายกลับภูมิลำเนา ทำให้เสียงลือ ที่การย้ายกำหนดให้จ่ายเป็นกิโลเมตรดังขึ้นทุกที กลไกที่สร้างขึ้นทำให้ครูเป็นทาส นอกจากนี้ยังเป็นหนี้ ซึ่งครูมีหนี้เช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆ แต่ที่ครูมีหนี้มากกว่าเพราะขาดวินัย”นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนมหาวิทยาลัยที่ผลิตครู ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ผลิตมากที่สุดแต่จะเน้นสอนแต่เชิงวิชาการ ซึ่งเด็กที่มาเรียนไม่ใช่หัวกะทิ อีกทั้งยังมีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในฐานะองค์กรวิชาชีพเข้าไปกำกับเรื่องหลักสูตรเพื่อให้ได้มาตรฐานชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่วิชาชีพครูแต่รวมถึงวิชาชีพอื่นๆก็เป็นในลักษณะนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยขาดอิสระไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ และถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ อีก 10 -20 ปีข้างหน้า การศึกษาก็จะถอยลงคลองไม่มีทางดีขึ้น ดังนั้น จึงกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า องค์กรวิชาชีพ สามาเข้าไปดูเรื่องมาตรบานวิชาชีพมีมีมาตรบานได้ แต่จะขัดขวางการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้
“สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดกับการปฏิรูปการศึกษา คือ สอนเด็กให้มีความรู้เบื้องต้นและสอนให้เด็กใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต การศึกษาต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ และการปฏิรูปจะต้องไม่ใช้คนในวงการศึกษาล้วน ๆ เพราะคนในวงการศึกษากับ ออกจากกรอบไม่ได้ ดังนั้นเราต้องให้คนนอกที่สนใจการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อจะได้มองทะลุ ดังนั้น กรธ. จึงกำหนดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งคณะกรรมอิสระ ขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ภายใน 2 ปีหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งประธานคณะกรรมการจะต้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่จะต้องเป็นคนนอกที่เข้าใจการศึกษา ใจกว้าง เป็นที่ยอมรับพร้อม รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งทราบว่า ศธ.ได้เริ่มทำบ้างแล้ว แต่ขอให้คิดในภาพรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่คิดเป็นแท่ง ไม่เช่นนั้นการศึกษาก็จะวงกลับไปที่เดิม การปรับโครงสร้าง คงต้องเริ่มคิดใหม่ ซึ่งศธ.จะมีซี 11 กี่คนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายเอง การรวมเป็นหนึ่งจะทำให้การศึกษาพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ส่งเสริมให้โรงเรียนเดินไปข้างหน้า ตามแนวทางที่เขาคิดเอง ไม่ใช่การบังคับบัญชาด้วยอำนาจ การสั่ง เลื่อน ปลด ย้ายทำให้ครูอยู่ใต้อาณัติคนที่ไม่รู้เรื่องการศึกษาอย่างแท้จริง “นายมีชัย กล่าว