
"พลับพลา"เปลือกทำเชือกได้
27 ส.ค. 2552
ยุคนี้ไม่ค่อยเห็นต้น "พลับพลา" หรือ "ชับพลา" ไม้พื้นเมืองของทางภาคใต้ได้บ่อยนัก ส่วนใหญ่จะปลูกไว้ตามสวนพรรณไม้ของรัฐ อาจเรียกได้ว่าเกือบสูญพันธุ์แล้ว เพราะเหตุที่เป็นต้นไม้สูงใหญ่ เนื้อไม้แข็ง ชาวบ้านจึงชอบแอบตัดนำไปเผาถ่าน
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง อยู่ในวงศ์ TILIACEAE สูงได้มากถึง 15 เมตร ลำต้นตรง เปลือกต้นสีเทาเหนียวมาก ชาวบ้านนิยมนำเปลือกไปทำเชือก
ใบ เป็นใบเดี่ยวขึ้นเรียงสลับตามกิ่ง ทรงรี กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร ผิวใบมีขนสากๆ โคนใบมน ปลายใบแหลมมีติ่งสั้นๆ ก้านใบยาว 1 ซม. ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย แต่ละใบมีเส้นแขนงใบ 4-8 คู่
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อยาวราว 5-15 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก เวลาบานมี 5 กลีบ แต่ดอกบานเต็มที่กลีบจะแยกเป็นอิสระ มีเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก
ผล ทรงกลม เท่าปลายนิ้วก้อย ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่สีดำกินได้ มีรสชาติหวานปะแล่ม ด้านในมีกากเหนียว
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง ชอบความชื้น แสงแดดปานกลาง
"นายสวีสอง"