หนุน"ม.อบ."ปฏิรูปหลักสูตรสร้าง“บุคลากรสุขภาพ” รุ่นใหม่
หนุน"ม.อบ."ปฏิรูปหลักสูตรสร้าง“บุคลากรสุขภาพ” รุ่นใหม่
สธ.หนุน วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อบ. ผนึกศสช. การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 หวังสร้างโมเดลการเรียนการสอนของบุคลากรสุขภาพรูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ม.อบ.) กล่าวว่า ระบบการเรียนการสอนดังกล่าวของไทยในทุกวันนี้ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ฉะนั้นทาง วิทยาลัยฯ จึงตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนบุคลากรด้านสุขภาพ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสถาบัน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
การเปิดเวทีสัมมนาในครั้งนี้จึงเชิญผู้รู้ บุคลากรด้านสุขภาพและสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย มาเปิดโลกทัศน์และช่วยกันระดมสมองสร้างโมเดลการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นการผลิตบุคลากรสุขภาพในแบบเชื่อมโยงทั้งระบบ ตรงกับความต้องการของตลาด รอบรู้เรื่องเวชศาสตร์ชุมชนว่าในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและสาธารณสุขอย่างไร
พร้อมหาวิธีรับมือแก้ไข และต้องสามารถคิดค้นนวัตกรรมการทำงานที่เชื่อมโยงกับสถานพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์จนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือในหน่วยแพทย์ทุรกันดาร ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ รมว.สธ. และวัตถุประสงค์เดิมของการมีคณะแพทยศาสตร์ รวมถึงสหวิชาชีพต่างๆ ด้านสุขภาพและการสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยภูมิภาค ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
“การปฏิรูปในข้างต้นต้องอาศัยระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี จึงต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ โดยทางวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนหน่วยกิตและวิชาที่ต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาและปฏิบัติให้มากขึ้น จากเดิมมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 รวมถึงการพัฒนาด้านอื่น ๆ หากทำสำเร็จคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระดับชาติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เช่น การขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข ความไม่เป็นธรรมของระบบสุขภาพ เป็นต้น” นพ.นิรันดร์ กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะพัฒนาระบบสุขภาพให้บรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จำเป็นต้องมีกำลังคนด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอต่อแผนกำลังคนด้านสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า (2560-2569) ที่ภาครัฐ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งวางยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากการปฏิรูปตั้งแต่ระบบฐานรากคือระบบการเรียนการสอน
"ยังต้องเร่งพัฒนาทีมสุขภาพขนาดเล็กอย่าง “หมอครอบครัว” ที่มาจากการบูรณาการการทำงานของกลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพเข้าไว้ด้วยกันให้เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ชุมชน และการจะดำเนินการได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลชุมชนเป็นหลัก ที่จะเปิดพื้นที่ให้นิสิตและนักศึกษาด้านสุขภาพลงไปเรียนรู้และปฏิบัติจริง ในด้านหนึ่งยังเป็นการช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลน แพทย์ พยาบาล ของโรงพยาบาลชุมชนอีกด้วย" ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว