ห้องสมุดคือโลกอีกใบ
ต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขามีผลดีฉันใด ห้องสมุดก็คือขุมทรัพย์แห่งปัญญาฉันนั้น ดังนั้นเด็กและเยาวชนที่ปัตตานี จึงต้องมีแหล่งเรียนรู้ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เทศบาลเมืองปัตตานี และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมมือกันในการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีขึ้น ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 2 มีนาคม 2560
พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี บอกเล่าถึงที่มาว่า อุทยานแห่งการเรียนรู้ปัตตานีตั้งอยู่ที่ถนนปัตตานีภิรมย์ บริเวณโรงภาพยนตร์ปัตตานีรามาเดิม ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ลักษณะอาคารคล้ายกับรูปรังผึ้งและตัวเรือกอและ อันหมายถึงการอยู่ร่วมกัน เป็นการออกแบบสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นโดยมีจุดเด่นอยู่ที่ ตัวอาคารที่มีความสูง 2 ชั้น มีพื้นที่ให้บริการทั้งสิ้น 6,476 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นอุทยานการเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ ตอนนี้
ทั้งนี้มีการจัดทำสื่อสาระท้องถิ่นของปัตตานี ที่บริการเฉพาะอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี โดยมีหนังสือนิทานท้องถิ่น สำหรับเด็กอายุ 7-9 ปี เรื่องใครผิด และ แหวนไข่นก สำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี เรื่องบ้านฉันบ้านเธอ(ปัตตานี กีตอ) ที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับความสนใจของแต่ละช่วงวัย และจัดทำขึ้นใน 3 ภาษา
ได้แก่ ไทย อังกฤษ และมลายูกลาง การเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจของคนในชุมชนที่มีรูปแบบของพหุวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นการทำงานโดยพนักงานเป็นคนในพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ยังแบ่งเป็นโซน ประกอบด้วย ห้องสมุดสำหรับเด็ก มีทั้งโซนของเล่น ห้องสมุดสำหรับเด็ก และโซนผู้ปกครอง, ห้องทีเค เธียเตอร์ โรงภาพยนตร์ 2 มิติและ 3มิติ, ห้องประชุม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้, ห้องสมุดมีชีวิต พื้นที่อ่านหนังสือแบบฟรีสไตล์, มุมกาแฟ บริการเครื่องดื่มและอาหารว่าง, ห้องมายด์รูม ห้องสำหรับ IT, ห้องศาสนา สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
ห้องสมุดคือโลกอีกใบของ กิจเจริญ โชคศรีวัฒน์ หรือน้องไนท์ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 2 วัดตานีนรสโมสร บอกว่าการมีอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นที่สาธารณะให้ความรู้ ใช้พื้นที่ในการอ่านหนังสือ ครั้งแรกที่เข้ามาภายในอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีมีความสุขกับการอ่านหนังสือที่หลากหลาย หาความรู้ต่างๆได้รอบตัว
โดยจะมาใช้บริการเวลา 16.00 น.หลังเลิกเรียน และกลับบ้าน 18.00 น.ซึ่งไม่ดึกเกินไป เพราะบ้านอยู่ห่างจากอุทยานการเรียนรู้ประมาณ 400 เมตร และยังมีความฝันที่อยากจะเป็นดีไซต์เนอร์ ซึ่งที่นี้เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือเกี่ยวกับเสื้อผ้ามากมาย
“ห้องสมุดของโรงเรียนก็มี แต่หนังสือไม่ค่อยเยอะ ที่นี้มีเยอะมากกว่า ชอบอ่านการ์ตูนผีเพราะช่วยสร้างจินตนาการให้เยอะ เพราะอ่านแล้วทำให้เราได้เข้าไปอยู่ในโลกของเขา ที่นี้มีโรงละคร มีที่ให้กินอาหาร มาที่นี้ก็มารู้จักกับเพื่อนๆที่อ่านหนังสือด้วย” ไนท์บอก
เช่นเดียวกับเด็กหญิงช่างฝันที่อนาคตอยากเป็นครู นัสรินทร์ เจ๊ะยิ หรือน้องฟาติน อายุ 8 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 5 เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี ที่ชื่นชอบมุมหนังสือนิทาน ในห้องสมุดสำหรับเด็ก และมีพื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือคล้ายรังผึ้ง มีของเล่นในลานกว้าง
ทั้งยังได้ทำความรู้จักเพื่อนต่างโรงเรียนอีกด้วย ก่อนหน้านั้นจะอ่านหนังสือที่โรงเรียน แต่ไม่มีหนังสือเยอะ และไม่พื้นสำหรับทำกิจกรรมอื่น อุทยานการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้อยากเรียนรู้สิ่งต่างๆมากขึ้น
“จะเอาสิ่งที่รู้ ไปสอบ หรือว่าไปเรียน อยากเป็นครูเพราะหนูจะเอาที่หนูเรียนรู้ไปสอนคนอื่น” ฟาตินทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น
ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร. หรือ TK Park) กล่าวว่า การจัดตั้งอุทยานแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป โดย ศอ. บต. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดสร้าง และเทศบาลเมืองปัตตานีเป็นหน่วยการหลักในการอนุเคราะห์พื้นที่สำหรับการจัดตั้งและรับผิดชอบดำเนินการให้บริการอุทยาการเรียนรู้ปัตตานี
สำหรับในส่วนของ สอร. เป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนด้านหนังสือและสื่อการเรียนรู้ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ห้องสมุดอัตโนมัติ กิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน การเรียนรู้เชิงสาธิต และด้านอื่นๆ รวมทั้งช่วยในการวางระบบบริหารเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
บุญช่วย หอมยามเย็น ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ภายใน 6 เดือนก็จะเปิดบริการสำหรับอุทยานการเรียนรู้ที่นราธิวาสเป็นพื้นที่ให้เด็ก และเยาวชนพหุวัฒนธรรมได้เข้ามาเรียนรู้ รวมถึงประชาชนทั่วไป การจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้เป็นพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้พบปะกัน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครองและเด็ก
โดยเป็นความพยายามที่จะดึงเยาวชนให้กลับมาศึกษาในบ้านเกิด เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในปัตตานีให้ดีขึ้นด้วย