นายกฯ ห่วงคะแนนโอเน็ต ม.6
นายกฯ ห่วงคะแนนโอเน็ต ม.6 เพิ่มขึ้นแค่ 2 วิชา “ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ” เตรียมนำข้อมูลสทศ.เจาะวิเคราะห์สาเหตุ เผยปีการศึกษา61สสวท.ออกข้อสอบโอเน็ตวิชาวิทย์-คณิต
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ได้ให้นโยบายว่าทั้ง 3 หน่วยงานต้องทำงานประสานกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่ผ่านมา คือ สสวท.ร่างหลักสูตร สพฐ.กำหนดตัวชี้วัด ส่วน สทศ.ในฐานะผู้จัดสอบก็ต้องไปจ้างคนภายนอกมาเป็นผู้ออกข้อสอบ ซึ่งมีโอกาสให้การออกสอบไม่ตรงกับหลักสูตรการเรียนการสอนสูง
ทั้งนี้ สสวท.จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด รวมถึงออกข้อสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ด้วย ในส่วนของตัวชี้วัดฝ่ายหลักสูตรของ สพฐ.จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียด ดังนั้น จากนี้ สสวท.และสพฐ.ต้องไปร่วมกันวิเคราะห์ตัวชี้วัดที่มีอยู่ว่าตัวชี้วัดใดเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี และตัวชี้วัดใดเหมาะกับเด็กที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องคะแนนโอเน็ต นักเรียนชั้นม.6 ปีการศึกษา 2559 ซึ่งพบว่ามีเพียง 2 วิชาที่คะแนนเพิ่มขึ้น คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างหนัก โรงเรียนในเมืองคะแนนสูง โรงเรียนเล็กที่อยู่นอกเมือง คะแนนต่ำ
“ขณะนี้เรามีข้อมูลจาก สทศ. ครบหมดแล้ว ว่าโรงเรียนใดเป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องรับการเยี่ยวยาด่วน อีกทั้งวิธีแก้จะไม่ใช่วิธีแบบปูพรม เช่น การจัดติวโอเน็ต การพัฒนาครู เป็นต้น แต่จะลงไปวิเคราะห์หาสาเหตุของโรงเรียนที่มีคะแนนต่ำ เพราะ สทศ. วิเคราะห์ให้แล้วในระดับหนึ่ง และมีการบอกล่วงหน้าว่าจะออกอะไรด้วย เพราะเมื่อเปิดทุกอย่างแล้ว ผลคะแนนยังไม่เพิ่มขึ้นก็ต้องไปดูสาเหตุอื่น เช่น ครูเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น เพื่อจะได้ฉีดยาให้ถูกโรค ไม่ตัดเสื้อตัวเดียวให้ทุกโรงเรียนอีก ปีนี้ต้องเอาข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่พูดแต่ปาก แต่ให้ชัดเจนว่าต้องการเป้าหมายอะไร ระบุเลยว่า แต่ละโรงเรียนจะต้องทำอะไรบ้าง "รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. กล่าวว่า ในระยะแรก สสวท.จะต้องไปกำหนดว่าออกอะไร สัดส่วนเท่าไร ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในเมษายน 2560 นี้ เพื่อ สทศ.จะนำขึ้นเผยแพร่เว็บไซต์ให้โรงเรียน นักเรียนได้ทราบเพื่อเตรียมตัว เพราะจะนำไปใช้ในการสอบโอเน็ตของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษา (ม.) ปีที่ 3 และม.6 ปีการศึกษา 2561