เปิดบริการ Solar Bus- EV เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ธรรมศาสตร์ เปิดบริการรถ Solar Bus และรถ EV สนองยุทธศาสตร์ SMART CITY รองรับผู้โดยสารปีละกว่า 1.8 ล้านคน ลดการปล่อยก๊าซ
ที่บริเวณหน้าอาคารโดมบริหาร ธรรมศาสตร์ รังสิต (มธ.) เปิดการให้บริการรถบัสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ( Solar Bus )และรถบัสพลังงานไฟฟ้า( EV ) ของมหาวิทยาลัย อย่างเป็นทางการ ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบในการอนุรักษ์พลังงานและมีการจัดการอันชาญฉลาด
โดยสอดแทรกค่านิยมดังกล่าวให้เป็นไลฟ์สไตล์ของประชาคมในมหาวิทยาลัย เป็นไปตามยุทธศาสตร์ SMART CITY Sustainable Campus และนโยบายการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งของ มธ.ที่ต้องการลดการใช้รถส่วนตัวในมหาวิทยาลัย ด้วยการจัดบริการรถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 30 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน และรถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า จำนวน 5 คัน ในอนาคตวางแผนที่จะเปลี่ยนรถให้บริการภายในมหาวิทยาลัย และระหว่างศูนย์ต่างๆของมหาวิทยาลัยให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าและพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทั้งหมด
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวว่า การเปิดให้บริการ ขนส่งของมหาวิทยาลัย เป็นไปในแนวทางเดียวกับนโยบายและแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของกระทรวงพลังงาน ที่ขับเคลื่อนการบริหารจัดการภาคพลังงานของประเทศให้มีความยั่งยืน
โดยที่ส่วนหนึ่งก็คือการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งการเปิดให้บริการรถบัส Solar Bus ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แปลงมาเป็นไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ถือเป็นต้นแบบที่จะเป็นแนวคิดให้สังคมได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้อย่างยั่งยืน สอดรับกับแผนของกระทรวงพลังงานที่กำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก เพื่อลดต้นทุนภายในปี 2579
นายยรรยง อัครจินดานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา กล่าวว่า มธ.มีความตระหนักและให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ SMART CITY Sustainable Campus โดยนอกจากให้บริการรถบัสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบจำนวน 1 คัน และรถบัสไฟฟ้าจำนวน 5 คันแล้ว ในส่วนของพื้นที่ ที่สำนักงานรับผิดชอบเช่นหอพักนักศึกษาและบุคลากรที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 10,000 คน
นอกจากติดตั้งแหล่งพลังงานทางเลือกแล้ว ยังสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม (Smart life in Smart City) โดยสอดแทรกค่านิยมดังกล่าวผ่านกิจกรรมต่างๆจนเกิดเป็นไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
น.ส.อัสมา หลีเยาว์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิชา TU 100 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สร้างจิตสำนึกคิดถึงส่วนรวมไม่เฉพาะเพียงปัญหาการเมือง ความเท่าเทียม สิทธิพลเมืองเท่านั้น แต่ยังสร้างสำนึกส่วนรวมด้านการใช้พลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอันเป็นการรักษาโลกของเราด้วย
ทั้งนี้ รถบัสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ( Solar Bus )จำนวน 1 คัน ที่นำมาใช้ให้บริการ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 800 คน ต่อวัน หรือ 292,000 คน/ปี และรถบัสพลังงานไฟฟ้า( EV ) 5 คันรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมดประมาณ 4,000 คนต่อวันหรือ 1,460,000 คน/ปี มีการให้บริการ 1 สาย ระยะทางไปกลับ 10 กิโลเมตร ซึ่งใน 1 ปีจะทดแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถจักรยานยนต์ของนักศึกษา , ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ เป็นจำนวนมาก
Solar Bus ที่ใช้จริงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดจากดำริ ของ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน พร้อมด้วยการสนับสนุนจากผู้อำนวยการสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬาที่มีความต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคารถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือในการออกแบบ และติดตั้งจากทีมวิศกรของบริษัทโซลาร์ตรอน เอ็นเนอร์ยี่ 3 จำกัด โดยติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1860 kWp (แผงโซล่าร์เซลล์รุ่น SP 310 วัตต์จำนวน 6 แผง ) บนหลังคารถ ชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงลงแบตเตอร์รี่
โดยการทำสอบ ได้ทำการชาร์แบตในตอนกลางคืนให้เต็ม แล้วสลับระบบมาเป็นใช้พลังงานกระแสตรงจากชุดผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ตั้งแต่ 7.00 น -18.00 น. โดยไม่ต้อง แวะชาร์จไฟฟ้าใส่แบตเตอร์รี่จากแหล่งพลังงาน (ปกติ รถนี้สามารถวิ่งได้ 1 รอบ ต่อการชาร์ไฟ 1 ครั้ง) มีโวลท์อยู่ที่ระดับ 76-77 โวลท์
ถือเป็นต้นแบบให้สังคมเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งมากขึ้น ตลอดจนเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนจากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม