
วิศวะฯยันใช้PAT3ซัดทปอ.อย่าทำเด็กสับสน
วิศวะฯ ย้ำใช้ PAT3 ความถนัดวิศวะ ไม่ใช่PAT2 ซัดทปอ.นำข้อมูลขึ้นเว็บให้ถูกๆ หวั่นทำนร.สับสน แจงคณะวิศวะ ต้องใช้ PAT1 และ PAT 3 หากไม่ใช้เด็กที่เข้ามาไม่เหมาะจะเรียนวิศวะ เตรียมสอบถามไปยังทปอ.ขอความกระจ่าง ด้าน หมอกมลพรรณ ยื่นขอช่วยเหลือจากองคมนตรี -นายก
รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะที่ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) นำเสนอข้อมูลแจกแจงรายละเอียดองค์ประกอบของแต่ละกลุ่มสาขา รวม 9 กลุ่มสาขาวิชา ซึ่งในส่วนของกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ นั้น องค์ประกอบการแอดมิชชั่นส์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 จนถึง 2556 ประกอบด้วย คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือ GPAX 10% คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต 10 %ความถนัดทั่วไป หรือGAT 20% และความถนัดวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT 70 % โดยแบ่งเป็น ความถนัดทางด้านคณิตศาสตร์ หรือPAT1 20% และPAT3 ความถนัดทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ 50 % ไม่ใช่ PAT2=40% ดั่งที่ทปอ.ให้ข้อมูล ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของคณะทำงานฯ
รศ.ดร.เสริมเกียรติ กล่าวต่อว่า ที่ไม่ใช้ PAT2 ความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากได้มีการนำข้อสอบ PAT2 มาพิจารณาแล้ว พบว่า เนื้อหาข้อสอบมีหลายวิชารวมกัน ทั้งดาราศาสตร์ ชีวะวิทยา แต่การเรียนวิศวะไม่ได้นำไปใช้ ขณะที่เนื้อหาฟิสิกส์นั้นมีน้อยมาก ทั้งๆ ที่การเรียนวิศวะ ต้องใช้ความรู้ฟิสิกส์เป็นหลัก จึงมองว่า ไม่ควรนำ PAT 2 มาคิดคะแนน แต่จะเพิ่มเติมความรู้ฟิสิกส์เข้าไปในส่วนของPAT3 เพื่อคัดเด็กที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านฟิสิกส์จริงๆ เข้าเรียนคณะวิศวะ ไม่เช่นนั้นหากสอบวัดความรู้ด้านอื่น คงได้เด็กที่เข้ามาไม่เหมาะจะเรียนวิศวะฯ
“สัดส่วนและองค์ประกอบที่สภาคณบดีคณะวิศวฯ ยืนเสนอไปยังคณะทำงานแอดมิชชั่นส์ฟอรั่ม ยังคงใช้PAT 3 50% GPAX10%, GAT20% และPAT1 20% ตามเดิม แต่ที่ไม่ใช้คือPAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้น อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ส่วนก่อนหน้านี้ที่สภาคณบดีคณะวิศวะฯ เคยส่งข้อมูลผิดพลาดไปนั้น ได้แก้ไขข้อมูลก่อนส่งไปอีกครั้งเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคณะทำงานฯ น่าจะสับสนมากกว่า ซึ่งเร็วๆ นี้ผมจะสอบถามไปยังทปอ.ว่าตกลงคณะวิศวะใช้สัดส่วนและองค์ประกอบอะไรบ้าง และข้อมูลที่นำมาเผยแพร่นั้น ถูกต้องตรงกับที่สภาคณะวิศวะต้องการหรือไม่”รศ.ดร.เสริมเกียรติ กล่าว
ด้าน พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ และประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายได้ส่งหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับระบบแอดมิชชั่นส์ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ โดยเครือข่ายฯเห็นว่า องค์ประกอบในการคัดเลือกระบบแอดมิชชั่นส์โดยใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ซึ่งกำหนดให้สอบเพียงครั้งเดียว เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก
ทั้งยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ยืนยันว่า การสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการเรียนในห้องเรียนจะเป็นการพัฒนาเด็กให้เป็นคนเก่ง ดี มีความสุข นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายยังได้ยื่นหนังสือถึงทำเนียบองคมนตรี เพื่อขอให้ยื่นมือเข้ามาช่วยดุแลแก้ไขปัญหาแอดมิชชั่นส์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทย และยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเร่งรัดให้นายกฯลงมาดูแลปัญหาแอดมิชชั่นส์ด้วยตนเอง